xs
xsm
sm
md
lg

NGO เหนือรุมค้าน “ออหมัก” ออกกฎหมายติดหนวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงใหม่ – องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ต้าน “ออหมัก-พปช.” แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ชี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ออกกฎหมายติดหนวด

วันนี้ (5 ส.ค.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอคัดค้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 โดยระบุว่า ตามที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” โดยให้เพิ่มข้อความใหม่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณา ชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม"

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องดังนี้

1.ขอคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ตามข้อเสนอของนายสมัคร เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ใช้สิทธิเสรีภาพในชุมนุมทำได้ยากและถูกจำกัดสิทธิ์มากยิ่งขึ้น

2.กป.อพช.เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนที่ผ่านมา หากมีการพูดข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือ มีการวิพากษ์วิจารณ์แล้วทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็มีกฎหมายเฉพาะจัดการอยู่แล้ว เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท หรือกรณีการชุมนุมปิดกั้นทางจราจร ก็มีกฎหมายจราจรรองรับอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีการแก้ไขตามข้อเสนอของนายสมัคร ยิ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย และอาจขัดขวางการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการใช้สิทธิเสรีภาพพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้

3.กรณีพรรคพลังประชาชน ได้นำเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ...” ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ห้ามชุมนุม หรือ ตั้งเวทีบนผิวจราจร หากต้องการชุมนุมก็ต้องขออนุญาตกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ ในเขตกรุงเทพฯ โดยมีผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ ในจังหวัดอื่นๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด ประธานกรรมการยังมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม สลายการชุมนุมได้ โดยเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ใช้อำนาจในการสลายการชุมนุมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และยังกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนจัดชุมนุม และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีโทษหนักสุดจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ถือเป็นกฎหมายเผด็จการที่รัฐประหารอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

เพราะกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดการจัดตั้ง “รัฐอาชญากร” เนื่องจากได้ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถจัดตั้งกองกำลังและใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมได้ ในกรณีที่เห็นว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อรัฐ หรือมีความเห็นที่แตกต่างกันกับรัฐบาล โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย

นอกจากนี้การที่กฎหมายกำหนดให้ “คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ” ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด โดยประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีอคติต่อการชุมนุม และเป็นบุคคลที่ไม่เข้าใจในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมของประชาชนและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาดูแลโดยตรงของรัฐบาล

ดังนั้น แม้กฎหมายจะให้สิทธิแก่คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจเพื่อแก้ไขปัญหาได้

แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่มีทางใช้ดุลยพินิจได้อย่างอิสระ เพราะต้องฟังนโยบายจากรัฐส่วนกลาง หรือรัฐบาลอยู่ดี รวมทั้งการใช้เหตุผลหรือดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ก็ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกของรัฐบาลในขณะนั้นๆ ว่าเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่

ในขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ก็มีสภาพบังคับทางอาญามีโทษทั้งจำทั้งปรับแก่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่กลับไม่มีสภาพบังคับทางอาญากับคณะกรรมการฯ กรณีหากพบว่า คณะกรรมการฯ ใช้เหตุผล หรือดุลยพินิจผิดพลาด หรือขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งบัญญัติเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีความกล้าในการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะมีกฎหมายรับรอง และยิ่งจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสียสิทธิเสรีภาพหรือถูกลิดรอนสิทธิ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับกฎหมายความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือ กฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจแก่รัฐแต่ประการใด

กป.อพช.ขอยืนยันว่า สิทธิในการรวมกลุ่มและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งบางเรื่องภาคประชาชน ไม่อาจใช้กลไกอื่นในการตรวจสอบได้โดยตรง นอกจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเคลื่อนไหว อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กรของรัฐจะละเมิดมิได้

และการที่รัฐได้ออกกฎหมายเพื่อสร้างกลไกทำลายสิทธิลิดรอนเสรีภาพของบทบัญญัติดังกล่าว โดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเครื่องมือสกัดกั้นการชุมนุมตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเยี่ยงอาชญากรสามารถก่อความรุนแรง ต่อประชาชนในชาติ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐโจร

แถลงการณ์ของ กป.อพช.ยังระบุอีกว่า การชุมนุมของประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดๆ มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงกดดันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจมารับฟังปัญหา และสนองตอบเพื่อให้เกิดการแก้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ กป.อพช.ยังระบุในแถลงการณือีกว่า ความพยายามของนายสมัคร และพรรคพลังประชาชนที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มีเจตนาที่ส่อให้เห็นว่ารัฐ ต้องการสร้างปฏิกิริยาให้เกิดความขัดแย้งและความสับสนทางสังคม ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน

เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่การสร้างสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายฉบับนี้จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กป.อพช.ยืนยันว่า การรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคมเพื่อเรียกร้องให้รัฐ ลงมาแก้ไขปัญหาปากท้องความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล และการใช้สิทธิเสรีภาพพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ หัวใจของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กรหรือสถาบันใดๆ จะละเมิดมิได้ และเราจักคัดค้านการกระทำดังกล่าวถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น