xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐบาลเลือกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินหวังกุมเบ็ดเสร็จ-สกัดทหารยุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ว่าแสดงให้เห็นถึงสภาพที่รัฐบาลไม่สามารถปกครอง ได้อีกต่อไป เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รัฐบาลจึงเลือกวิธีให้ ผบช.น.และ ผบช.ภ.1 เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์แทน
นายคำนูณตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินมีอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ซึ่งฉบับแรก พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ นั้น ฝ่ายทหารมีอำนาจเด็ดขาด อำนาจอยู่กับฝ่ายทหาร ซึ่งสังคมเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่กฎหมายฉบับที่สอง พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลเต็มที่ เป็นเสมือนการยึดอำนาจในการสั่งการจากฝ่ายทหาร จะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นในยุคที่พรรคการเมือง มีเสียงข้างมากสูงสุด
แต่กฎหมายฉบับที่ 3 คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มีลักษณะกึ่งกลาง คือเป็นการใช้อำนาจที่ประสานกันระหว่างรัฐบาลกับเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก เพราะนายกฯ เป็น ผอ.รมน. ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และเสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการฯ กฎหมายฉบับนี้ มีกรอบการใช้อำนาจที่น่าจะเหมาะสมที่สุด คือ นอกจากจะประกาศเหตุความมั่นคง เฉพาะจุดเฉพาะเวลาตามมติ ครม.แล้ว ยังกำหนดให้ กอ.รมน.ทำแผนปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่นั้นมาก่อนด้วย แล้วโครงสร้างของ กอ.รมน.ยังมีคณะที่ปรึกษาที่มาจากภาคเอกชน โดยเฉพาะเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และนอกจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นปฏิบัติการแล้วยังกำหนดให้รายงานต่อสภาด้วย
จะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายล่าสุดที่จะน่าจะเหมาะสมกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่การที่ รัฐบาลไม่เลือกใช้กฎหมายใหม่ฉบับล่าสุดน่าจะเป็นเพราะว่า ไม่ต้องการให้กองทัพบกมีบทบาทในการรักษาความมั่นคงภายใน จึงหันไปเลือกใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาล มีอำนาจเต็มและไม่มีที่ปรึกษาที่มาจากภาคเอกชน รวมทั้งไม่ต้องรายงานต่อสภา
นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังไม่พิจารณา โครงสร้าง ของ กอ.รมน.ที่ทาง กอ.รมน.เสนอขึ้นไป ให้ครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ในการประชุมสัปดาห์ก่อน เหมือนเป็นการจงใจให้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ เหมือนจะเป็นการกีดกันฝ่ายทหาร กองทัพบก ไม่ให้เข้ามามีบทบาท ในการเข้ามารักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะ ผบ.ทบ.คนนี้ ด้านหนึ่ง แม้จะแสดงจุดยืนว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชน ไม่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตั้งให้ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ ผบ.ทบ.คนนี้ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้สมประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาลแต่ประการใด คือสลายการชุมนุม
รัฐบาลฝ่ายนายสมชายจึงไม่ยอมใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อไม่ให้ทางกองทัพมีอำนาจ หันมาใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมือนเดิมและตั้งให้นายตำรวจ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้ง 2 จุดแทน โดยทหารเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ อย่างนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในอดีต เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องประกาศฯ หมายถึงว่าสถานการณ์วิกฤตเกินกำลังที่ฝ่ายตำรวจจะรับมือได้แล้ว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในขณะนี้จึงต้องจับดูอย่างใกล้ชิดว่า ทางฝ่ายกองทัพบกจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปกับรัฐบาล เชื่อว่า ผบ.ทบ.น่าจะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) โดยด่วนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดมาตรการใหม่ว่า ในเมื่อรัฐบาลนอกจากไม่ทำตามข้อเสนอแล้วยังมีลักษณะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะการกระทำเสมือนแบ่งแยกประเทศไทยและใช้เครือข่ายของรัฐบาล ปลุกระดมมวลชนอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ซึ่งคาดว่าในการประชุม คตร.ครั้งใหม่น่าจะได้มีการพูดถึงมาตรการที่ข้าราชการทั้งหมดจะทำร่วมกัน คือ ดำเนินอารยะขัดขืนต่อรัฐบาล ตามที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยพูดไว้
ส่วนที่รัฐบาลออกคำสั่งให้อำนาจตำรวจเต็ม แต่กลับลดบทบาททหาร ให้เป็นเพียงผู้ช่วยในสถานการณ์แบบนี้เหมือนจงใจหักหน้าหรือลดอำนาจทหารหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า มองได้ว่ากองทัพก็อยู่ส่วนกองทัพ รัฐบาลก็อยู่ส่วนรัฐบาล และรัฐบาลก็จงใจที่จะไม่ใช้กองทัพ และสมมติให้ตำรวจขอความช่วยเหลือมา ก็ต้องรอดูว่า แล้วกองทัพจะมีท่าทีอย่างไรต่อการร้องขอนั้น ถ้าคาดการณ์ตามภาษาเรา กองทัพไม่น่าจะให้ความร่วมมือในกิจการใดๆ ก็ตามที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงนองเลือด
น่าสังเกตคือ แม้แต่ ผบ.ตร.เขายังไม่ใช้เลย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้วล่ะ ไม่มีรัฐบาลใดหรอกที่ ผบ.ทบ. เขาไม่เอาด้วย หรือรัฐบาลที่ไม่เอาด้วยกับ ผบ.ตร.และ ผบ.ทบ. สถานการณ์อย่างนี้ ถือว่ารัฐบาลปกครองไม่ได้แล้ว
นายคำนูณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามต้องดูกันไป ตำรวจเองก็มีข้อกำหนด ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดอยู่ ที่จะต้องใช้วิธีสลายการชุมนุมแบบทำเป็นขั้นตอน ไม่ใช่จะยิงแก๊สน้ำตาได้เลย แต่แม้จะทำตามขั้นตอนก็มีคนจำนวนมาก ก็ไม่น่าจะเป็นการสลายโดยสงบได้ อีกอย่างนี่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลพูดมาตลอดว่าจะเจรจา แต่ไม่เคยแม้แต่จะคิดส่งคนไปคุย นอกจากครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่งคนสนิทเข้าหารือกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็ไม่เคยอีกเลย ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจะใช้การเจรจาก็น่าจะมีรูปแบบที่รัฐบาลได้พยายามที่สุดก่อน ไม่ใช่ว่าปฏิบัติการตรงกันข้าม ซึ่งที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ปลุกพวกเสื้อแดงขึ้นมา แต่คนใกล้ชิดรัฐบาล ส.ส.พรรคพลังประชาชน กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น