“คำนูณ สิทธิสมาน” ตั้งข้อสังเกต “ชายอำมหิต” เลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นธรรมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากกว่า เพื่อกำอำนาจไว้ในมือและกันทหารไม่ให้ยุ่งเกี่ยว รวมทั้งไม่ต้องรายงานผลต่อสภา แนะจับตาท่าทีเหล่าทัพ หลังจากนี้ เชื่อ อาจผุดไม้ตายอารยะขัดขืน ไม่สังฆกรรมใดๆ กับรัฐมารอีกต่อไป บี้ซ้ำรัฐบาลไม่เอา ผบ.ทบ.-ผบ.ตร.ไม่มีทางอยู่ได้
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.20 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า แสดงให้เห็นถึงสภาพที่รัฐบาลไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รัฐบาลจึงเลือกวิธีให้ ผบช.น.และ ผบช.ภ.1 เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์แทน
นายคำนูณตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินมีอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ซึ่งฉบับแรก พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ นั้น ฝ่ายทหารมีอำนาจเด็ดขาด อำนาจอยู่กับฝ่ายทหาร ซึ่งสังคมเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่กฎหมายฉบับที่สอง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลเต็มที่ เป็นเสมือนการยึดอำนาจในการสั่งการจากฝ่ายทหาร จะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นในยุคที่พรรคการเมืองมีเสียงข้างมากสูงสุด
แต่กฎหมายฉบับที่ 3 คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มีลักษณะกึ่งกลาง คือเป็นการใช้อำนาจที่ประสานกันระหว่างรัฐบาลกับเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก เพราะนายกฯ เป็น ผอ.รมน. ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และเสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการฯ กฎหมายฉบับนี้ มีกรอบการใช้อำนาจที่น่าจะเหมาะสมที่สุด คือ นอกจากจะประกาศเหตุความมั่นคง เฉพาะจุดเฉพาะเวลาตามมติ ครม.แล้ว ยังกำหนดให้ กอ.รมน.ทำแผนปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่นั้นมาก่อนด้วย แล้วโครงสร้างของ กอ.รมน.ยังมีคณะที่ปรึกษาที่มาจากภาคเอกชน โดยเฉพาะเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และนอกจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นปฏิบัติการแล้วยังกำหนดให้รายงานต่อสภาด้วย
“จะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายล่าสุดที่จะน่าจะเหมาะสมกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่การที่รัฐบาลไม่เลือกใช้กฎหมายใหม่ฉบับล่าสุดน่าจะเป็นเพราะว่า ไม่ต้องการให้กองทัพบกมีบทบาทในการรักษาความมั่นคงภายใน จึงหันไปเลือกใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาล มีอำนาจเต็มและไม่มีที่ปรึกษาที่มาจากภาคเอกชน รวมทั้งไม่ต้องรายงานต่อสภา” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังไม่พิจารณา โครงสร้างของ กอ.รมน.ที่ทาง กอ.รมน.เสนอขึ้นไป ให้ครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ในการประชุมสัปดาห์ก่อน เหมือนเป็นการจงใจให้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ เหมือนจะเป็นการกีดกันฝ่ายทหาร กองทัพบก ไม่ให้เข้ามามีบทบาทในการเข้ามารักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะ ผบ.ทบ.คนนี้ ด้านหนึ่งแม้จะแสดงจุดยืนว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชน ไม่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตั้งให้ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ ผบ.ทบ.คนนี้ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้สมประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาลแต่ประการใด คือสลายการชุมนุม
“รัฐบาลฝ่ายนายสมชายจึงไม่ยอมใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อไม่ให้ทางกองทัพมีอำนาจ หันมาใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมือนเดิมและตั้งให้นายตำรวจ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้ง 2 จุดแทน โดยทหารเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในอดีต เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องประกาศฯ หมายถึงว่าสถานการณ์วิกฤตเกินกำลังที่ฝ่ายตำรวจจะรับมือได้แล้ว” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในขณะนี้จึงต้องจับดูอย่างใกล้ชิดว่า ทางฝ่ายกองทัพบกจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปกับรัฐบาล เชื่อว่า ผบ.ทบ.น่าจะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) โดยด่วนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดมาตรการใหม่ว่า ในเมื่อรัฐบาลนอกจากไม่ทำตามข้อเสนอแล้วยังมีลักษณะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะการกระทำเสมือนแบ่งแยกประเทศไทยและใช้เครือข่ายของรัฐบาล ปลุกระดมมวลชนอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ซึ่งคาดว่าในการประชุม คตร.ครั้งใหม่น่าจะได้มีการพูดถึงมาตรการที่ข้าราชการทั้งหมดจะทำร่วมกัน คือ ดำเนินอารยะขัดขืนต่อรัฐบาล ตามที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยพูดไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลออกคำสั่งให้อำนาจตำรวจเต็ม แต่กลับลดบทบาททหารให้เป็นเพียงผู้ช่วยในสถานการณ์แบบนี้เหมือนจงใจหักหน้าหรือลดอำนาจทหารหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า มองได้ว่ากองทัพก็อยู่ส่วนกองทัพ รัฐบาลก็อยู่ส่วนรัฐบาล และรัฐบาลก็จงใจที่จะไม่ใช้กองทัพ และสมมติให้ตำรวจขอความช่วยเหลือมา ก็ต้องรอดูว่าแล้วกองทัพจะมีท่าทีอย่างไรต่อการร้องขอนั้น ถ้าคาดการณ์ตามภาษาเรา กองทัพไม่น่าจะให้ความร่วมมือในกิจการใดๆ ก็ตามที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงนองเลือด
“น่าสังเกตคือ แม้แต่ ผบ.ตร.เขายังไม่ใช้เลย แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้วล่ะ ไม่มีรัฐบาลใดหรอกที่ ผบ.ทบ. เขาไม่เอาด้วย หรือรัฐบาลที่ไม่เอาด้วยกับ ผบ.ตร.และ ผบ.ทบ. สถานการณ์อย่างนี้ ถือว่ารัฐบาลปกครองไม่ได้แล้ว” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามต้องดูกันไป ตำรวจเองก็มีข้อกำหนดตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดอยู่ ที่จะต้องใช้วิธีสลายการชุมนุมแบบทำเป็นขั้นตอน ไม่ใช่จะยิงแก๊สน้ำตาได้เลย แต่แม้จะทำตามขั้นตอนก็มีคนจำนวนมาก ก็ไม่น่าจะเป็นการสลายโดยสงบได้ อีกอย่างนี่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลพูดมาตลอดว่าจะเจรจา แต่ไม่เคยแม้แต่จะคิดส่งคนไปคุยนอกจากครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่งคนสนิทเข้าหารือกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็ไม่เคยอีกเลย ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจะใช้การเจรจาก็น่าจะมีรูปแบบที่รัฐบาลได้พยายามที่สุดก่อน ไม่ใช่ว่าปฏิบัติการตรงกันข้าม ซึ่งที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ปลุกพวกเสื้อแดงขึ้นมา แต่คนใกล้ชิดรัฐบาล ส.ส.พรรคพลังประชาชน กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน