xs
xsm
sm
md
lg

ขอพระองค์ทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 พ้นเหตุวิกฤตชาติ

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

บ้านเมืองกำลังเข้าสู่มิคสัญญีกลียุค อันเป็นผลของการปกครองแบบลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมาย อันเป็นการปกครองแบบเผด็จการแบบหนึ่งที่ซ่อนเร้นยากที่จะเข้าใจ แต่มันมีกำลังมหาศาล ที่สุดในการทำลายบ้านเมืองให้เสื่อมลงๆ ดุจน้ำเน่าในหนองน้ำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ. ศ. 2549 โดยความย่อ

“...ประการแรก คือการให้ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน

ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผลทั้งแก่ตนเองแก่ผู้อื่นและประเทศชาติ

ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสุจริตใน กฎกติกาและในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน

ประการที่สี่
คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำนำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงอยู่ในเหตุในผล...” พสกนิกรทั่วแผ่นดินร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ถวายความจงรักภักดี แซ่ซ้องสดุดีปลื้มปีติน้อมใจภักดิ์รู้รักสามัคคีธรรมตามที่พระองค์ตรัสสั่งขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ แก้ไขเหตุวิกฤตชาติโดยธรรม

เอกภาพหรือความรู้สามัคคีธรรม
คือสัมพันธภาพระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลาย พิจารณาได้จากสัมพันธภาพในลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. สัมพันธภาพระหว่าง นิพพานกับขันธ์ 5 ได้แก่ รูป มีธาตุ 4 มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ส่วน นาม 4 ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิตตสังขารที่ปรุงแต่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เช่น กลัว โลภ โกรธ หลง มีลักษณะแตกต่างหลากหลาย และขันธ์ 5 ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตน) แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา (เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด) รู้แจ้งตามความเป็นจริง ละอุปาทาน หรือละความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง ย่อมอิสระหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวงบรรลุสู่สันติธรรม หรือธรรมาธิปไตย เป็นเหตุให้รู้แจ้งเห็นสัมพันธภาพของกฎธรรมชาติทั้งองค์รวม

นิพพานเป็นสภาวะที่พ้น อยู่เหนือกฎไตรลักษณ์ สัมพันธภาพระหว่างนิพพานกับขันธ์ 5 หรือระหว่างอสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) กับสังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) แสดงให้เห็นว่านิพพานเป็นด้านเอกภาพ ส่วนขันธ์ 5 มีลักษณะแตกต่างหลายหลาย

2. สัมพันธภาพของกฎธรรมชาติ ระหว่างอสังขตธรรมกับสังขตธรรม (ได้แก่สิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์อันแตกต่างหลากหลาย) จะพบว่าอสังขตธรรมเป็นด้านปฐมภูมิและเป็นองค์เอกภาพ ส่วนสังขตธรรมเป็นด้านทุติยภูมิ และมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย

3. สัมพันธภาพระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ พบว่าดวงอาทิตย์เป็นด้านเอกภาพ ส่วนดาวเคราะห์เป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

4. สัมพันธภาพระหว่างพระรัตนตรัยกับพุทธศาสนิกชน ความถูกต้องคือพระรัตนตรัยเป็นด้านเอกภาพ ส่วนพุทธศาสนิกชนเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

5. สัมพันธภาพระหว่างประเทศชาติกับประชาชน ความถูกต้องคือประเทศชาติเป็นด้านเอกภาพ ส่วนประชาชนเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย

6. สัมพันธภาพระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกร ความถูกต้องคือพระมหากษัตริย์เป็นด้านเอกภาพ ส่วนพสกนิกรเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

7. สัมพันธภาพระหว่างหลักการกับวิธีการ ความถูกต้องคือหลักการเป็นด้านปฐมภูมิและเป็นด้านเอกภาพ ส่วนวิธีการเป็นด้านทุติยภูมิและเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

8. สัมพันธภาพระหว่างจุดหมายกับมรรควิธี ความถูกต้องคือจุดหมายเป็นด้านปฐมภูมิและเป็นด้านเอกภาพ ส่วนมรรควิธีเป็นด้านทุติยภูมิและเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย

9. สัมพันธภาพของระบอบการเมือง ความถูกต้ององค์ประกอบของระบอบการเมือง คือ (1) หลักการปกครอง (ระบอบ) เป็นด้านปฐมภูมิหรือเป็นด้านเอกภาพ (2) วิธีการปกครอง เป็นด้านทุติยภูมิ ได้แก่หมวดและมาตราต่างๆ และเป็นด้านแตกต่างหลากหลาย ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญ

มีข้อสังเกตว่าการจัดความสัมพันธ์ในมิติที่ 1-10 ด้านปฐมภูมิเป็นองค์เอกภาพ หรือด้านเอกภาพ ส่วนด้านทุติยภูมิมีความแตกต่างหลายหลาย ด้านทุติยภูมิจะต้องขึ้นตรงต่อด้านปฐมภูมิเสมอไป หรือด้านความแตกต่างหลากหลายจะต้องขึ้นตรงต่อด้านเอกภาพเสมอไป และเมื่อพิจารณาทั้งองค์รวม ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีลักษณะพระธรรมจักร มหัศจรรย์ยิ่งนัก

อีกนัยหนึ่ง ด้านเอกภาพจะแผ่โอบอุ้มด้านความแตกต่างหลากหลายหรือส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ส่วนด้านแตกต่างหลากหลาย ต่างก็มุ่งตรงหรือขึ้นต่อองค์เอกภาพ ดูภาพพระธรรมจักรประกอบเพื่อความเข้าใจได้ง่าย ดังนี้



สัมพันธภาพในมิติต่างๆ ดังกล่าวโดยย่อนี้ ถ้าเราดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้องโดยธรรม ก็จะก่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างก้าวหน้า มั่นคงยั่งยืน เช่น เดียวกับกฎธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานเป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว

ปัญญาอันยิ่งนี้ เมื่อกลับมาพิจารณาการจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญไทยทั้งอดีตและปัจจุบันรวม 18 ฉบับ พบว่า ไม่มีหลักการปกครองอันเป็น มีแต่ด้านวิธีการปกครองอันเป็นกฎหมายได้แก่หมวด กับ มาตราต่างๆ จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักการหรือจุดมุ่งหมาย เป็นการกระทำที่สืบทอดมิจฉาทิฐิ แนวทางผิดมาอย่างยาวนานถึง 76 ปีแล้ว ท่านจะต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องนั้น ต้องสืบสาวไปหาเหตุ การแก้ไขที่ปลายเหตุนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะเสี่ยงภัยและเสียเวลา จะเป็นปัจจัยให้เกิดความหายนะอย่างไม่รู้จบสิ้น

เอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรมจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างไร
ในระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ ทำให้ประชาชนขัดแย้งแตกความสามัคคี และหลายฝ่ายต่างเรียกร้องให้ชนในชาติสามัคคีธรรม จะเกิดขึ้นได้จะต้องมาจากฐานที่ถูกต้องเป็นธรรม ด้วยปัจจัยของระบอบการเมืองโดยธรรม สาระสำคัญคือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จะเป็นเหตุปัจจัยให้ประชาชน (1) มีเอกภาพในชาติ (2) มีเอกภาพในศาสนา (3) มีเอกภาพในพระมหากษัตริย์ (4) มีเอกทางการเมือง (5) มีเอกภาพในการอยู่ร่วมกันในสังคมทุกระดับชั้น อันเกิดจากเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง เมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องโดยธรรม จะเป็นไปตาม กฎอิทัปปจจยตา ฝ่ายกุศล ฝ่ายพัฒนา ฝ่ายเจริญก้าวหน้าโดยส่วนเดียวอันยิ่งใหญ่ ดังนี้

1) หลักธรรมาธิปไตย จะเป็นเหตุปัจจัยให้พระมหากษัตริย์ทรงธรรม

2) หลักพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ จะเป็นปัจจัยให้มีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน จะเป็นปัจจัยให้มีเสรีภาพบริบูรณ์

4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ จะเป็นปัจจัยให้มีความเสมอภาคทางโอกาส

5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส จะเป็นปัจจัยให้มีภราดรภาพ

6) หลักภราดรภาพ จะเป็นปัจจัยให้มีเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม

7) หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม จะเป็นปัจจัยให้มีดุลยภาพ

8) หลักดุลยภาพ จะเป็นปัจจัยให้มีหลักนิติธรรม

9) หลักนิติธรรม จะเป็นปัจจัยให้มีรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ ระเบียบต่างๆ และคำสั่งต่างๆ ในการปกครอง ถูกต้องเป็นไปโดยธรรม

ด้วยปัจจัยแห่งหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ทั้งเป็นปัจจัยต่อรูปการปกครองคือระบบรัฐสภา ให้มีประสิทธิภาพยิ่ง และจะเป็นปัจจัยต่างอิงอาศัยให้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ดุจจิตกับกาย ได้เบ่งบานทั่วเมืองไทยและสากลโลก และในที่สุดจะเป็นปัจจัยให้ปวงชนได้รับความยุติธรรมประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งแบบยั่งยืนสืบไป “การสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 จะเป็นเหตุปัจจัยให้มีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” หลักการปกครองอันยิ่งใหญ่นี้จะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง สู่การสรรค์สร้างสันติภาพโลกต่อไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น