xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณ-หญิงอ้อ กับศรีธนญชัย : เนียนไม่เท่า แต่หนัก...หนากว่า

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทักษิณ-หญิงอ้อ หลังการหย่า เช่น จังหวะการข่มขู่จากต่างประเทศของทักษิณ การบินเข้ามาในจังหวะประสานพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดรัฐบาลนอมินีของหญิงอ้อ การโฟนอิน ฯลฯ เริ่มดูเหมือนว่าการหย่ากันนั้น จะไม่ค่อย “เนียน” ทำให้สงสัยว่า เป็นแบบศรีธนญชัย นิทานสำหรับเด็กไทยหรือไม่

นิทานเรื่องศรีธนญชัย ดูเป็นเรื่องของคนบาป ฉลาดแกมโกง ต่างกับเรื่องอัจฉริยะนักวิทยาศาสตร์ Six Physicists ที่เราเรียนตอนเด็ก ต่างกับอิ๊กคิวซังของญี่ปุ่นที่ฉลาดเกินเด็ก แต่ไร้พิษภัย และผิดหลักธรรมที่ว่า “ด้วยคนชอบธรรมเป็นดังแกะที่อยู่ท่ามกลางหมาป่า เหตุฉะนั้นจงฉลาดเหมือนงู และไม่มีภัยเหมือนนกพิราบ”

นั่นคือฉลาดได้ แต่ต้องไม่มีพิษภัย ซึ่งเรื่องศรีธนญชัยที่อยู่ในความทรงจำคนส่วนใหญ่ ก็จะมีหลักๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ศรีธนญชัยขอพระราชทานที่ดินเท่า “แมวดิ้นตาย” พระเจ้าแผ่นดินคิดว่าเล็กน้อยจึงโปรดให้ตามที่ขอ ศรีธนญชัยใช้ “อุบาย” เอาแมวผูกแล้วไล่ตีแมวให้วิ่งไปจนกว่าจะตาย จึงได้ที่ดินเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะสอนว่า “ไม่ดี” แต่คนอาจถือว่า นี่เป็นเรื่องทางโลก ไม่ใช่ทางธรรม เขาทำธุรกิจ ไม่ใช่พระ จึงไม่แปลก ซึ่งปัญหาคือ เป็นอุบายที่เป็นบาป เพราะเป็นการ “ฉ้อราษฎร์” และ “บังหลวง” ได้ ดังในกรณี ทักษิณ-หญิงอ้อ มีหลายกรณีตามแนวศรีธนญชัยหลายเรื่อง ดังนี้

1. คดี “โกงภาษี” ในการโอนหุ้นที่หญิงอ้อ ถือผ่าน น.ส. ดวงตา วงศ์ภักดี รวมมูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท ให้แก่นายบรรณพจน์ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งศาลตัดสินแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายขาดรายได้ 273 ล้านบาท โดยปกติในการให้หุ้นหรือให้เงินย่อมต้องเสียภาษี ชาวบ้านทำงานเหนื่อยให้แลกมาซึ่งรายได้ การรับโอนหุ้นมาง่ายๆ ย่อมต้องเสียภาษี จะอ้างว่าให้กันเคยตั้งใจจะให้เป็นของขวัญวันแต่งงาน แต่ไม่ทัน จึงยกหุ้นให้นายบรรณพจน์และบุตร! ซึ่งย่อมอ้างได้ แต่ “ไม่เนียน” เพราะเรื่องเวลาก็ไม่ใช่เป็นธรรมชาติเลย เรื่องจำนวนก็สูงถึง 738 ล้านบาท เรื่องกับเครือญาติ ได้ให้คนอื่นๆ คล้ายกันหรือไม่ แสดงว่าเป็นการตอบแทนที่ได้ทำงานให้กัน ซึ่งย่อมต้องเสียภาษี

2. คดีสัมปทาน “แค่แมวดิ้นตาย” เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 จึงต้องห้ามไม่ให้รัฐมนตรีมีหุ้น นักการเมือง ต้องเปิดทรัพย์สินอย่างโปร่งใส ห้ามมีหุ้นสัมปทาน และห้ามมีรายการที่ทำให้เกิดประโยชน์ขัดกัน กรณีนี้ความเสียหายของรัฐเป็นหลักแสนล้านบาท แต่ตามข่าวก็ได้ทำหลายสิ่งแบบศรีธนญชัย เช่น

2.1) มีการลดส่วนแบ่งรายได้รัฐสำหรับโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด ให้กิจการของตนต้องได้เปรียบเหนือคู่แข่งตลอดไป

2.2) มีการเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ ทศท เป็นภาษีสรรพสามิต และให้ ทศท เป็นผู้รับภาระ

2.3) เมื่อเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานเดิมเป็นภาษีสรรพสามิตแล้ว แสดงว่า จากเดิมสัมปทานที่ต้องคืน Network ให้ภาครัฐเท่ากับถูกยึดไว้แล้วใช่หรือไม่? การจัดการเหล่านี้ ทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มนับแสนล้านบาท

2.4) แต่ที่ “ไม่เนียน” คือ มีการ “ซุกหุ้น” ผ่านคนใกล้ชิด เช่น นายพานทองแท้รับโอนหุ้น 734 ล้านบาทในวันที่ 1 กันยายน 2543 จากพ่อแม่ แต่ทำไมก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ลูกต้องมีตั๋วสัญญาใช้เงิน 4,500 ล้านบาทให้แม่ได้ ไหนๆ หญิงอ้อกลับมาแล้ว ถ้าไม่จริงก็ออกมาปฏิเสธได้ครับ ถ้าจริงก็ช่วยบอกหน่อยว่า 4,500 ล้านบาท เป็นค่าอะไรหรือ?

2.5) จะว่าไปกรณีที่บรรณพจน์รับหุ้นที่เคยถือในนามนอมินี “ดวงตา” ก็อาจเป็นเพียงการเป็นนอมินีแทน เพราะตนต้องกู้เงินหญิงอ้อจำนวน 102,135,225 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนหุ้น SHIN เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 ทุกบาททุกสตางค์ กับเศรษฐีพันล้านบาท และเพิ่งได้รับโอนหุ้นมูลค่า 734 ล้านบาท กลับไปกู้ผู้โอนหุ้นให้อีก แม้เศษๆ135,225 บาท ก็ยังต้องกู้! โดยปกติ ถ้าขาดเงินจริงๆ ก็เอาเศษๆ หุ้นที่มีขายไปก็ได้แต่ก็ไม่ทำ และแม้นายบรรณพจน์มีเงินเข้าบัญชีหลายสิบล้านบาท ก็มิได้คืนเงินเลย 3-4 ปีด้วยเงินของตนเอง จนทยอยคืนเฉพาะเมื่อได้รับปันผลจากหุ้น SHIN มาเท่านั้น

2.6) เมื่อขายหุ้นแล้ว โอนเงินกลับไปให้ท่านซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นับพันล้านบาท ซึ่งในข่าวทั่วโลกไม่ปรากฏเลยว่า บุตรของท่าน หรือนายบรรณพจน์ เป็นผู้ซื้อ มีแต่ข่าวที่ท่านเป็นผู้ซื้อเท่านั้น แสดงว่า ที่เคยถือหุ้นไว้ตอนท่านอยู่ในตำแหน่ง ก็เป็นเพียงนอมินีแทนท่านชั่วคราวเท่านั้น

2.7) อ้างว่าโอนหุ้นแอมเพิลริชให้ลูกชายตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2543 ก็ “ไม่เนียน” เพราะ (ก) แต่ไหนแต่ไร นายพานทองแท้ก็ไม่เคยถือว่าเป็นของตนเลย เช่น ในวันที่ 9 กันยายน 2545 นายพานทองแท้ ทำรายงานโอนหุ้นให้น้อง ก็ไม่ได้นับรวมหุ้นนี้ กว่าจะเปลี่ยนการแจ้ง กลต. ก็หลังขายหุ้นให้เทมาเส็กในปี 2549 เมื่อเรื่องถูกเปิดโปงแล้ว (ข) หนังสือรับรองบริษัทแอมเพิลริช มีเงื่อนไขว่า “Any withdrawal is to be authorised by Dr. T. SHINAWATRA solely.” แสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียวในช่วงเวลาดังกล่าวก่อนปี 2548 จึงได้มีชื่อบุตรทั้งสองปรากฏเป็นผู้มีอำนาจลงนาม (ค) หากจะอ้างว่าไม่เคยทำนิติสัมพันธ์ ก็ขัดกับข้อมูลที่ได้เปิดเผยผ่านข้อมูล SHIN ในหลายปีต่อ ซึ่งหุ้นที่ถือโดยแอมเพิลริชบางปีจะรายงานที่ 329 ล้านหุ้น และบางปี 229 ล้านหุ้น ก่อนปี 2548 ดูอย่างไรก็ “ไม่เนียน”

2.8) กรณีวินมาร์ค, VAF, OGF และ ODF รัฐบาลนอมินีไม่ค่อยสนใจแก้ปัญหารัฐ เอาแต่รักษาอำนาจแก้ปัญหาตัวเอง ล่าสุดนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการฯ ได้ให้ความจริงที่เปิดโปง ท่าน และภรรยา ว่า “ส่วนการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานนั้น อัยการเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการซื้อ-ขายหุ้นด้วยตัวเองแต่ซื้อขายหุ้นผ่านกองทุนแล้ว...” แสดงว่า เป็นเจ้าของหุ้น SC ผ่านกองทุนลับจริง แต่สำนักงานอัยการสูงสุดกลับสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เอสซี แอสเสท โดยอ้างประกาศฯ กลต. ปี 2545 ซึ่งลงนามโดย ดร. สมคิด และประกาศฯ ปี 2546 โดย ร.อ.สุชาติ หวังล้มความผิดชัดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 2535 ม. 278 ซึ่งห้าม “แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง..ในแบบแสดงรายการข้อมูล..” ซึ่งวินมาร์คมีเลขบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส 121751 ก็เป็นนอมินีของท่านซึ่งถือหุ้นชินฯ เช่นกัน

เรื่อง “ที่เท่าแมวดิ้นตาย” เป็นเรื่อง “ความหนา” แต่เรื่องที่ 2 เป็นเรื่อง “หนัก” คือ ศรีธนญชัยเป็นเด็กฉลาดแกมโกง ไม่ยอมช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน โดยเฉพาะไม่ชอบเลี้ยงน้อง วันหนึ่งพ่อแม่สั่งให้ศรีธนญชัยว่า “เลี้ยงน้องให้ดี จับล้างทั้งนอกทั้งใน ล้างไส้ล้างพุงให้สะอาดนะ” ศรีธนญชัยก็ถือโอกาสเอามีดกรีดผ่าอกและท้องชำแหละเอาเครื่องในไหลเรี่ยราดออกมาล้างออกให้หมดจนน้องตายไป

น้องเป็นเด็กใสบริสุทธิ์ กลับฆ่าได้ และต่อมาก็ศรีธนญชัยก็ต้องตายรับกรรมด้วยน้องอีกคนหนึ่ง ปัญหาคือ คนเลียนแบบอาจคิดว่า ตนอาจทำได้เหนือกว่าศรีธนญชัยคือ หากมีน้องอีกคนตนก็อาจจะฆ่าอีก ซึ่งก็มีแต่จะเป็นความบาป “หนัก” มากขึ้นต่อไป

กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ การลุแก่อำนาจอาจทำให้เริ่มเกิดความไม่เป็นธรรมต่อพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ มีความพยายามกลบเกลื่อนปกปิด ด้วยการใช้สื่อของรัฐสื่อความข้างเดียว ใส่ร้ายเป็นเรื่อง “โจร” ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ และนำมาซึ่งการสูญเสียพี่น้องคนไทย ตามมาด้วยการกล่าวหาใส่ร้ายว่า ทนายสมชาย ลีนะไพจิตร ทนายมุสลิม ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็น “ทนายโจรใต้” และเมื่อมีการชุมนุมเปิดโปง ก็มักมีการใช้สื่อของรัฐกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย กลายเป็นแรงกดดันมากขึ้นจนเกิดเป็น กรณีกรือเซะและตากใบต่อมาในที่สุด

กรณีพันธมิตรฯ รัฐบาลนอมินีมีการใช้สื่อของรัฐสื่อความข้างเดียว จนเกิดแรงกดดันมากขึ้น และปกป้องตนเองมากขึ้น มีการจับคนที่อ้างว่าเป็นการ์ดพันธมิตรฯ พกระเบิดอยู่ระหว่างเดินทางข้างนอก แต่กลับไม่สามารถจับผู้ยิงระเบิด M 79 ใส่กลุ่มพันธมิตรฯ ในบริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งยิงอย่างต่อเนื่องหลายวัน ทั้งที่พื้นที่เป้าหมายก็ชัดเจน

ความไม่เป็นธรรมได้นำไปสู่การบุกเข้าสนามบิน เพื่อกดดันให้อดีตนายกฯ สมชาย แสดงความรับผิดชอบในการสั่งทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ จึงเกิดความเสียหายที่ไม่มีคนไทยสักคนอยากให้เกิดขึ้นจากการยึดสนามบินยืดเยื้อ และเศรษฐกิจเสียหาย ก็ยังนับว่าดีที่ทำให้ชาวโลกเห็นว่า ที่เคยคิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้แสดงความเห็นทางการเมืองเพื่อชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ (แต่ขออย่าให้มีอีกก็แล้วกัน)

เปรียบเทียบโดยรวมแล้ว ก็อยากให้เกิดประโยชน์เป็นดังกระจกของสังคม เพื่อให้เห็นว่า เมื่อเทียบ “ทักษิณ-หญิงอ้อ” กับ “ศรีธนญชัย” แล้ว น่าจะถือได้ว่า “เนียน” ไม่เท่า แต่ “หนัก...หนา” กว่าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น