xs
xsm
sm
md
lg

"ซูเปอร์เค" เลือกข้างพันธมิตรฯ หนุนกำจัดคนโกงแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษม จาติกวณิช หรือ “ซูเปอร์เค” บุรุษแกร่งวัย 85 ปี ผู้มีบทบาทในแวดวงเศรษฐกิจ การเมือง ผ่านร้อน ผ่านหนาว มายาวนาน ลุกขึ้นประกาศ “เลือกข้าง” ในชั่วโมงที่ “ทักษิณ” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้กลายเป็นอาชญากรข้ามชาติ โฟนอินปลุกระดมมวลชน ส่งสัญญาณทวงอำนาจ จวบจ้วงสถาบันกษัตริย์ และโจมตีสถาบันตุลาการ รวมถึงการเรียกร้องสมานฉันท์ของกลุ่มสานสันติที่คิดตื้น ผิดกาละเทศะ

ในการให้สัมภาษณ์ พูดคุย กับ “ผู้จัดการรายวัน” ในตอนเช้าวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา “เกษม” อดีตหัวหน้า “กลุ่มดุสิต 99” ที่ทรงอิทธิพลในสมัชชาแห่งชาติ หรือ “สภาสนามม้า” ซึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เมื่อปี 2517 อธิบายให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นต้องเลือกข้างในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอันตราย และมองให้ทะลุถึงมูลเหตุอันเป็นต้นตอของปัญหาแล้วร่วมมือกันล้างบางคนคดโกง อีกทั้งยังขอให้พินิจถึงคุณูปการของพันธมิตรฯ รวมถึงการรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 ที่ช่วยหยุดยั้งระบอบทักษิณทำลายสถาบันสูงสุดและชาติบ้านเมือง

ส่วนการเคลื่อนไหว รณรงค์ สานเสวนาเพื่อสันติ สมานฉันท์ ยุติความรุนแรง ในเวลานี้ เขามองว่า เป็นความหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่คิดตื้น ไม่ได้กำจัดคนชั่วให้หมดจากแผ่นดิน จึงไม่อาจสร้างสันติได้อย่างแท้จริงดังกล่าวอ้าง

เกษม อธิบายถึงที่มาที่ไป เหตุใด ทำไม ถึงออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าเลือกยืนอยู่ข้างพันธมิตรฯ ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิท มิตรสหาย บริวารแวดล้อมบางกลุ่ม บางพวก ตั้งข้อกังขาต่อบทบาทการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน “ทักษิณ” นำไปสู่ความแตกแยก แบ่งขั้ว เลือกข้าง สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง ว่า ก่อนอื่นต้องดูว่ารัฐบาลทักษิณ เข้ามาบริหารประเทศเพื่ออะไร เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ใช่หรือไม่

สองสภาและรัฐบาล คุมองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ เอาไว้หมด ส่วนประชาชนก็เอาเงินไปแจก แล้วสร้างบุญคุณ ทั้งที่เงินเอาไปแจกให้ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ นั้นเป็นเงินหลวง ใช่หรือไม่

แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายๆ แบบว่าโกงกันแล้วก็แล้วกันไป ใครโกงได้โกงไป การออกมาตรวจสอบนอกสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 49 ตามมา เป็นการช่วยหยุดยั้งการคดโกงแผ่นดิน การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง หากไม่มีพันธมิตร ไม่มีการรัฐประหาร ไม่มี คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ประเทศชาติจะตกอยู่ในสภาพใด จะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลัง ถ้าไม่มีรัฐประหารออกมาหยุดทักษิณ ตายเลย !

เกษม มองเห็นคุณประโยชน์ของการรัฐประหารว่า ความจริงแล้วรัฐประหาร ไม่ใช่เป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวของมันเอง การรัฐประหารที่ปูทางนำไปสู่สิ่งที่ดี ไม่ควรถูกตั้งข้อรังเกียจ แต่เวลานี้กระแสสังคม รวมถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่เห็นพ้องกับการรัฐประหาร ทำให้ทหารไม่กล้าออกมาแสดงบทบาทใดๆ

หากมองอย่างใจเป็นธรรม จะเห็นสิ่งที่ คมช. ฝากไว้ให้กับแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ และเป็นครั้งแรกของการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติ โดยได้รับเสียงเห็นด้วยอย่างท่วมท้น

รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เขียนขึ้นเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การชุมนุมของพันธมิตรฯ คงถูกยิงหัวไปแล้ว และยังสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง การดำเนินคดีเอาผิดนักการเมืองทุจริต และก่อให้เกิดกระบวนการตุลาการภิวัฒน์

นอกจากนั้น องค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ทั้ง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) คณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแต่งตั้งนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ได้เข้ามาล้างบางการทุจริต คดโกง สร้างคุณประโยชน์ให้แผ่นดินมากมาย

คตส. ทำงานหนัก เร่งรีบจัดการทุจริต มีผลงานโดดเด่น ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ถึงมือศาล หากไม่มีคตส. ก็ไม่มีพยานหลักฐานต่างๆ มาประกอบการพิจารณาคดีของศาล บางคนอาจจะบอกว่า คตส. ทำงานช้า แต่ช้าดีกว่าปล่อยให้หลุดหมด เหมือนสมัย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ที่เอาผิดใครก็ไม่ได้ ยึดทรัพย์ก็ไม่ได้ ตอนนี้สงสัยแต่ว่าทำไมคดีเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิที่มีอยู่มากมาย ถึงไม่ส่งขึ้นศาลเลยแม้แต่คดีเดียว ทั้งที่มีคนทำผิด ที่รู้ว่ามีคนทำผิดเพราะมีคนมาเล่าให้ฟัง แล้วเมื่อไหร่คนที่ทำผิดจะได้รับการลงโทษ

เกษม บอกว่า ที่ผ่านมา เงื่อนไข เงื่อนเวลา และแรงกดดันถูกบีบจากรอบด้าน ทำให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ต้องรีบประกาศเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ความจริงแล้วการเลือกตั้งสามารถทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่น่าผิดหวังที่พรรคการเมืองต่างๆ ไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนตัวแทนของทักษิณ กลับไปเป็นพวกเดียวกันอีก ซึ่งเบื้องหลังไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า “เงิน” หัวหน้าพรรคบางพรรคที่เคยมากินกาแฟด้วยกัน ปากก็บอกไม่ร่วมแต่สุดท้ายก็เข้าไปร่วมด้วย เพราะถ้าไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพอดอยากปากแห้ง

สภาพหลังการเลือกตั้งไม่ต่างไปจากก่อนหน้าการรัฐประหาร เมื่อพรรคพลังประชาชน เร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้กับทักษิณ และโยกย้ายล้างบางเอาคนของตัวเองขึ้นมา ก็ได้แต่เป็นห่วงบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไร พอกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็รู้สึกโล่งอก เพราะยอมไม่ได้ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิด ฟอกตัวเอง ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ คดีต่างๆ ก็จะกระทบหมด

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดทักษิณ เกษมและเพื่อนพ้อง ญาติมิตร ได้สนับสนุนและเอาใจช่วยอย่างมากในช่วงแรก

แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานเพื่อคัดค้านและยันไม่ให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ช่วยเหลือทักษิณและครอบครัวพ้นผิด ท่ามกลางกระแสข่าวสลายการชุมนุม ทำร้าย ล้อมปราบ กระทั่งการลงมือสลายชุมนุมของฝ่ายเจ้าหน้ารัฐอย่างรุนแรงเกินเหตุจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายในที่สุด ทำให้เกิดความตึงเครียดแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม การ์ดรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงแกนนำ วิทยากรรับเชิญ และพิธีกรบนเวที แรงกดดันรุมล้อมรอบด้าน ทำให้แกนนำพันธมิตรออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนและแข็งกร้าว

หลายๆ คนที่เคยหนุนพันธมิตร ติดท่าที รับไม่ได้กับการสวนกลับของพันธมิตรว่าแรงไป ใครติติงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ ซึ่ง เกษม ได้ขอให้ย้อนกลับไปดูจุดมุ่งหมายของพันธมิตรว่า แท้จริงแล้วพวกเขาสู้เพื่ออะไร ความรุนแรง ความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง มีเหตุมาจากใครกันแน่ และเปรียบเทียบกับการชุมนุมของนปช.ว่า สู้เพื่ออะไร หากเทียบกันแล้วจะเห็นว่าเป็นคนละเรื่อง ฝ่ายแรกสู้เพื่อชาติบ้านเมือง ขับไล่คนไม่ดี ส่วนฝ่ายหลังสู้เพื่อให้ทักษิณและพวกพ้นผิด

“เมื่อใคร่ครวญเหตุผล ที่มาที่ไปทั้งหมดแล้ว ผมกล้าประกาศตัวว่า ผมเลือกข้างพันธมิตร ผมต้องขอบใจพันธมิตร เพราะถ้าพันธมิตรไม่ออกมาชุมนุมคัดค้านป่านนี้รัฐธรรมนูญก็คงถูกแก้ไปแล้ว ความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็คงถูกลบล้าง ฟอกให้พ้นผิดกันไปแล้ว”

“คนที่ติดท่าทีของพันธมิตร ผมได้ถามย้อนกลับไปว่า ถ้าไม่มีพันธมิตร เอาไหม ทุกคนก็บอกว่าไม่เอา เวลานี้ถ้าไม่ช่วยกัน บ้านเมืองจะตกอยู่ในอันตราย”


ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวสานเสวนาเพื่อสันติ ยุติความรุนแรง นั้น เกษม บอกว่า กลุ่มพันธมิตร ชุมนุมยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมาเป็นเวลายาวนาน วันดีคืนดีก็มีคนออกมาบอกว่า ให้เจ๊ากันไป ขอให้ถอยกันคนละก้าวเพื่อสันติ ตั้งต้นกันใหม่ เป็นวิธีคิดแบบปลุกพลังเงียบขึ้นมาหารสอง ทำให้สังคมสับสน มองผิวเผินเป็นความคิดแบบหวังดี แต่คิดตื้น ไม่ได้กำจัดความชั่วไปจากแผ่นดิน

“ผมรับวิธีคิดอย่างนี้ไม่ได้ มันหยุดความรุนแรง ทำให้เกิดสันติไม่ได้อย่างที่กล่าวอ้าง ผมว่าถึงเวลาที่จำเป็นต้องเลือกข้าง และสร้างเน็ตเวิร์ก รวมกลุ่มกันขึ้นมา”

**อดีตแกนนำ “กลุ่มดุสิต 99”

เกษม จาติกวณิช ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชน ว่า "ซูเปอร์เค" เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 สมรสกับ คุญหญิงชัชนี จาติกวณิช (สกุลเดิม ล่ำซำ) มีบทบาทในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพร้อมกันถึง 4 แห่งคือ ไทยออยล์, บางจากปิโตรเลียม, ปุ๋ยแห่งชาติ และ เอเชียทรัสต์ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ นอกจากนั้น ยังเป็นประธานกรรมการบริษัท BTSC (รถไฟฟ้า BTS) เมื่อปี 2543

สำหรับกลุ่มดุสิต 99 (เหตุที่เรียกกลุ่มดุสิต 99 เพราะใช้สถานที่โรงแรมดุสิตธานี เป็นที่นัดพบปะพูดคุย) ได้รับการบันทึกไว้ในโครงการวิจัยเรื่องชีวประวัติรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2475 – 2540 โดย ดร.บัณฑิต จันทรโรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายเดือนมี.ค. 2517 มีแกนนำ คือ นายเกษม จาติกวณิช เป็นหัวหน้า มีกรรมการ ประกอบด้วย น.ต.กำธน สินธวานนท์ เลขาธิการ (ปัจจุบัน พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี), นายแถมสิน รัตนพันธ์ , คณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย,ม.ร.ว.นิติวัฒน์ เกษมศรี, นายสนอง ตู้จินดา, นายจรูญ เรืองวิเศษ, นายเกษม สุวรรณกุล, คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ และนายนิสสัย เวชชาชีวะ

กลุ่มดุสิต 99 ยังประกอบด้วยสมาชิกที่มี ชื่อเสียงอีกหลายคน ได้แก่ นายไพโรจน์ ชัยนาม, นายอมร จันทรสมบูรณ์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, นายอำนวย วีรวรรณ, นายบัญชา ล่ำซำ, นายบรรหาร ศิลปอาชา, นายเกียรติรัตน์ ศรีวิศาลวาจา, นายประกายเพ็ชร อินทุโสภณ และกลุ่มสารสิน คือนายพงษ์ สารสิน, พล.ต.ต.เภา สารสิน, นายเฉลิมชัย วสีนนท์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น