xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐอเมริกา คนป่วยของโลก

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ประเทศจีนในยุคพระนางซูสีไทเฮาถูกแบ่งบางส่วนเป็นเขตเช่าให้กับชาติตะวันตกและญี่ปุ่นรวม 8 เขตด้วยกัน เขตเช่าที่มีชื่อที่สุดคือ เขตเช่าอังกฤษในเซี่ยงไฮ้ที่มีการกล่าวกันว่ามีป้ายประกาศตรงหน้าสวนสาธารณะความว่า “สุนัขและคนจีนห้ามเข้า” จีนได้ถูกขนานนามว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” (The sick man of Asia) เพราะจีนอ่อนแอ ระบบสังคมฟอนเฟะ การปกครองบริหารเละเทะ เศรษฐกิจถูกทำลายยับเยิน อิทธิพลของต่างชาติมีไปทั่ว ถ้าจะเทียบกับภาษาปัจจุบันจีนยุคนั้นก็คือ failed state หรือรัฐล้มเหลว

คำถามก็คือ อะไรคือตัวแปรที่ทำให้ประเทศตะวันตกสามารถมีอำนาจเหนือจีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ มีขนบธรรมเนียมเก่าแก่มาช้านาน และเช่นเดียวกันอะไรคือตัวแปรที่ทำให้อังกฤษสามารถยึดประเทศอินเดียได้ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เกิดจากวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ เรือกลไฟและปืนไฟ นอกจากนั้น Social Technology หรือเทคโนโลยีสังคมอันได้แก่ ระบบการเมืองการปกครอง การจัดการบริหาร ก็มีบทบาทสำคัญ

มีการกล่าวว่า สังคมตะวันตกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการผลิตและการค้าโดยอาศัยกลไกตลาด ขณะเดียวกันระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเน้นถึงสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมก็มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศตะวันตกเหล่านี้เป็นประเทศมหาอำนาจ

แต่ขณะเดียวกันทั้งการเมืองและเศรษฐกิจก็ไม่หยุดนิ่ง ในตะวันตกนั้นได้เกิดระบบการปกครองที่มีการประสานระหว่างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ระบบฟาสซิสต์ พร้อมๆ กันนั้นระบบทุนนิยมก็ถูกโจมตีโดยนักคิดคือคาร์ล มาร์กซ์ จนนำไปสู่ทางเลือกคือระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อันเป็นเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัสเซียใน ค.ศ. 1917 ขณะเดียวกันระบบฟาสซิสต์ก็พัฒนาขึ้นในเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น โดยนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจมีบทบาทอย่างมากในการเกี่ยวข้องกับนโยบายบริหารประเทศ การทหาร และการระหว่างประเทศ ระบบฟาสซิสต์เป็นระบบที่เน้นอำนาจเผด็จการ มุ่งเน้นการขยายอาณาเขต รุกรานประเทศเพื่อนบ้าน กำจัดชนกลุ่มน้อยในประเทศ มีการเน้นความเป็นชาตินิยมและมีการประกาศอุดมการณ์ที่เอนเอียงไปในทางความแข็งแกร่งของกองกำลังทหาร

สงครามโลกครั้งที่สองคือการต่อสู้กันระหว่างระบบฟาสซิสต์และสังคมนิยม โดยฝ่ายเสรีนิยมมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นประเทศที่สำคัญซึ่งไม่ถูกครอบครองโดยกองทัพนาซีเข้ามาช่วยเผด็จศึก และเมื่อเยอรมนีแพ้สงครามพร้อมทั้งอิตาลี ในขณะที่ญี่ปุ่นถูกปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สองก็ยุติลง โดยสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายที่อยู่ร่วมกับประเทศที่ชนะสงคราม โดยมี 5 ประเทศใหญ่ด้วยกันคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน และ 5 ประเทศนี้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติ แต่ละประเทศมีสิทธิลงคะแนนเสียงยับยั้งมติสำคัญได้

การเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นยุคที่ประจันหน้าระหว่างประเทศที่มีระบบการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ โดยมีเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่มีการรวมศูนย์การผลิตอยู่ที่ส่วนกลาง กับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมโดยมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นหลัก การต่อสู้กันด้วยกำลังได้ยุติลงแต่แปรเปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้กันด้วยการขยายระบบการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ สังคมโลกได้แบ่งเป็นสองค่ายและกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ค่ายคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นหัวหน้าซึ่งได้กวาดประเทศยุโรปตะวันออกไว้เป็นประเทศภายใต้อิทธิพล

ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกเป็นกลุ่มที่อยู่ในค่ายทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ญี่ปุ่นถูกครอบครองโดยสหรัฐอเมริการะยะหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้ช่วยปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่น และใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานการสร้างระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจทุนนิยม เพื่อยันกับการขยายตัวของระบบคอมมิวนิสต์ ยุคนี้เรียกว่ายุคสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริงสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ก็ไม่ใช่เป็นสงครามเล็กๆ

ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตพยายามจะพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มีประสิทธิภาพดีกว่าระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ระบบคอมมิวนิสต์จะสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและสร้างความเสมอภาคให้กับประชาชนได้ดีกว่าระบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย

สหภาพโซเวียตได้รับการเสริมกำลังมากยิ่งขึ้นเมื่อจีนแผ่นดินใหญ่ถูกยึดครองโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ.1949 นอกจากนั้น เกาหลีเหนือและเวียดนามเหนือก็เป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ผู้นำสหภาพโซเวียตเคยชี้หน้าผู้นำสหรัฐอเมริกาและกล่าวว่า “เราจะฝังคุณ” ซึ่งแปลว่าสังคมนิยมจะฝังทุนนิยม และเมื่อสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งยานสปุตนิกขึ้นสู่อวกาศ โลกทั้งโลกต้องตื่นตะลึง เพราะนั่นหมายความว่าภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม สหภาพโซเวียตกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เหมา เจ๋อตุง ประกาศว่า “ลมตะวันออกกำลังพัดกลบลมตะวันตก” ซึ่งหมายถึงสังคมนิยมกำลังจะมีชัยเหนือทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย

แต่ปรากฏการณ์ที่มีต่อมานั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่าสังคมโลกจะเป็นประเทศที่มีระบบคอมมิวนิสต์ไม่เป็นความจริง เริ่มต้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันทั้งจีนและเวียดนามเองก็หันมาใช้ระบบทุนนิยมหรือระบบกลไกตลาด แม้จะรักษาไว้ซึ่งระบบการปกครองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจการเมืองก็ตาม จะเหลือก็เพียงเกาหลีเหนือและคิวบา ส่วนลาวก็คล้ายกับจีนและเวียดนาม

จากสภาวะดังกล่าว นักวิชาการอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นคือ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า จึงได้ถกแถลงไว้ว่า โลกปัจจุบันกำลังจะมาถึงจุดจบของประวัติศาสตร์ (The end of history) ซึ่งหมายถึงว่า วิวัฒนาการของมนุษยชาติที่เริ่มจากคอมมิวนิสต์ปฐมภูมิไปสู่ยุคทาส ฟิวดัล ทุนนิยม และจบลงที่สังคมนิยมตามที่คาร์ล มาร์กซ์ กล่าวไว้นั้นคงจะไม่ขยับเดินหน้าอีกต่อไปแล้ว โดยนัยน่าจะหยุดอยู่ที่ทุนนิยมและเสรีประชาธิปไตย

สหรัฐอเมริกากลายเป็นหัวเรือใหญ่ของการเสนอรูปแบบทางเศรษฐกิจให้แก่โลกคือเศรษฐกิจทุนนิยม ขณะเดียวกันในทางการเมืองก็คือเสรีประชาธิปไตย มาถึงยุคประธานาธิบดีเรแกน ซึ่งเป็นยุคใกล้เคียงกับนางมาร์กาแรต แธตเชอร์ ได้มีการเสนอระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยเสรีอย่างเต็มที่โดยรัฐไม่ควบคุมการบริหารงานของบรรษัทต่างๆ ปล่อยให้มีตลาดเสรีทางการเงิน โดยทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า มือที่มองไม่เห็นและระบบกลไกตลาดจะดูแลให้ทุกอย่างไปสู่ประโยชน์ที่จะได้รับมากที่สุด มีการเน้นนโยบายลดภาษีเพื่อให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าผลที่ได้รับจากการลงทุนจะกลายเป็นผลในทางบวกที่กลับมาสู่รัฐ ในขณะเดียวกันระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีการเน้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็น่าจะเป็นระบบที่สอดคล้องที่สุดเพราะเป็นระบบการเมืองที่เลวน้อยที่สุด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามที่คาดคิด บรรษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินที่มีการลงทุนเก็งกำไรขยายการลงทุนไปอย่างกว้างขวาง มีการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้กำไรมากที่สุด ระบบการใช้ก่อนผ่อนทีหลังโดยทุกอย่างซื้อด้วยเงินผ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นฟองสบู่ และเมื่อกลไกของการหมุนเวียนของเงินชะงักงันด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจก็จะเกิดปัญหา การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่เป็นการขยายตัวของหลักอุปสงค์อุปทานที่ไม่เป็นความจริง และนี่คือสาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในเอเชีย เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมโดยสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวแทนขยายการลงทุนในประเทศเอเชีย เมื่อญี่ปุ่นประสบปัญหา ประเทศทั้งหลายซึ่งเป็นติ่งห้อยของการพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยก็เกิดปัญหา

ในกรณีของสหรัฐอเมริกานี้ นโยบายของการปล่อยอิสระอย่างเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจและการปล่อยสินเชื่อโดยสถาบันการเงิน โดยมองข้ามความจริงที่ว่าจะนำไปสู่การสร้างอุปสงค์เทียม ขณะเดียวกันการบริหารธุรกิจเช่นนี้จำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดเศรษฐกิจที่ร้อนจัด พร้อมๆ กับต้องมีการเน้นถึงหลักความซื่อสัตย์สุจริตคือบรรษัทภิบาล หรือที่มีคนไทยอ้างว่าบริษัทใหญ่ๆ ของตะวันตกมีกำแพงเมืองจีนกั้นไม่ให้ทำการทุจริต ซึ่งไม่เป็นความจริง บริษัทเอ็นรอนและเวิลด์คอมที่ล้มไปนั้นก็เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดและไม่ซื่อสัตย์สุจริต การล้มของเลแมน บราเดอร์ กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนว่ามีการกระทำที่ละเมิดกฎเกณฑ์บรรษัทภิบาลหรือไม่อย่างไร

และเนื่องจากเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งมีการเกี่ยวโยงกันจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เหมือนเอาโซ่ผูกโยงร่วมกัน เมื่อคนใหญ่ที่สุดหล่นจากปากเหวก็จะพาคนอื่นๆ ไหลตามเป็นพรวนไปด้วย ยกเว้นแต่จะมีมาตรการแก้ไขอย่างรีบด่วน วิกฤตของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ถูกขนานนามว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังมีคำกล่าวที่ว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นหวัด ประเทศอื่นจะเป็นปอดบวม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไปจมปรักอยู่กับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา โดยมีเงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานกลางของการวัดราคาสินค้า และเป็นสื่อกลางของสิ่งแลกเปลี่ยนในการค้าระหว่างประเทศ

รูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างสุดโต่ง ขาดการควบคุมอย่างเข้มข้น บวกกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เอารูปแบบตะวันตกมาทั้งดุ้น อันเป็นรูปแบบที่สหรัฐอเมริกาประกาศให้กับโลกกำลังถูกท้าทายจากความเป็นจริง สภาวการณ์จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการแก้ปัญหาด้วยจำนวนเงินมหาศาลที่ประคับประคองไม่ให้บรรษัทหนี้เน่าเหล่านี้ล้มละลาย เพราะจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกกระทบกระเทือนไปด้วย การประคับประคองบรรษัทหนี้เน่าขัดกับหลักการที่สหรัฐอเมริกาเคยประกาศเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่ว่า “บรรษัทใดอ่อนแอก็ให้ล้มหายตายจากไป” มาตรฐานสองชั้นของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้อาจจะอ้างว่าเป็นความจำเป็น แต่จะฟังอย่างไรก็ยังขัดต่อความรู้สึกอยู่นั่นเอง

สมญานามที่เหมาะที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกาในตอนนี้ก็คือ คนป่วยของโลก (The Sick Man of the World)
กำลังโหลดความคิดเห็น