xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการเงินสู่วิกฤตเศรษฐกิจ บทเรียนสำคัญ...ของความไม่สมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงเวลานี้ น่าจะสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ถล่มเศรษฐกิจโลกจนเข้าสู่ภาวะถดถอยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีสัญญาณให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลดพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ซิตี้กรุ๊ป หรือค่ายรถยนต์อย่าง จีเอ็ม อย่างที่เป็นข่าวมาแล้ว...โดนประเด็นนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจนที่สุด

สำหรับในประเทศไทยเอง ข่าวการปลดพนักงานก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศว่า อาจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เนื่องจากประเทศคู่ค้าหรือคู่ส่งออก ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน...และอีกกระแลข่าวหนึ่งที่น่าจะบอกได้ชัดเชนว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย คือการเตรียมปรับประมาณการจีดีพี ของสำนักวิจัยและนักวิเคราะห์หลายๆ สำนัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี เพื่อระดมผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและการลงทุนมาอับเดทข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบชิกได้ทราบ เพื่อเตรียมตัวรับมือต่อไป...ซึ่งเนื้อหาของงานสัมมนาในครั้งนี้ ถือว่าน่าสนใจทีเดียว

สุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินส่งผลในหลายด้าน ต่อสถาบันการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจระหว่างสถาบันการเงินกับลูกค้า หรือความมั่นใจระหว่างลูกค้ากับสถาบันการเงิน และสำคัญไปกว่านั้น คือปัญหาสภาพคล่องในระบบที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ตลาดเงินและระบบการเงินขาดเงินทุน และเงินทุนหมุนเวียนในระบบ ซึ่งปัจจัยนี้เองที่จะส่งผลต่อเนี่องไปถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ

และปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี่เอง ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน เช่น การประกันเงินฝากเต็มจำนวน หรือให้รัฐค้ำประกันหนี้ที่ออกใหม่ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝากออกไปอีก 3 ปี...นอกจากนี้ การจะใช้นโยบายการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องทำพร้อมกันเพื่อให้เกิดความสมดุล จะได้ไม่เกิดปัญหาต่อไปอีก

สำหรับบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ "สุชาดา" บอกว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น บอกให้รู้ว่าเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศเล็ก ๆ หรือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศเกิดใหม่เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นกับประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ได้เช่นกัน...ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ เกิดจากความไม่สมดุล และมีการก่อตัวสะสมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบควบคุมความเสี่ยงบางส่วนทำให้เราไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้

และบทเรียนที่เกิดขึ้น ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับปรุงความรู้ความเข้าใจทั้งหมดในระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงิน เพราะปัญหามันโยงมาถึงระบบเศรษฐกิจจริงซึ่งที่ผ่านมา อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องอธิบายให้เข้าใจลึกซึ่งมากขึ้น

อีกบทเรียนที่สำคัญคือ การเปิดเสรี ไม่ได้หมายความว่าวางใจว่าจะมีทางการกำกับดูแลแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ธุรกิจต้องกลับมาดูแลตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน ยิ่งใช้ระบบเสรีมากเท่าไหร่ ข้อมูลยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น จะต้องมีระบบเตือนภัยที่เชื่อถือได้ด้วย

สำหรับบทสรุปสำหรับบทเรียนในครั้งนี้..."สุชาดา" บอกว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าการรักษาสมดุลเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมา หลายคนอาจจะไม่ชอบนโยบายของธนาคารกลาง เพราะเวลาที่เศรษฐกิจบูมเมื่อไหร่ ก็คอยเข้ามาควบคุมเพื่อลดความรุนแรงลง...แต่จากวิกฤตที่เกิดขึ้น เชื่อว่าหลายฝ่ายคงเห็นด้วย โดยเฉพาะสถาบันการเงินเอง ที่เราสั่งให้มีการกันสำรองเอาไว้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งที่เราทำดังกล่าวก็ดีกับสถานการณ์ในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยมากนัก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและสภาพคล่องในระบบ ซึ่งเราเองยังสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ เงินสำรองของสถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังสูงอยู่ถ้าเทียบกับหนี้ระยะสั้น...แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในการประชุมวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ธปท.เองก็จะมีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อปรับประมาณการณ์จีดีพีของประเทศใหม่อีกครั้ง หลังจากการส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของ IMF ด้วย

สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บอกว่า ตลาดหุ้นไทยที่มีค่า P/E อยู่ที่ 6 เท่าในปัจจุบันบัน ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มปีหน้า บริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่มีกำไรหรือไม่ก็ติดลบแต่คงไม่หนักมากนัก อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นในส่วนของตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่น่าจะลงลึกไปเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 เพราะจะเห็นว่า หลายอย่างในบ้านเรามีความผันผวนน้อยกว่า ธนาคารเองมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงความระมัดระวังมากขึ้น

"สิ่งที่ดูอยู่ตอนนี้คือ มีข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจไทยคงไม่ล้ม แต่จีดีพีอาจจะไหลลงเยอะ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักวิจัยหลายแห่งต่างก็เตรียมปรับประมาณการณ์กันใหม่ทั้งนั้น"

เขากล่าวต่อว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อการใช้จ่ายของคนในประเทศพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นบน ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ซึ่งการที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงถึง 50% แน่นอนว่ากระทบต่อการใช้จ่ายเช่นกัน ดังนั้น ในเรื่องนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการในการช่วยเหลือการว่างงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะงบประมาณที่ชัดเจน เพราะแรงงานถือว่าเป็นความสมดุลหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น