xs
xsm
sm
md
lg

”สมชาย”ขู่ขวางสภาขัดรธน. กร้าวไม่ย้าย-ไม่เลื่อนประชุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลเรียกฝ่ายความมั่นคงถกด่วนรับสถานการณ์การชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาของพันธมิตรฯ ยันไม่ย้าย-ไม่เลื่อนประชุม แต่ให้ “ชัย” ประเมินอีกครั้งวันนี้ ขณะเดียวกันสั่งตำรวจ-ทหารห้ามใช้อาวุธ โฆษกรัฐบาลปากเสียกล่าวหาพันธมิตรฯสะสมอาวุธเพื่อก่อเหตุร้าย ปากแข็งรัฐบาลไม่เคยทำร้ายประชาชนในเหตุการณ์ที่ผ่านมา และไม่มีวาระแก้ รธน.ในการประชุมรัฐสภา “สมชาย” ตั้ง ผบ.ทบ.คุมสถานการณ์ ขู่ใครขวางประชุมถือว่าจงใจขัด รธน. “อนุพงษ์” ย้ำไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมปฏิเสธเข้าพบ “ป๋าเปรม” เพื่อหารือเรื่องการชุมนุม “เสธ.แดง” โผล่เล่นงาน ผบ.ทบ. กล่าวหาปกป้องพันธมิตรฯ หลังเข้าพบผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ระบุ นปช.เตรียมยื่นถอดถอน “บิ๊กป๊อก” เหตุสอบเอาผิดตัวเอง ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้รัฐบาลโยนเผือกร้อนให้ “ชัย”รับสถานการณ์ แนะหารือแก้สถานการณ์ “เทพไท” เตือนขวางสิทธิชุมนุมเข้าข่ายผิด รธน.

ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว(ดอนเมือง) เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (23 พ.ย.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงวาระพิเศษเพื่อประเมินสถานการณ์หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมใหญ่ปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้มีการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งนี้ มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เสนาธิการทหารบก ฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) พล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ เสนาธิการกองทัพไทย นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผบ.ตร. พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบ.ชน. และตัวแทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

**สื่องง “ชัย”ให้สัมภาษณ์สับสน
นายชัย ชิดชอบ
กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีการมอบหมายให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุม ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นควรว่าควรจะเปลี่ยนที่ประชุมหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า “อ๋อประชุมที่สภาฯครับ”

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการนองเลือด นายชัย กล่าวขึ้นมาว่า ก็เลื่อนการประชุมไป เมื่อถามย้ำว่าสรุปยังคงมีการประชุมใช่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่มีกำหนด พร้อมหัวเราะชอบอกชอบใจจนทำให้ผู้สื่อข่าวถึงกับงงว่าตกลงจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนการประชุมสภา

ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าตกลงวันจันทร์ที่ 24 พ.ย.จะยังมีการประชุมสภาฯหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวตอบว่า ถ้าไม่ได้เลื่อน ก็ยังประชุม อย่างไรก็ตามตนจะไปแถลงที่สภา ประมาณ 08.00 น.วันนี้ (24 พ.ย.) เมื่อถามว่าจะเข้าไปในสภาได้หรือเพราะจะมีการปิดล้อม นายชัย กล่าวว่า “ผมไปกราบเขาขอเข้าไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้นัดประชุมสภาเวลาเท่าใด นายชัย กล่าวว่า ก็ประชุมปกติเวลา 09.30 น. อย่างไรก็ตามวันนี้ก็ไม่ได้มีการคุยกับฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับป้องกันและดูแลรัฐสภา และเราไม่ต้องขออะไร เพราะบ้านเมืองมีขื่อมีแป ยืนยันว่าไม่มีวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะเราจะนำไปปรึกษาหารืออีกครั้งหนึ่ง

“เขาเสนอมาว่าการเสนอชื่อกฎหมายไม่มี ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นายชัย กล่าวโดยที่ผู้สื่อข่าวต่างถามต่อว่าหมายถึงอะไรไม่เข้าใจ แต่นายชัยก็ไม่ได้อธิบาย เมื่อถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร.จะมีการพิจารณาหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้น

**รัฐบาลอ้างไม่เกี่ยวทำร้ายประชาชน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
โฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงว่า ที่ประชุมได้หารือ ถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมได้หารือกันแล้วและนายชัย ยืนยันแล้วโดยมีมติร่วมกันว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะไม่นำวาระการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นร่างของใครหรือแก้ไขในมาตราใดมาพิจารณาทั้งสิ้น ส่วนที่พันธมิตรฯระบุว่าที่ชุมนุมเพราะจะตอบโต้รัฐบาลที่ลงมือทำร้ายประชาชนที่มาชุมนม ในเหตุการณ์ต่างๆ รัฐบาลก็ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีแนวคิดที่จะดำเนินการเช่นนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลก็จะไม่ทำเช่นนั้นเด็ดขาด

“เหตุผลสองข้อที่พันธมิตรฯอ้างนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและไม่อยู่ในการดำเนินการของรัฐบาลและรัฐสภาแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์จากเปรูมาหาตนเมื่อเย็นวันที่22พ.ย.โดยฝากเรียนไปยังประชาชนว่า วาระสำคัญที่จะนำไปพิจารณาในการประชุมนั้นเป็นวาระที่ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องนำข้อสรุปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในการนำข้อตกลง บันทึกความเข้าใจและบันทึกความร่วมมือต่างๆของประเทศไทยไปใช้ลงนามกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวก6 ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนบวก6 ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล แต่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190”

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นายกฯยังขอร้องประชาชนที่จะไปชุมนุมกับพันธมิตรฯว่า หากจะชุมนุมโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถือว่ากระทำได้ แต่นายกฯขอร้องว่าขอให้เห็นแก่สถานการณ์และความเป็นไปของบ้านเมือง รวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก นายกฯจึงขอให้ยกเว้นการปิดล้อมและบุกยึดอาคารรัฐสภา เพราะเป็นเขตพระราชฐานและเป็นสถานที่ของตัวแทนประชาชน ที่ได้รับฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติ การขัดขวางไม่ให้มีการประชุมนั้น

**ยันไม่เลื่อน-ไม่ย้ายที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไปหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ยืนยันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการประชุมรัฐสภาแน่นอน โดยจะประชุมกันในวันจันทร์ที่ 24 พ.ย.เวลา 09.30 น. แต่ก็ต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง หากไม่มีเหตุวุ่นวาย การประชุมก็จะดำเนินการตามปกติ หากมีการปิดล้อมบุกยึดรัฐสภานั้น นายชัยจะใช้ดุลพินิจอีกครั้งในช่วงเช้าวันที่24พ.ย.ก่อนถึงเวลาประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อสรุปดังกล่าว

“ทำเนียบฯคือสัญลักษณ์ของฝ่ายบริหารโดนยึดกุมไว้จนถึงตอนนี้ ขอความ กรุณาให้เว้นการปิดล้อมและยึดรัฐสภาเพราะมันจะเสียหายต่อสถานการณ์ภายใน และภายนอกประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก”

**เต้าข่าวพันธมิตรฯ สะสมอาวุธ
ส่วนมาตรการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกส่วนนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าที่ประชุมกำชับและให้นโยบายเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการควบคุมสถานการณ์ ประสานกับทหารในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานให้เตรียมแผนปฏิบัติและวางกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในความสงบ และป้องกันไม่ให้ปิดล้อม บุกยึดรัฐสภา โดยตำรวจและทหารรับไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยจะไม่ใช้อาวุธและกำลังเข้าปะทะกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี โดยตำรวจเตรียมกำลังไว้แล้วและประสานรถดับเพลิงจาก กทม.ไว้ในพื้นที่สำคัญ เพราะเสนาธิการทหารบกแจ้งว่า ได้รับรายงาน ข่าวว่า อาจมีผู้ชุมนุมหรือผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลาย อาจลักลอบวางเพลิงในสถานที่ราชการสำคัญๆ และยังคาดการณ์ว่าผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ น่าจะเตรียมอาวุธไว้ด้วย และให้ตำรวจตรวจสอบพื้นที่พักอาวุธเช่นบริเวณวัดสังเวชและบ้านพระอาทิตย์ โดยจะมีการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงและป้องกันเหตุ ส่วนทหารจะมี21กองร้อยไว้คอบประสานงาน

“เมื่อมีรายงานข่าวแบบนี้ต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะมันน่าวิตกกังวลกับการเคลื่อนตัวของคนนับหมื่นและมีรายงานการเตรียมอาวุธ มันไม่มีใคร ปรารถนาให้เกิดขึ้น และทุกคนในที่ประชุมไม่อยากให้ยึดรัฐสภาและเคลื่อนขบวน ก่อเหตุวุ่นวาย ขอวิงวอนแกนนำพันธมิตรฯว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันสร้างความบอบช้ำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองมากมายแล้ว ที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้ร่วมกันผ่านงานสำคัญคืองานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ด้วยภาพความสงบและสามัคคีและยังจะมีงานสำคัญอีกคือ วันที่ 5 ธันวามหาราช จึงขอให้ ประชาชน แกนนำพันธมิตรฯและแกนนำทุกฝ่าย คำนึงถึง วาระโอกาสสำคัญและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย จึงไม่ควรบุกยึดสถาน ที่ราชการและการก่อเหตุใดๆ ที่จะเกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง”

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า จากนี้ไปจะมีการติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ในการควบคุม สถานการณ์เป็นระยะทางโทรศัพท์ โดยได้วางแผนไว้แล้วว่าใครจะติดต่อกับใคร ในเรื่องใดบ้าง หากสถานการณ์ลุกลาม ก็อาจเรียกประชุมด่วน ทั้งนี้นายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์ในประเทศเป็นระยะด้วย

**นายกฯขู่ล้อมสภาขัดรัฐธรรมนูญ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเข้าร่วมประชุมเอเปก ที่สาธารณรัฐเปรู ถึงการปิดล้อมรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 24 พ.ย.นี้ว่า รู้สึกกังวลกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นประชุมขอความเห็นชอบในเรื่องของกฎหมายที่จะต้องลงนามร่วมกับประเทศอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนธันวาคมนี้ โดยเป็นไปตามมาตรา 190 ซึ่งหากใครขัดขวางก็เป็นการจงใจขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการลงนามเรื่องการค้า ที่จะสร้างรายได้ให้ประชาชนคนไทย

ดังนั้นหากไม่สามารถพิจารณากฎหมายที่จะต้องลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนได้ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับประเทศชาติและประชาชน จึงอยากให้ทุกคนได้เข้าใจ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ส่วนจะย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานรัฐสภาจะพิจารณา

**ตั้งผบ.ทบ.ประธานติดตามสถานการณ์
ส่วนการที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุจะใช้กำลัง และอาวุธ ในการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่มีการใช้อาวุธและกำลังเช่นกันนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้มาถกเถียงกันว่าใครเป็นคน ทำร้ายหรือป้องกันตัว เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้วว่า ไม่ให้ใช้กำลังและทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ แต่ขอให้ผู้ชุมนุมอย่าสร้างความวุ่นวาย ซึ่งตนเองไม่ปรารถนาให้เกิดความ รุนแรง และขอร้องทุกฝ่ายไม่ควรใช้ความรุนแรงเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

นายสมชาย กล่าวว่าได้มีการติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย โดยได้พูดคุย กับผู้เกี่ยวข้อง และได้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน แต่ไม่ได้มีหน้าที่ ปราบปรามใคร เป็นเพียงการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ที่จะคอยให้คำแนะนำต่าง ๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจหากทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็ต้องรับผิดภายใต้กรอบของกฎหมายเช่นเดียวกัน

**อนุพงษ์ย้ำไม่ใช่ความรุนแรงผู้ชุมนุม
พล.อ.อนุพงษ์ ่เผ่าจินดา
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ ถึงการ เคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯว่า ไม่มี ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับกลุ่มพันธมิตรฯ

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยการควบคุม สถานการณ์นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะตนอยู่ในคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ (คตร.) อยู่แล้ว ซึ่งทุกหน่วยใช้อำนาจตามปกติ หน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่ได้มีอำนาจพิเศษอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทัพไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับประชาชนใช้หรือไม่ ผบ.ทบ. กล่าวว่า ทั้งทหารและตำรวจจะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมจะเรียบร้อย และผู้ชุมนุมคงจะไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้พล.อ.อนุพงษ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่ว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะยึดลานพระรูปแล้วทหารจะดูแลอย่างไร โดยหันมามองหน้าผู้สื่อข่าวและรีบขึ้นรถไปทันที

ส่วนที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเข้ารายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่นัดชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ในวันที่ 24 พ.ย.นั้น พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

**เสธ.แดงปูดนปช.ยื่นฟันอนุพงษ์
พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล
ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนหลายส่วนเริ่มมีความกังขาต่อ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่ส่งกำลังสารวัตรทหารจาก 3 เหล่าทัพ ไปคุ้มครองพันธมิตรฯจนทำให้ พันธมิตรฯได้ใจเริ่มกลับมายึดถนนราชดำเนินได้อีก ทั้งๆ ที่ได้เปิดถนนไปแล้วหลังจากถูก ระเบิด M 79 พี่เอ็ม หลายอย่างที่ ผบ.ทบ.ทำขัดความรู้สึกหลายๆ คนที่ดูเหมือนจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือพันธมิตรฯ

พล.ต.ขัตติยะ กล่าวด้วยว่า ตนทราบข่าวมาว่าขณะนี้ นปก. และ นปช. เตรียมข้อมูลในการยื่นถอดถอน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในวันอังคารที่ 25 พ.ย.ต่อประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 4 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ใน 4 ข้อหา ด้วยกันคือ 1.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาหลังจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ผบ.ทบ.ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย 2.ส่งกำลังสารวัตรทหารเข้าไปคุ้มครองพันธมิตรฯ 3.กลั่นแกล้ง ไม่ยุติธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และรู้เห็นเป็นใจต่อพันธมิตรฯ 4.ข่มขู่นายกรัฐมนตรีทางโทรทัศน์ หรือการปฏิวัติเงียบ

“ผมในฐานะกระจกสะท้อนสิ่งที่เห็น และก็พยายามบอกเขาแล้วว่าอย่าทำ ผบ.ทบ.เลย ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งเป็นเดือด เป็นร้อนแทนนาย แต่ไม่รู้พวก ฝ่ายเสนาธิการ นายทหารคนสนิท มัวไปทำอะไรอยู่ ปล่อยให้ พันธมิตรฯด่า ว่ากล่าวต่อนายว่า ผบ.ทบ.ทุจริต ขี้โกง รับค่าคอมมิชั่นจากการจัดซื้อรถหุ้มเกราะยูเครน รับเงินจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในการส่งบุตรสาวเรียนต่อประเทศอังกฤษ คนรอบข้าง ผบ.ทบ.กลับไม่ได้ยิน แต่ผมได้ยินจึงต้องชนแทนผบ.ทบ.”

**โวทำเพื่อผบ.ทบ.แต่มาสอบว่าทำผิด
พล.ต.ขัตติยะ กล่าวว่าหลายสิ่งที่ทำไปก็เพื่อศักดิ์ศรีของกองทัพบก แต่กลับมาสรุปผลการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนด้านวินัยทหารว่าตนมีความผิด ถือว่าไม่ถูกต้องตนจะขอยื่นความเป็นธรรมต่อ พล.อ.อนุพงษ์ และจะไม่เซ็นต์รับทราบข้อกล่าวหา

“ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรได้ถอยออกจากราชดำเนินไปแล้ว แต่เมื่อวันก่อน ผบ.ทบ.ไปพบผู้ใหญ่คนหนึ่ง และ มีการนำทหารหลายพันออกมาปกป้องพันธมิตรฯ จนทำให้รัฐอิสระจากทำเนียบฯ ออกมายึดทำเนียบฯได้อีก นำไปสู่ข่าวลือว่าทหารจะออกมาปฏิวัติ ซึ่งหาก ผบ.ทบ.ทำเช่นนั้นก็ต้องเสร็จพวก นปช. ที่จะออกมาต่อต้านอย่างถึงที่สุด”

**อภิสิทธิ์แนะชัยหารือรัฐบาลแก้ปัญหา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมอาเซียนในวันที่ 24 พ.ย. ที่พันธมิตรฯ อาจจะมาปิดล้อมรัฐสภาว่า รู้สึกหนักใจกับสถานการณ์ขณะนี้ แต่ก็ได้ ให้คำแนะนำกับรัฐบาลไปหลายครั้งแล้ว ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โทรศัพท์มาขอคำแนะนำ ซึ่งตนก็เรียนไปว่า เรามีหน้าที่ ทำให้บ้านเมืองสงบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำหน้าที่ในการประชุมสภาเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอาเซียน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ทัน

“เรื่องนี้รัฐสภา ไม่ใช่คู่กรณี แต่คู่กรณีคือรัฐบาล เพราะฉะนั้นหากต้องการ หาทางออก ประธานชัย คงต้องคุยกับรัฐบาล เพราะหากทำโดยลำพังคงไม่สามารถ คลี่คลายปัญหาได้ ส่วนเรื่องการย้ายวันและสถานที่ก็คงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เช่นกัน เรื่องนี้รัฐบาลและประธานรัฐสภาต้องคุยกัน และหากประสงค์ให้ฝ่ายค้านเข้าร่วมก็ยินดี”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรโยนภาระความรับผิดชอบให้นายชัย เพียงคนเดียว แต่ควรเข้าไปเจรจากับพันธมิตรฯด้วยตนเอง รวมทั้งไม่เข้าใจว่ารัฐบาล และรัฐสภามีการประสานงานกันอย่างไร เพราะการประชุมเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการลงนามอาเซียนในวันนี้ (24 ) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กลับไม่มีใคร อยู่ชี้แจงต่อสภา และกลับไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพิกเฉยต่อหน้าที่ของตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากในการประชุมร่วมรัฐสภามีการหยิกยกร่างคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) นั้น พรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าทีอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนจะแสดงท่าทีอย่างไรนั้นไม่ขอบอกล่วงหน้า ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเหมือนเดิมคือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้

**รัฐบาลกลับกลอกพันธมิตรฯจึงไม่เชื่อถือ

นายเทพไท เสนพงษ์
ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการประชุมสภาอย่างแน่นอนไม่อยากจะให้รัฐบาลดึงดันที่จะเปิดประชุมให้ได้ โดยไม่คำนึกถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในการปิดล้อมของกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐสภาน่าจะหาแนวทางป้องกันมากกว่าการจะมาแก้ปัญหาภายหลัง ไม่อยากจะให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกรณีวันที่7 ต.ค. ที่รัฐบาลจะทำทุกอย่างเพื่อเปิดสภาให้ได้โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าในใจจะยืนยันว่าจะไม่มีการหยิบยกเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาพิจารณาก็ตาม แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้ประกาศว่าไม่เชื่อคำยืนยันของประธานสภา เพราะประชาชนขาดความ เชื่อและเชื่อมั่นของผู้นำที่พูดกลับไปมาตลอดเวลา จนมีพฤติกรรมเป็นเด็กเลี้ยงแกะ

นายเทพไท กล่าวว่าหากประธานสภายืนยันว่าจะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ตนอยากถามว่าทำไมมาบรรจุ เรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ คพปร.เป็นวาระแรก ซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะไม่มีสมาชิกของรัฐบาลคนใดหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพราะที่ผ่านมาประธานสภา อาจจะยืนยันว่าไม่นำขึ้นมาพิจารณา แต่ประธานวิปรัฐบาล บอกว่ามีมติที่จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน โดยได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส. และส.ว. ครบแล้ว แต่มากลับลำในภายหลัง รวมไปถึงนายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับคพปร. ที่เสนอโดยประชาชนมาพิจารณาด้วย

“เมื่อคนในฝ่ายรัฐบาลมีความคิดที่แตกต่างกันจะให้ประชาชนเชื่อถือ ได้อย่างไร ไม่อยากให้คนในรัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรมกลับกลอกเหมือนลิงหลอกเจ้า และผู้บริหารประเทศตั้งแต่นายกฯจนถึงประมุขสภานิติบัญญัติล้มเหลวในความเชื่อถือ จากประชาชน วันนี้ฝ่ายรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศควรจะหามาตรการ ป้องกันความรุนแรงมากกว่ามายืนกระต่ายขาเดียวว่าจะเปิดสภาให้ได้”

**เตือนขัดขวางการชุมนุมถือว่าขัดรธน.
ส่วนที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในลักษณะข่มขู่กลุ่มพันธมิตรว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในวันนี้อาจจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ก็อยากจะให้กลับไปดูในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญว่าผิดมาตราใด เพราะการชุมนุม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 63 มีการรองรับอย่างชัดเจน การชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิที่สากลทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นการ แสดงออกขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การขัดขวางการชุมนุม ของนายกรัฐมนตรีต่างหากที่อาจจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญได้

**แฉรัฐบาลสร้างข่าวใส่ร้ายพันธมิตรฯ
นอกจากนี้การออกมาให้ข่าวโดยกล่าวหาว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ขนอาวุธ เพื่อมาสร้างสถานการณ์ป่วนกันเองเพื่อให้เกิดความรุนแรง ตนไม่อยากจะให้รัฐบาลสร้างข่าวในลักษณะใส่ร้าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คนในฝ่ายรัฐบาลประโคมข่าว เรื่องนี้มาโดยตลอดว่ามีการขนอาวุธสงครามและจะมีความรุนแรงหลังงานพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพแล้ว ซึ่งเป็นการให้ร้ายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นฝีมือของกลุ่มพันธมิตรเอง ที่ผ่านมาเงื่อนไขความขัดแย้งทั้งหมดเกิดจากคนของรัฐบาลเป็นคนทำแทบทั้งสิ้น จะให้กลุ่มพันธมิตรฯ อยู่เฉยได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลรุกไล่กลุ่มพันธมิตรฯมาโดยตลอด

“หากจะสั่งให้กลุ่มพันธมิตรฯหยุดความเคลื่อนไหว รัฐบาลก็ควร สั่งคนของตัวเองให้หยุดกระทำกับพวกเขาจะง่ายกว่า วันนี้รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่7 ต.ค. จนถึงวันนี้ ที่มีการใช้อาวุธสงครามถล่มกลุ่ม ผู้ชุมนุมมาโดยตลอดได้ดำเนินการไปถึงไหน ได้จับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ และรัฐบาลจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร อยากให้รัฐบาลหยุดราดน้ำมันเข้ากองไฟ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือฝ่ายใดก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้บริหารประเทศจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้หรือไม่ นายเทพไทกล่าวว่าพรรคจะพิจารณาสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีความ รุนแรงหรือมีการเผชิญหน้ามากน้อยเพียงใด และการเข้าร่วมการประชุมส.ส.จะสร้าง เงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ เพราะพรรคไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและการเผชิญหน้าของคนในชาติอย่างแน่นอน แต่ถ้าสถานการณ์เป็นปกติในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาพวกตนก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่ในสภา

**ปิดล้อม”เทพเทือก”เป็นคนส่วนน้อย
นายเทพไทยังกล่าวถึงกรณีที่มีม็อบเสื้อแดงไปปิดล้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า เป็นพฤติกรรมของคนส่วนน้อย ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับ จ.ชียงใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเดินทางไป จ.เชียงใหม่ของ นายสุเทพเป็นภารกิจส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการไปทำหน้าที่ในฐานะการทำส.ส. แต่อย่างใด จึงไม่น่าจะมีการขัดขวาง และเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มพันธมิตรฯที่ไปขัดขวาง หรือปิดล้อมรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ เพราะตรงนั่นเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐของประชาชน เพื่อไม่ให้คนของรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป นายสุเทพ มีฐานะเป็นส.ส.ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นคนใช้อำนาจรัฐ จึงไม่เข้าใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไปขัดขวางนายสุเทพในฐานะประชาชนคนหนึ่งได้อย่างไร

นายเทพไทกล่าวว่า ตนไม่อยากเห็นพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม อยากจะเรียกร้องแกนนำที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้ให้หยุดสร้างความแตกแตกให้เกิดขึ้นในชาติ และสำหรับ จ.เชียงใหม่ก็มีพฤติกรรมลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว และเชื่อว่าเป็นฝีมือของคนกลุ่มเดียวกันและคนส่วนน้อย ที่มาทำลายชื่อเสียงของคนเชียงใหม่ทั้งหมดที่มีภาพพจน์ที่ดีงามมาโดยตลอด

**ประสารชี้อาจไม่มีการประชุมรัฐสภา
นาย ประสาร มฤคพิทักษ์
ส..ว. สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่าในวันที่ 24 พ.ย. นี้คาดว่าจะไม่มีการประชุม เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาปิดล้อมจะเข้าประชุมได้อย่างไร ถ้าเปลี่ยนสถานที่ในการประชุมสภาฯคงลำบาก เพราะจะต้องติดต่อสถานที่นานกว่า 2 อาทิตย์ นอกจากนี้ยังจะมีปัญหาทางเทคนิค อย่างมาก เพราะการประชุมจะต้องมีการลงมติ จะให้มายกมือกันแล้วนับองค์ประชุมคงไม่ไหว

นายประสาร กล่าวว่า ถึงแม้ว่านายกฯหรือประธานสภา บอกว่าจะไม่ให้มีการ แก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะหากในการประชุม ถ้าส.ส.พรรคพลังประชน เสนอให้พิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีสมาชิกทั้ง ส.ส. และส.ว.ยกมือเห็นด้วย ก็สามารถนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาได้ เนื่องจากเรื่องนี้คาอยู่ในวาระอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะนำหยิบยกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้

"ผมคิดว่าใจของประธานรัฐสภา ไม่อยากจะบรรจุวาระนี้ไว้ เพราะกลัว ถ้าหากถอนวาระนี้ได้คงอยากถอน"

นายประสาร กล่าวว่า ตนคิดว่าในคืนนี้ ทางประธานสภาฯ น่าจะแจ้ง สมาชิกทั้ง ส.ส.และส.ว.ว่าให้เลื่อนการประชุมสภาฯออกไปก่อน ถ้าหากจะประชุมต่อรัฐบาล ก็สามารถเรียกประชุมวิสามัญได้ เพราะการเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ถึง 21 ม.ค.2552

**เชื่อหากประชุมรัฐสภามีแก้รธน.แน่
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กล่าวว่าหลังจากเวลา 16.00 น.วันนี้ (23 พ.ย.) กลุ่ม 40 ส.ว.บางส่วนจะหารือและประเมินสถานการณ์ว่าในวันพรุ่งนี้(24 พ.ย.)จะมีการประชุมหรือไม่ และถ้ามีการประชุมแน่นอนรัฐสภาจะต้องพิจารณา เรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ถ้าหากที่ประชุมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา กลุ่ม 40 ส.ว.จะประท้วงในที่ประชุมแน่นอน

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯในวันพรุ่งนี้(24 พ.ย.)นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาน่าจะเลื่อนการประชุมหรือย้ายที่ประชุมรัฐสภาฯ หรือแม้หากย้ายที่ประชุมไปที่หอประชุมกองทัพบกก็ได้ไม่เห็นน่าจะมีปัญหา เพราะท่านเป็น ส.ส.ตั้งหลายสมัยน่าจะทราบดีว่าควรจะทำอย่างไร แต่ตนเห็นว่าถ้าเลื่อน การประชุมก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะที่ผ่านมาที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่สามารถพิจารณากฎหมาย ใดออกมาได้เลย

“ผมอยากให้ประธานรัฐสภาฯ รับผิดชอบหากตัดสินใจว่าจะใช้สภาฯเป็นที่ประชุมต่อไป เพราะประธานวุฒิสภาฯก็หารือแล้วว่าให้เลื่อนหรือย้ายที่ประชุม ก็ดูแล้วกันว่าท่านชัย จะฟังเสียงของสมาชิกหรือไม่”

นายสมชาย กล่าวว่า ในวันนี้ถ้าหากในการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น พล.อ. อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.จะต้องออกมา โดยการประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ หรืออาจใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในก็ได้ ถ้าใช้แนวทางนี้ ตนเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงแน่นอน

**เรืองไกรขวางเต็มที่ถ้าแก้รธน.
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ส.ว. สรรหา กล่าวว่า ส่วนตัวจะร่วมประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ย. แน่นอน และหากมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตนเองจะอภิปรายอย่างเต็มที่และเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เสนอต้องตอบให้ได้ว่าเสนอเข้ามาทำไม โดยเฉพาะหากพิจารณาเหตุผลที่ระบุว่าต้องการให้เหตุการณ์บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบ ในช่วง 19 ก.ย. 2549 ถามว่าการย้อนกลับไปแบบนี้หมายถึงการที่จะต้องคืนเงิน จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วยหรือไม่ อยากถามว่ากลัวอะไรกับกระบวนการยุติธรรมถ้าไม่ได้ทำผิดจริง

“การแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กลับประเทศไทยอีกครั้งเป็นสิ่งที่สมควร หรือไม่ จะเอาต้นไม้พิษกลับมาทำไม หลักการและเหตุผลตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเจตนารมณ์ที่ระบุว่าต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในบ้านเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนๆ เดียวและพวกพ้องคงไม่สามารถ ทำให้บ้านเมืองสงบได้"

**ไม่เชื่อคน7หมื่นจะรู้เนื้อหารัฐธรรมนูญ
นายเรืองไกร กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญของ คปพร.ที่ประชาชน 7 หมื่นคนลงชื่อมานั้น อยากถามว่าได้ศึกษาข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ที่เสนอเข้ามาในลักษณะนี้พวกเขารู้รายละเอียดหรือเปล่า โดยควรมีการพิสูจน์ด้วยการถามทีละคนไปว่าท่านรู้หรือไม่ว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อประสงค์อะไร กระทบต่อสถาบันสูงสุดของชาติขนาดไหน อีกทั้ง คปพร.เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาถูกต้องจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องตอบคำถามให้ได้

“ดูๆไปแล้วเหมือนกับมีคนยกร่างไว้ให้แล้วใช้ชื่อ 7 หมื่นคนแนบเข้ามา ทำแบบนี้เจตนาตบตาสมาชิกรัฐสภาหรือเปล่า และผมถามว่าสมาชิกทั้ง 630 คนจะยอมให้มีการใช้กระบวนการแบบนี้หรือเปล่า ผมหวังว่าเพื่อนสมาชิกทุกคนก็กินข้าว มีความรู้ คงไม่มีใครถูกจูงจมูกง่ายๆและหวังว่าทุกคนจะทำตามปฏิญาณตนไว้”

**หนุนไล่สมาชิกรัฐสภาที่ไม่ทำหน้าที่
นายเรืองไกร กล่าวว่า หากในวันที่ 24 พ.ย. ถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถ ทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนให้ประชาชนไว้วางใจได้ ก็ไม่แปลกที่ประชาชนจะเข้ามาขัดขวางไม่ให้ท่านทำหน้าที่และมาทวงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของปวงชนตั้งแต่ต้น ซึ่งคนที่มาเรียกร้องสิทธิ์ก็คงจะมีเป็นหมื่นเป็นแสนและไม่น้อยกว่า 7 หมื่นแน่นอน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาควรจะรับผิดชอบต่อเสียงเหล่านี้ด้วย และควรคิดด้วยว่าท่านกำลังทำอะไร กำลังเป็นเครื่องมือของใครอยู่หรือไม่ ไม่ว่ามันคนนั้นจะอยู่ในหรือต่างประเทศก็ตาม

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เสนอให้มีการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้จะสร้างความแตกแยกให้กับสังคมอย่างหนัก เพราะประชาชนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมีความหลากหลายและได้นับถือศาสนาต่างๆ โดยเสรี ตั้งแต่แรกเกิดไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม และศาสนาอื่นๆ ถามว่าการแบ่งแยก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะทำให้ประชาชนในศาสนาอื่นๆอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกันได้อย่างไร”นายเรืองไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น