xs
xsm
sm
md
lg

"จรัญ"ตอกพวกคิดแก้รธน. ชี้พรรคไม่พัฒนาก็เป็นแค่"แก๊งโจร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (25ส.ค.) ที่รัฐสภา ชมรม ส.ส.ร.50 ได้จัดเสวนา"1 ปีกับฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญ ปี 50" โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)และประธานชมรม ส.ส.ร. 50 เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีอดีต ส.ส.ร.และ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ และ ส.ส.ร. กว่า 10 คน เข้าร่วมเสวนา
โดยนายจรัญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการร่างขึ้นมาช่วงบ้านเมืองมีปัญหา จึงต้องให้ยาแรงกันบ้าง แต่ในภาพรวมหลังการบังคับใช้มา 1 ปี ถือว่าน่าพอใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว. ให้มาจากเลือกตั้ง และสรรหา ได้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ดังนั้นหากจะย้อนกลับไปใช้ระบบเดิม ปัญหาเดิมก็จะวนกลับมา นำไปสู่ความไม่เชื่อถือต่อวุฒิสภา ขอให้เราช่วยกันประคับประคอง และใช้ระบบนี้ให้มั่นคงต่อไป เชื่อว่ารูปแบบนี้จะเป็นรูปแบบที่ยั่งยืนในอนาคตได้ ส่วน มาตรา190 นั้น ทำให้เห็นชัดเจน และช่วยจับโกหก จับพฤติกรรมที่ส่อพิรุธของอดีตรมว.ต่างประเทศ จนต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ถ้าไม่มี มาตรา 190 การจับโกหก และการป้องกันผลประโยชน์ชาติอาจไม่เกิดผล อาจถูกคนที่ใช้อำนาจในทางมิชอบขายสิทธิประโยชน์ของประเทศ ซึ่งตนเชื่อว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ มาตรา 190 เพราะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ตนจะเสียดายมาก หากมาตรานี้ถูกทำลายลงไป
นายจรัญ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรา 237 ถือว่ามีข้อโต้แย้งมาก และเป็นเป้าหมายที่จะถูกล้มล้างทำลายลงให้ได้ ซึ่งมาตรานี้เป็นการแก้ปัญหาทุจริตซื้อสิทธิ ขายเสียง ที่เป็นมะเร็งคอยแทะกระดูกเลือดเนื้อ คอยกัดกินสังคมไทยมานาน จนมองไม่เห็นทางแก้ แต่มาตรานี้ เป็นกุศโลบายที่กำหนด หรือกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองให้ไม่ซื้อเสียงโดยเด็ดขาด มีคุณสมบัติการเป็นพรรคการเมืองที่ดี มีศักดิ์ศรี เป็นสถาบัน ไม่ใช่ถูกดูถูกว่า เป็นเพียงนักเลือกตั้งที่ซื้อเสียงเข้ามา
"หากพรรคไหนรักษามาตรฐานนี้ไม่ได้ กรรมการบริหารพรรคไปซื้อเสียงแล้วถูกจับได้ พรรคการเมืองนั้นไม่ใช่สถาบัน เป็นแค่แก๊งโจร ที่สถาบันการเมืองและพรรคการเมืองต้องช่วยกันขจัดออกไป ยังเชื่อว่ามาตรานี้ จะอยู่กับรัฐธรรมนูญต่อไปตราบนานเท่านาน ไม่ว่าใครจะมาร่างมาเขียนก็ตาม" นายจรัญกล่าว

นายวิชา มหาคุณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้แสดงฤทธิ์เดชมาครบ 1 ปี ซึ่งตนใจหายใจคว่ำว่าองค์กร ป.ป.ช. จะอยู่ไม่ได้มาถึงขนาดนี้ หากประชาชนไม่หนุนก็ไปไม่รอด มีการมุ่งโจมตีว่า มุ่งล้มพรรคการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล แต่ตนว่าถ้าเรารู้ปัญหาแล้วไม่ยอมแก้ ก็เสียชาติเกิด ทำให้ชาติเสียหาย ป.ป.ช. ยิ่งทำงานยิ่งรู้ซึ้งถึงปัญหา โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าไม่แก้ไขให้ทันท่วงที ประเทศชาติก็คงไม่เหลือ เปรียบเหมือนโรคห่าลง สมัยรัชกาลที่ 4 หากไม่กวาดล้าง หรือเอาแพทย์แผนใหม่มาผ่าตัด ยังใช้หมอผีเขมรมาปัดเป่า คงไม่มีทางแก้ไขได้ การรักษาด้วยแพทย์แผนใหม่อาจรุนแรง ต้องวางยาแล้วผ่าตัดเอาเนื้อร้ายทิ้ง บางคนทนยาไม่ไหว ก็ต้องตายไป ต้องยอมรับ เพราะคนไทยที่เหลือจะเป็นคนสุขภาพดี รัฐธรรมนูญ 50 จึงเป็นการให้ยาที่ถูกสุขลักษณะ ถ้าคนไม่ไปกินของสกปรก ก็ไม่ตาย แต่จะมาบอกว่า เราวางยาพรรคการเมืองคงไม่ได้ เป็นเรื่องของอิทัปปจฺยตา ที่ผลต้องมาจากเหตุ ผลของรัฐธรรมนูญ จึงออกฤทธิ์เดช โดยศาลอาญาแผนนกคดีเลือกตั้ง ตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ทำตามหลักนิติธรรม
นายวิชา กล่าวว่า มาตรา 237 เป็นยาแรงก็จริง แต่เพิ่งเริ่มลองใช้ คงไม่ใช่ทำลายล้างพรรคการเมืองให้หมดไป เพราะได้ข่าวว่าเตรียมตั้งพรรคใหม่ไว้สวมหัวแล้ว ที่ร้องโอดโอยอยู่นี้ เป็นพวกผู้บริหารระดับสูงทั้งนั้น ไม่ใช่สมาชิกพรรคที่เป็นรากหญ้า ถ้าเริ่มต้นใหม่ผิด ก็จะผิดไปหมด เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ดูทุเรศทุรัง ยืนยันว่าต้นไม้นี้ ไม่มีพิษ หากบุคคลที่ไปจับนั้นไม่มีแผลบนฝ่ามือ แต่หากมีบาดแผล พิษนั้นอาจแล่นเข้าสู่ร่างกายได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น คตส.หรือกระบวนการยุติธรรมนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นพิษกับคนที่มีบาดแผลบนฝ่ามือ อาจทำให้ตายได้หรือไม่ไม่รู้ เพราะท่านก็ไม่ได้มาปรากฏตัวอีกแล้ว ตุลาการภิวัฒน์ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มไปจากปี 40 อย่างเรื่องถุงขนม 20 ล้าน ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญนี้จัดการ แต่เป็นองค์กรที่เข้มแข็งเขาจัดการเองได้ โดยไม่ต้องให้ใครมายุ่งเกี่ยว ฤทธิ์เดชที่เกิดขึ้นไม่ได้อาศัยกำลังจากภายนอก แต่เป็นฤทธิ์เดชที่ทำให้ไม่มีใครไปยุ่งย่ามได้ สามารถเปล่งพลังออกมาโดยไม่มีใครแทรกแซง
ส่วนการทำหน้าที่ของป.ป.ช.นั้นอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะแก้กฎหมายหรือไม่ หากแก้แล้วกำหนดวาระเท่านั้นเท่านี้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่การจะแก้ต้องตอบประชาชนได้ว่า เพราะกลัวว่าองค์กรนี้จะไปทำให้ท่านมีภัยหรือไม่
นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ สามารถใช้ไปได้อีก 2 ปี เชื่อว่ากการเมืองจะมีการพัฒนาขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นก็น่าจะปรับปรุงแก้ในจุดบกพร่องได้ โดยการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญสามารถดำรงอยู่ได้มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. สื่อมวลชนต้องเสนอความจริง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ให้สิทธิคุ้มครองเอาไว้แล้ว
2.นักวิชาการ ผู้อาวุโสในบ้านเมือง หรือกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องช่วยกันออกมาให้ความรู้แก่ประชาชน
3. การยืดเวลาการแก้รัฐธรรมนูญออกไป ให้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าทำได้แบบนี้ชาติจะไม่ล่มจม
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญ 50 จะอยู่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ครบ 1 ปี มีการป้ายสีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ที่มา ว่าเป็นเผด็จการจาก คมช. แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ทำให้คนตื่นตัวทางการเมืองสูง แต่ก็ยังมีคนพยายามใส่ใข่ให้มองว่ารัฐธรรมนูญผิดเพี้ยนไป อย่างร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ ที่มีข่าวจะถูก ส.ส.ตีตกไปคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการคัดค้าน เพราะมีการกำหนดห้ามละเมิดอำนาจศาลมากกว่า แสดงว่าคนที่คัดค้านจ้องจะละเมิดอำนาจศาล ใช่หรือไม่ คิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญ 50 ได้สร้างสมดุลของอำนาจ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการพอสมควร น่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ยังเดาไม่ออกว่าหากรัฐบาลชุดนี้ได้ใช้รัฐธรรมนูญ 40 บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น