xs
xsm
sm
md
lg

ธูป 3 ดอก เทียน 3 เล่ม

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

บ่ายวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลคู่กับคุณเทิดภูมิ ใจดี โดยคุณยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที เป็นผู้ดำเนินรายการ สนทนาเรื่องการสร้างการเมืองใหม่ด้วยทฤษฎีธูป 3 ดอก อิงตามบทความที่ผมเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม ในวันเดียวกันนั้นเอง

ผมเสนอทฤษฎี “ธูป 3 ดอก” โดยคุณยุทธิยงเสริมต่อด้วย “เทียน 3 เล่ม”

“ธูป 3 ดอก” หมายถึง 1. ประชาชนเป็นเจ้าภาพ 2. สร้างอำนาจประชาชน และ 3. สถาปนาอำนาจประชาชนแทนที่อำนาจทุนสามานย์ จึงจะเกิดการเมืองใหม่อย่างแท้จริง

“เทียน 3 เล่ม” หมายถึง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

การเมืองใหม่ ซึ่งเป็นการเมืองของประชาชน ในทางประวัติศาสตร์เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากการเมืองของกษัตริย์และกลุ่มทุน แต่ด้วยลักษณะพิเศษของประเทศไทย ที่เป็นสังคมผสมผสานของคนไทยหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน อำนาจประชาชนแทนที่จะเบียดขับอำนาจกษัตริย์และกลุ่มทุน กลับจะเป็นอำนาจรองรับสามสถาบันหลักของประเทศไทยอย่างมั่นคง และเอื้ออำนวยให้แก่การดำรงอยู่และพัฒนาเติบใหญ่ของกลุ่มทุนด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อดีข้อเด่นของการเมืองใหม่จึงอยู่ที่ เมื่อประชาชนสถาปนาการเมืองใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว ก็จะชำระล้างอิทธิพลอำนาจการเมืองเก่าที่เป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย ขจัดปัจจัยทุนสามานย์ที่จะกลืนกินชาติไปเป็นสมบัติส่วนตัว ให้พ้นไปจากวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย อำนาจประชาชนอยู่ในฐานะอำนาจนำ กำหนดกระบวนการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรของชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เมื่อนั้น สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ก็จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงสถาพร

โดยนัยก็คือ อำนาจประชาชนที่เป็นฐานของการเมืองใหม่ จะคอยโอบอุ้มประคับประคองมิให้สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์โยกไหว ยังคงส่องแสงสว่างไสว เปล่งรัศมีใสสด ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกถึงการดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของประชาชาติไทย

ทั้งนี้เพราะ อำนาจกับความมั่งคั่งคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน ใครมีอำนาจก็จะมีสิทธิจัดการทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคม เมื่อประชาชนมีอำนาจ ก็สามารถจัดการทรัพยากรความมั่งคั่งในสังคม ไม่เพียงแก้ไขปัญหาความยากจนของตนเองได้เท่านั้น แต่จะยังคอยปกป้องรักษาทรัพยากรร่วมกันระดับชาติได้ดีกว่า เผื่อแผ่ไปยังกลุ่มอำนาจเดิมๆ ให้ดำรงอยู่ได้ พัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความสมบูรณ์รอบด้านทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไม่เว้าแหว่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

อย่าลืมว่า ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ มันเป็นสิ่งตกค้างมาจากอดีต ที่คนส่วนน้อยกุมอำนาจ มีสิทธิจัดการทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคม ซึ่งไม่ทั่วถึง เกิดสภาวะรวยกระจุก จนกระจาย จัดอยู่ในปริมณฑลของการเมืองเก่า มาบัดนี้ ประชาชนได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าภาพสร้างการเมืองใหม่ขึ้นแทนที่การเมืองเก่า นัยสำคัญก็คือสถาปนาอำนาจประชาชนซึ่งเป็นอำนาจของคนส่วนใหญ่ ขึ้นแทนที่อำนาจเก่าของคนส่วนน้อย มุ่งจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคมให้ทั่วถึงทุกส่วนของสังคม มีความเป็นธรรม และยังประโยชน์แก่ทุกกลุ่มชน คนไทยส่วนใหญ่จึงจะหลุดพ้นจากความยากจน ช่องว่างในสังคมจึงจะหดเล็กลงหรือหมดไป

เกี่ยวกับการทำงานแนวร่วม

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันบนเวที ก็คือเรื่องการทำงานแนวร่วม โดยคุณเทิดภูมิมองว่า ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำเป็นจะต้องทำงานแนวร่วมให้มากขึ้น เพื่อขยายฐานอำนาจประชาชน เอาชนะอำนาจทุนสามานย์

ในทัศนะของผม การทำงานแนวร่วม เพื่อสร้างการเมืองใหม่ตามทฤษฎีธูป 3 ดอก หมายถึงการทำงานกับนักวิชาการและสื่อมวลชน ให้พวกเขาเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการเมืองใหม่ที่ประชาชนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งผมมีหลักการใหญ่ๆ ว่า จะต้อง “เปิดกว้างและเสมอภาค” ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การเมืองใหม่ ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเจ้าภาพ เป็นแกนนำการสร้างการเมืองใหม่ โดยยึดมั่นในหลักปฏิบัติ “เปิดกว้างและเสมอภาค” นี่คือสัจธรรม ซึ่งก็คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธหรือทำให้เป็นอื่นไปได้

2. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำของขบวนการการเมืองภาคประชาชนในการต่อสู้ล้มล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ เป็นหัวขบวนของอำนาจประชาชนที่ก่อตัวขึ้นมาในท่ามกลางการต่อสู้และเอาชนะกลุ่มการเมืองทุนสามานย์มาได้เป็นลำดับ ได้สร้างฐานอำนาจการเมืองภาคประชาชนไว้อย่างหนาแน่นกว้างขวางระดับชาติ เป็นอำนาจนำที่กำลังแสดงบทบาทกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยอย่างเป็นจริง ประวัติศาสตร์ได้มอบหมายภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ขบวนการการเมืองภาคประชาชน ที่กลุ่มอำนาจอื่นใดจะปฏิเสธไม่ได้ และต้องยอมรับการนำของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนี้โดยปริยาย มิเช่นนั้น จะถูกกันออกไปจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย หมดสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเมืองใหม่ขึ้นในประเทศไทย

3. กระนั้น การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสามารถสามัคคีพลังรวมจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย มาดำเนินการทางการเมืองยุคใหม่ จำเป็นจะต้องใช้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เอื้ออำนวยให้กลุ่มและฝ่ายต่างๆ ปรับตัวเข้ามาอยู่ภายใต้การนำของพันธมิตรฯ ได้อย่างเหมาะสม สามารถแสดงบทบาทของตนได้อย่างถูกต้อง

4. เช่นเดียวกัน ใครคนใดใคร่เข้ามามีส่วนร่วมในการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ ก็จำเป็นต้องพาตัวเองเข้าร่วมขบวนกับพันธมิตรฯ โดยไม่รอช้า ร่วมแรงร่วมใจ ทุ่มเทและอุทิศตนด้วยจิตใจที่พร้อมเสียสละ ไม่กลัวอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง ระหว่างนั้น ก็นำเสนอแนวคิด วิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่เป็นระยะๆ เพื่อให้แกนนำพันธมิตรฯ พิจารณาปรับปรุงวิธีการนำ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการการเมืองภาคประชาชน “เจ้าภาพตัวจริง”ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญนี้

5. ในท่ามกลางกระบวนการที่กำลังก่อตัวดังกล่าว สืบเนื่องจากการต่อสู้จำกัดอยู่ในกรอบของการต่อสู้ทางความคิด ทางปัญญา โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ รูปแบบการต่อสู้จึงปรากฏออกมาเป็นการเล่าความ ลำดับเรื่องราว อธิบาย อภิปราย ถกเถียง โต้แย้ง เห็นพ้อง เห็นต่าง หลากหลายดารดาษ

6. ในส่วนของมวลชนที่ตื่นรู้ พร้อมที่จะเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ อย่างไม่มีเงื่อนไข (เป็น “กองหน้า” ที่ไว้ใจได้) นั้น ไม่มีปัญหาเรื่อง “ความเห็นต่าง” แต่ในส่วนของนักวิชาการ อาจารย์ นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และสื่อสารมวลชนของไทย การแสดงออกถึงความเห็นต่างไปจากพันธมิตรฯ กลายเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีฐานคิดหรือฐานปฏิบัติอันเป็นที่มาขององค์ความรู้เดียวกันกับเรา มองปัญหาและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมุมมองเฉพาะของตนเอง คำตอบที่ได้จึงยากจะตรงกับของเราหรือพันธมิตรฯ จะมีความ “เห็นต่าง”จากเราอยู่ในแทบทุกเรื่องเสมอ

7. ในกระบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่นี้ บรรดานักวิชาการและสื่อมวลชนเหล่านั้น แม้ไม่อยู่ในสถานภาพที่จะขัดขวางหรือทำให้เป็นอื่นไปได้ แต่หากไม่มีพวกเขาเข้าร่วมและสนับสนุน ก็ยากที่ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรฯ จะประสบความสำเร็จสมบูรณ์ในการล้างการเมืองเก่า-สร้างการเมืองใหม่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ ไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการสร้างการเมืองใหม่ตามที่ประชาชนชาวไทยมุ่งหวังได้

8. นักวิชาการและสื่อเป็นตัวผ่านทางความคิดไปสู่สังคมที่สำคัญ หากพวกเขายังคงความเห็นต่างจากเรา เผยแพร่ความเห็นต่างจากเรา ขอดค่อน ค่อนแคะ แขวะและโจมตีเราอยู่ไม่ขาด ความคิดความเห็นที่ถูกต้องก็ยากที่จะยึดพื้นที่สื่อได้ การลำเลียงปัญญาตื่นรู้ไปสู่มวลชนก็จะมีอุปสรรค ยิ่งกว่านั้น มวลชนจะยังคงพกเอาทัศนะ “เห็นต่าง” ไว้กับตัว กลายเป็นม่านกำบังมิให้พวกเขาเข้าถึงสัจธรรมที่ฝ่ายพันธมิตรฯ นำเสนอ ดังนั้น การทำให้พวกเขาละความเห็นต่าง เพิ่มความเห็นตรงกับพันธมิตรฯ ในเรื่องต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นภารกิจพื้นฐานประการหนึ่งของเราทุกคน

9. นักวิชาการและสื่อจึงเป็นคนสองกลุ่มที่พันธมิตรฯ จะต้องทำงานด้วยอย่างจริงจัง อาศัยแนวคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง ด้วยวิธีการและท่าทีที่ถูกต้องสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของนักวิชาการและผู้ทำงานด้านสื่อ

10. นั่นคือ ต้อง “เปิดกว้างและเสมอภาค” ต่อความคิดที่ “เห็นต่าง” ไม่มีทางอื่นใดที่จะดีไปกว่า “เปิดกว้าง – รับฟัง” พร้อมกับชี้แจง (หรือตอบโต้หากจำเป็น) โดยแยกแยะความ “เห็นต่าง” ออกจากความ “เห็นตรง” พยายามทำให้ความเห็นต่างลดลง และความเห็นตรงเพิ่มขึ้น (สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม) เพื่อเป็นฐานรองรับการปฏิสัมพันธ์กันฉันมิตรในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

11. สัจธรรมถึงอย่างไรก็เป็นสัจธรรม พันธมิตรฯ อยู่ในฐานะของความเป็น “เจ้าภาพ”ในปฏิบัติการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ เป็นผู้เริ่มต้น และเป็นผู้นำมาโดยตลอด อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอแนวคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศไทยและของโลกโดยรวมได้มากกว่า สามารถอรรถาธิบายแนวคิดการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ได้ดีกว่า สามารถแสดงออกถึงความเป็น “ผู้นำ” การขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างเป็นจริง

12. ทั้ง “ปัญญา” ที่แสดงออก และ “อำนาจ” ที่ปรากฏ ย่อมจะทำให้ความเห็นต่างของนักวิชาการและผู้ทำงานสื่อเหล่านั้นค่อยๆ ลดลงไป และเพิ่มส่วนที่ เห็นตรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในขบวนการการเมืองภาคประชาชน กระทั่ง ยอมรับบทบาทการนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งทางความคิดและทางจัดตั้งเป็นลำดับ และยอมที่จะเชื่อมตนเองเข้ามาอยู่ในครรลองของความเป็น “เจ้าภาพ” ร่วมกับเราได้ในที่สุด

13. ในกระบวนการดังกล่าว พันธมิตรฯ จะต้องปลอดจากกลิ่นอายของความเป็น “ผู้ผูกขาด” “ผู้เหนือกว่า”ทางปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่แสดงว่าเราคิดถูกทำถูกแต่ผู้เดียว) แต่เป็นผู้ที่พร้อมรับฟังเสียงที่ “ต่าง” ไปจากตนอย่างเปิดกว้างแบบไม่มีกรอบจำกัด ถือว่าความเห็นต่างเหล่านั้น ล้วนแต่เป็น “ข้อมูล” สะท้อนความเป็นจริงทางภววิสัยที่ปกติแล้วจะไม่อาจรับรู้ได้ สัมผัสได้

14. ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “เขา” กับ “เรา” นั้น จักต้องสร้างบรรยากาศของความ “เปิดกว้าง” และ “เสมอภาค” ตั้งแต่ต้นจนปลาย เราไม่ข่มเขา และเขาไม่ข่มเรา เราฟังเขาและเขาฟังเรา แม้ยังเห็นต่างก็ยังคุยกันต่อได้ และเมื่อใดที่เห็นตรงก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของทั้งสองฝ่าย

15. ทั้งนี้ เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ตัวกำหนดการเมืองใหม่อยู่ที่การปฏิบัติของมวลชน มวลชนเป็นเจ้าของหรือ “เจ้าภาพ” การขยายฐานมวลชนให้มวลชนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขบวนการเป็นเจ้าภาพร่วมกัน จึงเป็นภารกิจพื้นฐานประการหนึ่งของพันธมิตรฯ ผู้อยู่ในฐานะแกนนำของขบวนการเมืองภาคประชาชน “เจ้าภาพตัวจริง” ของการสร้างการเมืองใหม่ครั้งนี้

16. เมื่อทำถูกต้องแล้ว ทุกฝ่ายก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน ช่วยกันล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ได้โดยง่าย

17. การนำอย่างถูกต้อง จึงกลายเป็นสิ่งที่พันธมิตรฯ อีกนัยหนึ่งก็คือแกนนำพันธมิตรฯ จะต้องทำให้ได้

18. การเปิดกว้างและเสมอภาค คือสิ่งแรกๆ ที่จักต้องทำ และจำเป็นต้องทำให้ได้โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น