xs
xsm
sm
md
lg

“ซุปเปอร์เค” เลือกข้างพันธมิตร กำจัดคนโกงแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษม จาติกวณิช
เกษม จาติกวณิช หรือ “ซุปเปอร์เค” บุรุษแกร่งวัย 85 ปี ผู้มีบทบาทในแวดวงเศรษฐกิจ การเมือง ผ่านร้อน ผ่านหนาว มายาวนาน ลุกขึ้นประกาศ “เลือกข้าง” ในชั่วโมงที่ “ทักษิณ” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้กลายเป็นอาชญากรข้ามชาติ โฟนอินปลุกระดมมวลชน ส่งสัญญาณทวงอำนาจ จวบจ้วงสถาบันกษัตริย์ และโจมตีสถาบันตุลาการ รวมถึงการเรียกร้องสมานฉันท์ของกลุ่มสานสันติที่คิดตื้น ผิดกาละเทศะ

ในการให้สัมภาษณ์ พูดคุย กับ “ผู้จัดการรายวัน” ในตอนเช้าวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา “เกษม” อดีตหัวหน้า “กลุ่มดุสิต 99” ที่ทรงอิทธิพลในสมัชชาแห่งชาติ หรือ “สภาสนามม้า” ซึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เมื่อปี 2517 อธิบายให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นต้องเลือกข้างในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอันตราย และมองให้ทะลุถึงมูลเหตุอันเป็นต้นตอของปัญหาแล้วร่วมมือกันล้างบางคนคดโกง อีกทั้งยังขอให้พินิจถึงคณูปการของพันธมิตรฯ รวมถึงการรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 ที่ช่วยหยุดยั้งระบอบทักษิณทำลายสถาบันสูงสุดและชาติบ้านเมือง

ส่วนการเคลื่อนไหว รณรงค์ สานเสวนาเพื่อสันติ สมานฉันท์ ยุติความรุนแรง ในเวลานี้ เขามองว่า เป็นความหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่คิดตื้น ไม่ได้กำจัดคนชั่วให้หมดจากแผ่นดิน จึงไม่อาจสร้างสันติได้อย่างแท้จริงดังกล่าวอ้าง

เกษม อธิบายถึงที่มาที่ไป เหตุใด ทำไม ถึงออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าเลือกยืนอยู่ข้างพันธมิตรฯ ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติสนิท มิตรสหาย บริวารแวดล้อมบางกลุ่ม บางพวก ตั้งข้อกังขาต่อบทบาทการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน “ทักษิณ” นำไปสู่ความแตกแยก แบ่งขั้ว เลือกข้าง สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง ว่า ก่อนอื่นต้องดูว่ารัฐบาลทักษิณ เข้ามาบริหารประเทศเพื่ออะไร เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ใช่หรือไม่

รัฐบาลทักษิณ ใช้เงินมาก เขาใช้เงินลงทุนซื้อเพื่อคุมเสียงทั้งสองสภาและรัฐบาล คุมองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ เอาไว้หมด ส่วนประชาชนก็เอาเงินไปแจก แล้วสร้างบุญคุณ ทั้งที่เงินเอาไปแจกให้ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ นั้นเป็นเงินหลวง ใช่หรือไม่

แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายๆ แบบว่าโกงกันแล้วก็แล้วกันไป ใครโกงได้โกงไป การออกมาตรวจสอบนอกสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 49 ตามมา เป็นการช่วยหยุดยั้งการคดโกงแผ่นดิน การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง หากไม่มีพันธมิตร ไม่มีการรัฐประหาร ไม่มี คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ประเทศชาติจะตกอยู่ในสภาพใด จะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลัง ถ้าไม่มีรัฐประหารออกมาหยุดทักษิณ ตายเลย !

เกษม มองเห็นคุณประโยชน์ของการรัฐประหารว่า ความจริงแล้วรัฐประหาร ไม่ใช่เป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวของมันเอง การรัฐประหารที่ปูทางนำไปสู่สิ่งที่ดี ไม่ควรถูกตั้งข้อรังเกียจ แต่เวลานี้กระแสสังคม รวมถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่เห็นพ้องกับการรัฐประหาร ทำให้ทหารไม่กล้าออกมาแสดงบทบาทใดๆ

หากมองอย่างใจเป็นธรรม จะเห็นสิ่งที่ คมช. ฝากไว้ให้กับแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ และเป็นครั้งแรกของการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติ โดยได้รับเสียงเห็นด้วยอย่างท่วมท้น

รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เขียนขึ้นเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การชุมนุมของพันธมิตรฯ คงถูกยิงหัวไปแล้ว และยังสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง การดำเนินคดีเอาผิดนักการเมืองทุจริต และก่อให้เกิดกระบวนการตุลาการภิวัฒน์

นอกจากนั้น องค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ทั้ง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) คณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแต่งตั้งนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ได้เข้ามาล้างบางการทุจริต คดโกง สร้างคุณประโยชน์ให้แผ่นดินมากมาย

คตส. ทำงานหนัก เร่งรีบจัดการทุจริต มีผลงานโดดเด่น ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ถึงมือศาล หากไม่มีคตส. ก็ไม่มีพยานหลักฐานต่างๆ มาประกอบการพิจารณาคดีของศาล บางคนอาจจะบอกว่า คตส. ทำงานช้า แต่ช้าดีกว่าปล่อยให้หลุดหมด เหมือนสมัย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ที่เอาผิดใครก็ไม่ได้ ยึดทรัพย์ก็ไม่ได้ ตอนนี้สงสัยแต่ว่าทำไมคดีเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิที่มีอยู่มากมาย ถึงไม่ส่งขึ้นศาลเลยแม้แต่คดีเดียว ทั้งที่มีคนทำผิด ที่รู้ว่ามีคนทำผิดเพราะมีคนมาเล่าให้ฟัง แล้วเมื่อไหร่คนที่ทำผิดจะได้รับการลงโทษ

เกษม บอกว่า ที่ผ่านมา เงื่อนไข เงื่อนเวลา และแรงกดดันถูกบีบจากรอบด้าน ทำให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ต้องรีบประกาศเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ความจริงแล้วการเลือกตั้งสามารถทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่น่าผิดหวังที่พรรคการเมืองต่างๆ ไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนตัวแทนของทักษิณ กลับไปเป็นพวกเดียวกันอีก ซึ่งเบื้องหลังไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า “เงิน” หัวหน้าพรรคบางพรรคที่เคยมากินกาแฟด้วยกัน ปากก็บอกไม่ร่วมแต่สุดท้ายก็เข้าไปร่วมด้วย เพราะถ้าไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพอดอยากปากแห้ง

สภาพหลังการเลือกตั้งไม่ต่างไปจากก่อนหน้าการรัฐประหาร เมื่อพรรคพลังประชาชน เร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้กับทักษิณ และโยกย้ายล้างบางเอาคนของตัวเองขึ้นมา ก็ได้แต่เป็นห่วงบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไร พอกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็รู้สึกโล่งอก เพราะยอมไม่ได้ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิด ฟอกตัวเอง ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ คดีต่างๆ ก็จะกระทบหมด

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดทักษิณ เกษมและเพื่อนพ้อง ญาติมิตร ได้สนับสนุนและเอาใจช่วยอย่างมากในช่วงแรก

แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานเพื่อคัดค้านและยันไม่ให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ช่วยเหลือทักษิณและครอบครัวพ้นผิด ท่ามกลางกระแสข่าวสลายการชุมนุม ทำร้าย ล้อมปราบ กระทั่งการลงมือสลายชุมนุมของฝ่ายเจ้าหน้ารัฐอย่างรุนแรงเกินเหตุจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายในที่สุด ทำให้เกิดความตึงเครียดแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม การ์ดรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงแกนนำ วิทยากรรับเชิญ และพิธีกรบนเวที แรงกดดันรุมล้อมรอบด้าน ทำให้แกนนำพันธมิตรออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนและแข็งกร้าว

หลายๆ คนที่เคยหนุนพันธมิตร ติดท่าที รับไม่ได้กับการสวนกลับของพันธมิตรว่าแรงไป ใครติติงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ ซึ่ง เกษม ได้ขอให้ย้อนกลับไปดูจุดมุ่งหมายของพันธมิตรว่า แท้จริงแล้วพวกเขาสู้เพื่ออะไร ความรุนแรง ความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง มีเหตุมาจากใครกันแน่ และเปรียบเทียบกับการชุมนุมของนปช.ว่า สู้เพื่ออะไร หากเทียบกันแล้วจะเห็นว่าเป็นคนละเรื่อง ฝ่ายแรกสู้เพื่อชาติบ้านเมือง ขับไล่คนไม่ดี ส่วนฝ่ายหลังสู้เพื่อให้ทักษิณและพวกพ้นผิด

“เมื่อใคร่ครวญเหตุผล ที่มาที่ไปทั้งหมดแล้ว ผมกล้าประกาศตัวว่า ผมเลือกข้างพันธมิตร ผมต้องขอบใจพันธมิตร เพราะถ้าพันธมิตรไม่ออกมาชุมนุมคัดค้านป่านนี้รัฐธรรมนูญก็คงถูกแก้ไปแล้ว ความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็คงถูกลบล้าง ฟอกให้พ้นผิดกันไปแล้ว”

“คนที่ติดท่าทีของพันธมิตร ผมได้ถามย้อนกลับไปว่า ถ้าไม่มีพันธมิตร เอาไหม ทุกคนก็บอกว่าไม่เอา เวลานี้ถ้าไม่ช่วยกัน บ้านเมืองจะตกอยู่ในอันตราย”

ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวสานเสวนาเพื่อสันติ ยุติความรุนแรง นั้น เกษม บอกว่า กลุ่มพันธมิตร ชุมนุมยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมาเป็นเวลายาวนาน วันดีคืนดีก็มีคนออกมาบอกว่า ให้เจ๊ากันไป ขอให้ถอยกันคนละก้าวเพื่อสันติ ตั้งต้นกันใหม่ เป็นวิธีคิดแบบปลุกพลังเงียบขึ้นมาหารสอง ทำให้สังคมสับสน มองผิวเผินเป็นความคิดแบบหวังดี แต่คิดตื้น ไม่ได้กำจัดความชั่วไปจากแผ่นดิน

“ผมรับวิธีคิดอย่างนี้ไม่ได้ มันหยุดความรุนแรง ทำให้เกิดสันติไม่ได้อย่างที่กล่าวอ้าง ผมว่าถึงเวลาที่จำเป็นต้องเลือกข้าง และสร้างเน็ตเวิร์ก รวมกลุ่มกันขึ้นมา”

////////////////////////////

อดีตแกนนำ "กลุ่มดุสิต 99"

เกษม จาติกวณิช ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชน ว่า "ซูเปอร์เค" เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 สมรสกับ คุญหญิงชัชนี จาติกวณิช (สกุลเดิม ล่ำซำ) มีบทบาทในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพร้อมกันถึง 4 แห่งคือ ไทยออยล์, บางจากปิโตรเลียม, ปุ๋ยแห่งชาติ และ เอเชียทรัสต์ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ นอกจากนั้น ยังเป็นประธานกรรมการบริษัท BTSC (รถไฟฟ้า BTS) เมื่อปี 2543

สำหรับกลุ่มดุสิต 99 (เหตุที่เรียกกลุ่มดุสิต 99 เพราะใช้สถานที่โรงแรมดุสิตธานี เป็นที่นัดพบปะพูดคุย) ได้รับการบันทึกไว้ในโครงการวิจัยเรื่องชีวประวัติรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2475 – 2540 โดย ดร.บัณฑิต จันทรโรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายเดือนมี.ค. 2517 มีแกนนำ คือ นายเกษม จาติกวณิช เป็นหัวหน้า มีกรรมการ ประกอบด้วย น.ต.กำธน สินธวานนท์ เลขาธิการ (ปัจจุบัน พลอากาศเอกกำธน ดำรงตำแหน่งองคมนตรี), นายแถมสิน รัตนพันธ์ , คณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย,ม.ร.ว.นิติวัฒน์ เกษมศรี, นายสนอง ตู้จินดา, นายจรูญ เรืองวิเศษ, นายเกษม สุวรรณกุล, คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ และนายนิสสัย เวชชาชีวะ

กลุ่มดุสิต 99 ยังประกอบด้วยสมาชิกที่มี ชื่อเสียงอีกหลายคน ได้แก่ นายไพโรจน์ ชัยนาม, นายอมร จันทรสมบูรณ์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, นายอำนวย วีรวรรณ, นายบัญชา ล่ำซำ, นายบรรหาร ศิลปอาชา, นายเกียรติรัตน์ ศรีวิศาลวาจา, นายประกายเพ็ชร อินทุโสภณ และกลุ่มสารสิน คือนายพงษ์ สารสิน, พล.ต.ต.เภา สารสิน, นายเฉลิมชัย วสีนนท์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น