xs
xsm
sm
md
lg

คอราซอน อาคีโน ผู้นำพลังประชาชนโค่นระบอบมาร์กอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
โดย โชกุน


นางคอราซอน อาคีโน ประธานาธิบดีคนที่ 11 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ ระหว่าง พ.ศ. 2529-2535 เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 76 ปี เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากอาการหัวใจล้มเหลว หลังป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาประมาณปีเศษ

ก่อนเสียชีวิตไม่นาน เธอปฏิเสธที่จะรับการรักษามะเร็ง และเตรียมตัวเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ

นางอาคีโนเป็นบุตรสาวของตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลหนึ่งในฟิลิปปินส์ พ่อของเธอเป็นเจ้าของธนาคารและไร่อ้อยที่มีเนื้อที่ถึง 15,000 เอเคอร์

เมื่ออายุ 13 ปี เธอถูกส่งตัวไปเรียนในโรงเรียนคอนแวนต์ที่ฟิลลาเดเฟีย และนิวยอร์ก หลังจากนั้นกลับมาเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสท์ แต่เรียนไม่ทันจบก็แต่งงานกับ เบนิกโน อาคิโน นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นบุตรชายจากครอบครัวที่ร่ำรวย ในจังหวัดเดียวกับเธอ

เบนิกโนเดินเข้าสู้เส้นทางการเมือง และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ได้เป็นนายกเทศมนตรีที่อ่อนวัยที่สุด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนุ่มที่สุด และได้รับการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกอายุน้อยที่สุดของฟิลิปปินส์ โดยมีภรรยาเป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลัง

ปี 2515 ประธานาธิบดีมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึก ปกครองฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการ ฝ่ายค้านและผู้ต่อต้านนับพันถูกจับเข้าคุก ลอบสังหาร เบนิกโน เป็น 1 ในนั้น เขาถูกจับเข้าคุกและถูกจองจำอยู่นาน 7 ปี

คอราซอนหรือ คอรี่ กลายเป็นช่องทางเดียวของสามีในการติดต่อกับโลกภายนอก เธอเป็นผู้นำสาร ถ่ายทอดความคิดและคำพูดของเขา จากคุกมายังชาวฟิลิปปินส์ผู้ต่อต้านระบอบมาร์กอส

เบนิกโนได้รับการปล่อยตัวในปี 2523 จากการกดดันของรัฐบาลประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ เขาและครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ที่บอสตัน

อีก 3 ปีต่อมา เบนิกโนเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในปีถัดไป แต่ทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบินมะนิลา เขาถูกยิงเสียชีวิตทันที ฝ่ายค้านฟิลิปปินส์ เชื่อว่า มาร์กอสเป็นผู้บงการการสังหารครั้งนี้ การเสียชีวิตของเบนิกโน ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ทั่วประเทศเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล

ในวันฝังศพของสามี คอรี อาคิโน เดินนำฝูงชนมากกว่า 1 ล้านคน แห่ศพเบนิโนไปฝังยังสุสาน เธอประกาศเหนือหลุมศพว่า จะแบกรับภารกิจของเขาต่อไป

มาร์กอส ถูกกดดันจากรัฐบาลรีแกนให้ปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะสหรัฐฯในตอนนั้น กำลังวิตกกับอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาร์กอสจึงต้องยอมให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใน ปี 2529

ทีแรกคอรีไม่อยากจะลงสมัคร แต่ถูกกดดันจากฝ่ายค้านฟิลิปปินส์ ที่เห็นว่า เธอได้รับความนิยมจากประชาชนมาก เธอมาตัดสินใจเด็ดขาดได้ เมื่อศาลยกฟ้องนายทหารที่ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับการฆ่าสามีของเธอ

คอราซอนใช้ความเป็นคนหน้าใหม่ ไม่ประสีประสากับการเมืองเป็นจุดขายในการแข่งกับมาร์กอส เธอยังได้รับแรงสนับสนุนจากศาสนจักร และประชาชนที่เบื่อหน่ายกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลมาร์กอส

การเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริต การข่มขู่จากฝ่ายมาร์กอส ที่ต้องการอยุ่ในอำนาจต่อไป เมื่อการหย่อนบัตรสิ้นสุดลง ทั้งคอราซอนและมร์กอส ต่างประกาศชัยชนะ และเตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ในที่สุด “ พลังประชาชน” ซึ่งนำโดยอาคีโน และหนุนหลังด้วยศาสนจักร โดยใช้ “ สีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์ ก็กดดันจนมาร์กอส ต้องลาออก และหนีไปฮาวาย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้มาร์กอสต้องลงจากบัลลังก์คือ กองทัพที่ตัดสินใจเปลี่ยนขั้ว เพราะไม่อาจทานกระแสสังคมได้

แม้มาร์กอสจะหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ลิ่วล้อ เครือข่ายของเขายังมีอยู่มาก ทั้งในสภานิติบัญัติ และในองค์กรปกครองท้องถิ่น คอยปัดแข้ง ปัดขา ขัดขวางการทำงานของ รัฐบาลที่อาคีโนเป็นประธานาธิบดี ด้วยความหวังว่า นายใหญ่ยังมีโอกาสกลับมามีอำนาจ ทำให้อาคีโน ตัดสินใจ ใช้อำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจการปกครองด้วยกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้ออก ในปี 2530

กระนั้นก็ตาม อาคีโนก็ต้องเผชิญกับความพยายามในการรัฐประหารหลายครั้ง จากนายทหารที่ยังภักดีกับมาร์กอส แม้ว่าการรัฐประหารจะล้มเหลว แต่สภาพความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เธอตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2535

เมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน ฟิลิปปินส์มีความเจริญมาก เพราะเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนและสหรัฐฯมาก่อน มีการวางรากฐานด้านการศึกษา สาธารณสุขอย่างดี คนไทยสมัยนั้น ถ้าได้ไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ ก็ถือว่า โก้ ไม่แพ้ๆไปสหรัฐ ฯ รัฐบาลไทยส่งบุคลากรด้านการศึกษา การเกษตรไปศึกษาต่อที่นั่น ฟิลิปปินส์ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารสุขมาให้คำแนะนำ ปรึกษากับไทย

แต่ฟิลิปปินส์วันนี้ คือ “ คนป่วยแห่งเอเชีย “ เศรษฐกิจถดถอยลงทุกปีๆ การทำมาค้าขาย ตกอยู่ในมือของเศรษฐีไม่กี่ตระกูล ระบบราชการ และนักการเมืองเต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น มีปัญหาความไม่สงบจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน และความขัดแย้งของขบวนการศาลนาอิสลาม อนาคตของคนฟิลิปปินส์ มีเพียงอย่างเดียวคือ ไปทำงาน ขายแรงงานในต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวที่บ้าน

ฟิลิปปินส์ถูกทำให้อ่อนแอ ด้วยระบบ ทุนนิยม พวกพ้อง (Crony Capitalism) ของ มาร์กอส ที่ผูกขาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มตนและญาติพี่น้อง พวกพ้องเพียงไม่กี่คน เมื่อมาร์กอสถูกโค่นลง อำนาจใหม่ที่มาแทนคือ รัฐบาลนางอาคิโน ซึ่งด้านหนึ่งด้อยประสบการณ์ อีกด้านหนึ่งต้องเสียเวลากับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหลังยุคมาร์กอส โดยที่กลไกรัฐ ไม่อาจพึ่งพาได้ จึงทำให้ฟิลิปปินส์ถอยหลังไปเรื่อยๆ และเมื่อมาถึงยุคของนักการเมือง “ขวัญใจประชาชน” อย่างนายเอสตราดาและอาราโย ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น ก็ยิ่งทำให้ฟิลิปปินส์ เข้าสู่ภาวะคนไข้แห่งเอเชียเต็มตัว

นางอาคีโนได้รับการยกย่องในฐานะนางสิงห์เหล็ก ที่เป็นผู้นำพลังประชาชน โค่นล้มเผด็จการมาร์กอสได้สำเร็จ แต่เธอไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ฟิลิปปินส์กลับไปสู่ความรุ่งเรืองก่อนยุคมาร์กอสได้
กำลังโหลดความคิดเห็น