อัยการนำ 3 พยาน ไต่สวนคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ “ทักษิณ” ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ผช.เลขาธิการ ก.ล.ต.เบิกความยัน ตรวจพบหุ้นชินคอร์ป ถือเกิน 5% เชื่อ หุ้น ใน บ.วินมาร์ค และ บ.แอมเพิลริช เป็นของ “ทักษิณ” คนเดียว คิวต่อไปนำ “สุนัย มโนมัยอุดม” ไต่สวนเกี่ยวกับ บ.เอสซีฯ
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน ไต่สวนพยานที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกผล ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และครอบครัว รวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รวม 22 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้ทรัพย์สินมาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยอัยการนำพยานไต่สวน รวม 3 ปาก ประกอบด้วย นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง และ นางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค
ขณะที่ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผช.เลขาธิการ ก.ล.ต.เบิกความเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นใน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต๊ด จำกัด ว่า จากการตรวจสอบกรณีที่มีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บจก.เอสซีฯ ก.ล.ต.พบว่า บ.วินมาร์ค ซื้อหุ้น จาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1,500 ล้านบาท โดย บ.วินมาร์ค มอบหมายให้ทรัสต์แห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกง เป็นผู้บริหารจัดการ บ.วินมาร์ค เมื่อตรวจสอบทรัสต์แห่งนี้ พบว่า ได้รับมอบหมายจากกองทุนบลูไดมอนด์ ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ให้ซื้อหุ้น ให้ บ.วินมาร์ค และการตรวจสอบบัญชีเงินค่าซื้อหุ้น พบว่า เงินค่าซื้อหุ้น 300 ล้านบาท โอนมาจากบัญชีธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของบัญชี และ บ.วินมาร์ค โดยทรัสต์บนเกาะฮ่องกงโอนเงินซื้อหุ้นอีก 1,200 ล้านบาท ให้ชินคอร์ป และหลังจากซื้อหุ้นแล้ว บ.วินมาร์ค มอบให้ธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการหุ้น ของ บ.วินมาร์ค ในตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงพบความโยงใยว่า บ.วินมาร์ค เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทรัสต์บนเกาะฮ่องกง และกองทุนบลูไดมอนด์เป็นผู้บริหาร
นางวรัชญา เบิกความอีกว่า หลังจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ เข้ามาจัดการหุ้นให้ บ.วินมาร์ค แล้วปรากฏว่า มีการถือครองหุ้นเกิน 5% ตามกฎหมายต้องรายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ ก.ล.ต.จึงสงสัยและตรวจพบว่า หุ้นที่ถือเกิน 5% นั้นเป็นหุ้น ที่ถือในนาม บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า เป็นของตนเองและขายให้ นายพานทองแท้ แล น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว จาการตรวจสอหุ้นวินมาร์ค ดังกล่าว ก.ล.ต.จึงสันนิษฐานว่า หุ้น ใน บ.วินมาร์ค และ บ.แอมเพิลริช เป็นของคนๆ เดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ
นางวรัชญา ยังเบิกความยืนยันว่า ก.ล.ต.ตรวจพบหุ้น บ.เอสซีฯ ที่ขายให้ บ.วินมาร์ค เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตั้งกองทุน 3 กองทุน คือ กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟันด์ (VAF) กองทุนโอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (OGF) และกองทุนออฟชอว์ ไดนามิค ฟันด์ (ODF) ประเทศมาเลเซีย มาถือครองหุ้นแทน บ.เอสซีฯ จึงถูกดำเนินคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่งไม่รายงานให้ ก.ล.ต.ทราบ และเป็นที่มาของการตรวจสอบจนพบว่า หุ้นชินคอร์ป ใน บ.วินมาร์ค และ บ.แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้บุตรและเครือญาติ รวมทั้งกองทุนอื่นถือหุ้นแทนระหว่างดำรงตำแหน่ง
ส่วน นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เบิกความถึงประเด็นนโยบายเกี่ยวกับการให้เงินกู้รัฐบาลพม่าดอกเบี้ยจำนวน 4,000 ล้านบาท ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือในยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เนื่องจากพม่าถูกบอยคอตในประเทศตะวันตก แต่ในส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องของผู้บริหารระดับสูงของแต่ละประเทศเป็นคนพิจารณา
ด้าน นางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีต ผอ.ฝ่ายกฎหมาย บริษัท แทค ได้เบิกความถึงต้นทุนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งก่อนและหลังการมีผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยระบุถึงความสามารถในการแก้ไขระหว่างบริษัท เอไอเอส และ บริษัท แทค ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมจากภาครัฐ
ภายหลังศาลไต่สวนพยานทั้งสามปาก อัยการโจทก์ เตรียมนำ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไต่สวนเกี่ยวกับ บ.เอสซีฯ และ นายบรรเจิด สิงคเนติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกี่ยวกับการรวจสอบการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.