xs
xsm
sm
md
lg

ยุบพรรค!! จุดจบรัฐบาล"สมชาย"!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ทางการเมืองได้ขมวดปมเข้ามาทุกขณะ โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดให้หัวหน้าพรรค หรือตัวแทนของพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกร้องจากอัยการสูงสุดให้ยุบพรรค จากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้มาแถลงปิดคดีในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดขั้นตอนการสืบพยานออกไป โดยระบุว่า ข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ในสำนวนยุบพรรคนั้น เพียงพอที่จะพิจารณาตัดสินได้แล้ว

ขั้นตอนหลังจากหัวหน้าพรรคทั้ง 3 พรรค แถลงปิดคดีแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็จะนัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งคาดว่าในขั้นตอนนี้ จะใช้เวลาไม่มากนัก และมีความเป็นไปได้ที่จะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 3 หรือวันที่ 4 ธันวาคมนี้

ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการแจก"ใบแดง" ของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรคนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมาแล้ว

ที่สำคัญคือ ในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ได้ตัดสินให้"ใบแดง" นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งลงสมัครในระบบสัดส่วนนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรค และผู้สมัครส.ส.สัดส่วนในนามพรรคด้วย

ดังนั้นโอกาสที่พรรคพลังประชาชน จะรอดพ้นจากการถูกยุบพรรค จึงมีน้อยมาก

ความจริงข้อนี้ พรรคพลังประชาชนย่อมรู้ซึ้งดี จึงได้มีการไปตั้งพรรคเพื่อไทย ไว้รองรับสมาชิกในส่วนที่เป็นส.ส. ซึ่งจะไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไว้แล้ว

สำหรับการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะตัดสิทธิ์เฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนรู้เห็น และเกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้ง หรือจะตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

ประเด็นนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ในสำนวนยุบพรรคนั้น ทางอัยการสูงสุด และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่

จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า อัยการสูงสุด และกรรมการการเลือกตั้ง จงใจเปิดช่อง"ปล่อยผี" ให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆไม่ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยยึดหลักข้อกฎหมาย และยึดตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยในอดีตแล้ว กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดจะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย

ประเด็นนี้ ทางส.ส. พรรคพลังประชาชน ที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคและเป็นส.ส.สัดส่วน ก็ได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว โดยได้ทะยอยลาออกจากการเป็นส.ส. สัดส่วน เพื่อให้มีการเลื่อนผู้สมัครที่มีคะแนนเป็นลำดับถัดไปขึ้นมาเป็นส.ส.แทน

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และเมื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จะส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปโดยปริยาย

ดังนั้น ส.ส. ของพรรคพลังประชาชน จึงได้นัดระดมพล "คนเสื้อแดง" เพื่อเตรียมยกขบวนไปชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่จะมีการตัดสินยุบพรรค ซึ่งในจุดนี้อาจจะเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลายออกไปได้ หากไม่มีผู้ที่มายับยั้งไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม หากถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องสิ้นสภาพไป พรรคร่วมรัฐบาล อันได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช จะยังคงผนึกกำลังกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คือนอมินีของพรรคพลังประชาชน ต่อไปหรือไม่ หรือจะย้ายขั้วไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ และกำหนดแนวทางในการปฏิรูปการเมืองใหม่ ซึ่งจะยังคงทำให้ระบอบประชาธิปไตย เดินหน้าต่อไปได้

หากยังเกาะกลุ่มเดิม ไม่ย้ายขั้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะคลี่คลายวิกฤติการเมืองได้ เพราะฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะยังคงชุมนุมกดดันต่อไป

ส่วนแนวทางที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะชิงยุบสภา ก่อนที่จะมีการยุบพรรคนั้น ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะมีปัญหาในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หากยังคงลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค บรรดาผู้สมัครก็จะหมดสิทธิ์ตามไปด้วย ครั้นจะไปสังกัดพรรคใหม่ ก็ไม่ทันการเสียแล้ว เนื่องจากติดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการสังกัดพรรคก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าคิดจะย้ายสมาชิกไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนเลือกตั้ง โอกาสพรรคแตก เนื่องจากกลุ่มก๊วนต่างๆ แยกตัวไปสังกัดพรรคอื่นก็มีสูงมาก

ดังนั้น อีกแนวทางที่มิอาจมองข้ามก็คือ รัฐบาลอาจจะชิงทำการปฏิวัติ รัฐประหาร ตัวเองก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ซึ่งแนวทางนี้ยังมีผลในการปลดโซ่ตรวนต่างๆ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย

แต่คำถามคือ ทหารคนใด จะเป็นหัวขบวนในการทำการปฏิวัติ รัฐประหาร เพราะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ก็ได้ตอกย้ำอยู่ตลอดเวลา ว่าจะไม่ทำการปฏิวัติ

อีกทั้งสถานการณ์ล่าสุดนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ได้แสดงปฏิกิริยาในเชิง "อารยะขัดขืน" ต่อคำสั่งของรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อยู่แล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองในสัปดาห์นี้ จึงมาถึงจุดที่ต้องมีการชิงไหว ชิงพริบกันทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

กำลังโหลดความคิดเห็น