xs
xsm
sm
md
lg

สร้างการเมืองใหม่ด้วย“ทฤษฎีธูป 3 ดอก”

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ดอกที่ 1 ประชาชนเป็นเจ้าภาพ (โดยขบวนการการเมืองภาคประชาชน ที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำ)

ดอกที่ 2 สร้างอำนาจประชาชน (ด้วยกระบวนการประชาภิวัฒน์)

ดอกที่ 3 สถาปนาอำนาจประชาชนแทนที่อำนาจทุนสามานย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (วางรากฐานการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

บทวินิจฉัย

1. จุดเปลี่ยนปรากฏ (ธูปดอกที่ 1)

1.1 หลังวิกฤตเงินบาท (2540) โดยเฉพาะภายหลังจากกลุ่มทุนทักษิณ ในนามพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง จัดตั้งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในปี 2544 ปัจจัยทักษิณ “บล็อก”ประเทศไทย

1.2 ปัจจัยทักษิณ เป็น “ปัจจัยบังเอิญ”ที่ทำให้ความจำต้องเป็นไปในกระบวนการพัฒนา
ของประวัติศาสตร์ไทยยุคปัจจุบันที่ดำเนินไปในรูปแบบ “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง”สะดุดลง

1.3 ปัจจัยทักษิณ ทำลายกระบวนการขับเคลื่อนที่กำลังดำเนินไปในบัดดล ด้วยอำนาจทุนสามานย์ ที่บงการการทำงานของกลไกรัฐไปในทิศทางที่ตนต้องการแบบเฉียบพลัน เทียบเท่ากับการ “ล้างไพ่ใหม่”ทางสังคมการเมือง อำนาจฝ่ายตรงข้าม เช่น พรรคฝ่ายค้านเหลือเท่ากับศูนย์

1.4 ปัจจัยทักษิณ กระตุ้นให้เกิดแรงต้านอย่างเฉียบพลัน จากทั่วทุกด้าน เปิดช่องโอกาสทางประวัติศาสตร์ ให้ขบวนการการเมืองภาคประชาชนก้าวออกมาอยู่แถวหน้าสุดของการต่อต้านปัจจัยทักษิณ แสดงบทบาททางประวัติศาสตร์ในฐานะแกนนำ “ปัจจัยต่อต้านปัจจัยทักษิณ” อันกว้างขวางได้อย่างเป็นจริง

1.5 นั่นคือที่มาของ “ธูปดอกที่ 1” คือ ขบวนการการเมืองภาคประชาชน นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็น “เจ้าภาพ” นำพา “ปัจจัยต่อต้านปัจจัยทักษิณ” ปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์ 2 ก้าว คือ ก้าวที่หนึ่ง ขับไล่ทักษิณลงจากอำนาจ ก้าวที่สอง ล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่

2. องค์ประกอบฝ่ายธรรมะ (ธูปดอกที่ 2)

2.1 ปัจจัยต่อต้านปัจจัยทักษิณประกอบด้วยปัจจัยจารีตที่ทรงธรรม และปัจจัยก้าวหน้าจากภาคประชาชน เป็นสองปัจจัยหลักที่ร่วมมือกันต่อต้านปัจจัยทักษิณ

2.2 ปัจจัยต่อต้านปัจจัยทักษิณจากภาคประชาชน มีความพร้อมทางประวัติศาสตร์มากกว่า จึงแสดงบทบาทเป็นองค์นำตั้งแต่เริ่มแรก โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ตระหนักในบทบาทนำของภาคประชาชนในการพลิกประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งสำคัญนี้ ขณะที่ แม้ปัจจัยต่อต้านทักษิณในฝ่ายจารีตที่ทรงธรรมเป็นเพียงปัจจัยเสริม แต่ก็มีความสำคัญในลักษณะชี้ขาดอยู่ในตัว ภาคประชาชนจะขาดเสียมิได้ ต้องสามัคคี ต้องอิงอาศัยตั้งแต่ต้นจนปลาย

2.3 ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงจำกัดอยู่ในปริมณฑลการเมือง ซึ่งจัดอยู่ในส่วนของโครงสร้างชั้นบน อยู่ในกรอบของการปฏิรูป รูปแบบการต่อสู้จึงจำกัดอยู่ในกรอบของสันติวิธี ยึดมั่นในหลักอหิงสธรรม อิงตัวบทกฎหมาย อ้างความชอบธรรม เพี่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างนุ่มนวล โดยการเข้าร่วมและสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากมวลชนทุกระดับชั้น ดังนั้น ปัจจัยเสริมจึงมีความสำคัญในลักษณะชี้ขาดอยู่ในตัว

2.4 เมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ปัจจัยเสริมทางด้านกลไกอำนาจรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ข้าราชการทั่วไป ก็จะเคลื่อนตัวตามมา

2.5 ทั้งหมดรวมกันเข้าเป็น “ฝ่ายธรรมะ” ต่อสู้กับ “ฝ่ายอธรรม”
2.6 ปัจจัยต่อต้านปัจจัยทักษิณจากภาคประชาชน ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปของการ “จุดเทียนปัญญา” เป็นสำคัญ มุ่งติดอาวุธทางปัญญาให้แก่มวลชน

2.7 ยังผลให้ผู้ที่ใกล้ชิดข้อมูลข่าวสาร รู้ทันความชั่วร้ายของปัจจัยทักษิณ ตื่นตัว และพร้อมเข้าร่วมขบวนการการเมืองภาคประชาชน ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อตัวเป็นเครือข่ายกว้างขวางทั่วทั้งประเทศและในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว มีสถานภาพเป็นกำลังแก่นแกน อยู่ในฐานะ “กองหน้า”ของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

2.8 องค์ประกอบของกำลังส่วนนี้ มาจากทุกทิศทาง ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกฐานะ ทุกอาชีพ ทุกเพศวัย ยึดมั่นบนฐานร่วมกันคือ “ธรรม” “ความดี” “ความถูกต้อง” “ความชอบธรรม” เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วย “ใจ”ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน บนฐาน “ปัญญา”ร่วมกัน

3. สองฝ่ายขับเคี่ยวกันหนัก (ธูปดอกที่ 3)

3.1 เมื่อขบวนการภาคประชาชนขยายตัวเติบใหญ่ บีบให้ปัจจัยทักษิณต้องดิ้นรนต่อสู้ ด้านหนึ่งยึดครองอำนาจรัฐไว้ในมือให้มั่น พยายามพลิกเกมที่ตนเองเสียเปรียบ เพราะเป็นฝ่าย “ผิด” “ชั่ว” “อธรรม” อีกด้านหนึ่งบงการเจ้าหน้าที่ในกลไกอำนาจรัฐดำเนินการสกัดกั้น ปิดล้อม บั่นทอน ทำลายการพัฒนาขยายตัวของขบวนการการเมืองภาคประชาชน ในภาวะเช่นนี้ ได้กระตุ้นให้เกิดปัจจัยต่อต้านทักษิณใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างเปิดเผย ต่อหน้าต่อตามวลประชามหาชน กระตุ้นให้มวลชนส่วนใหญ่แยกแยะได้ว่า ใครถูกใครผิด สามารถตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เร็วขึ้น

3.2 กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กรรมกรผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน รวมทั้งนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ได้เข้าร่วมอย่างแข็งขัน ทำให้อำนาจต่อรองของขบวนการการเมืองภาคประชาชนเติบใหญ่เข้มแข็ง แสดงบทบาทเป็นอำนาจนำทางการเมืองของประเทศไทยได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

3.3 ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะเข้าร่วมอย่างมีลักษณะจัดตั้ง มีแกนนำที่ชัดเจน ส่วนกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษามากันเองเป็นกลุ่มๆ ตามการตื่นตัว สำหรับปัญญาชนนักวิชาการที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่มาจากการวิเคราะห์หาคำตอบด้วยตนเอง กระโดดเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ แบกรับภารกิจทางด้านการต่อสู้ทางความคิดทฤษฎีกับนักวิชาการฝ่ายปัจจัยทักษิณ โดยผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

3.4 อนึ่ง เนื่องจากเนื้อหาหลักของการต่อสู้กับปัจจัยทักษิณ อยู่ที่การสร้างปัญญาตื่นรู้ จัดอยู่ในปริมณฑลของการต่อสู้ทางความคิด คู่ต่อสู้ของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งจึงเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เห็นต่าง ทั้งที่สังกัดและไม่สังกัดปัจจัยทักษิณ รวมทั้งสื่อมวลชนบางส่วนที่ยึดถือในความคิดทฤษฎีของกลุ่มนักวิชาการเหล่านั้น

3.5 คาดว่า การต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายพันธมิตรฯ กับกลุ่มนักวิชาการเหล่านั้น จะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ และพัฒนาเป็นรูปแบบการต่อสู้สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการประชาภิวัฒน์ (สร้างขบวนการการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งด้วยการติดอาวุธทางปัญญา) ของขบวนการการเมืองภาคประชาชน เพื่อเอาชนะกลุ่มทุนสามานย์อย่างเบ็ดเสร็จ

3.6 ในภาพรวม การต่อสู้กันระหว่างขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มทุนสามานย์ ได้ดำเนินมาสองระลอก ระลอกแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 – กุมภาพันธ์ 2549 และกุมภาพันธ์– กันยายน 2549 (ขับไล่ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ระลอกที่สองตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม - ปัจจุบัน (ล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่) ผลปรากฏว่า ขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้รับชัยชนะมาโดยตลอด

3.7 ณ วันนี้ ขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำได้กลายเป็นอำนาจนำทางการเมืองของประเทศไทยไปแล้วโดยปริยาย แสดงบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาของการเมืองไทยได้อย่างเป็นจริง นั่นคือ ได้เกิดกระแสต่อต้านการเมืองเก่า ปฏิเสธการเมืองเก่าอย่างชัดเจนทั่วทั้งประเทศ และยอมรับการเมืองใหม่ เข้าร่วมการสร้างเมืองใหม่อย่างกว้างขวางระดับชาติ กระทั่งเป็นที่สนใจของนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อสรุปเบื้องต้นในความสำเร็จของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะแกนนำขบวนการการเมืองภาคประชาชน มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองในการนำ ทั้งทางความคิด และทางจัดตั้ง ยึดมั่นในหลักการพื้นฐานสามประการคือ

1. ขบวนการการเมืองภาคประชาชนแสดงตนเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทย จากการเมืองเก่าสู่การเมืองใหม่ เพื่อเปิดหน้าใหม่ประวัติศาสตร์ไทย

2. ถือเอาการสร้างอำนาจประชาชน ด้วยการจุดเทียนปัญญา สร้างอำนาจทางปัญญาเป็นภารกิจพื้นฐาน โดยใช้เครือข่ายการสื่อสารทันสมัยในสังกัดบริษัทผู้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างพลิกแพลง เป็นโครงข่ายอำนาจที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจทำลายได้

3. ตระหนักในความเป็นอำนาจนำ อำนาจกำหนด อำนาจกำกับของอำนาจประชาชน มุ่งสถาปนาอำนาจประชาชนแทนที่อำนาจทุนสามานย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ปูพื้นฐานให้แก่การเมืองใหม่ของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญหน้าก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ประชาชนคนไทยมีชีวิตสุขอย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืนชั่วลูก หลาน เหลน มีสถานภาพเป็นอารยประเทศที่คนทั้งโลกให้ความนับถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น