xs
xsm
sm
md
lg

‘บุช’ ยืนยันออก กม.ช่วยแบงก์ แม้สภาสหรัฐฯคว่ำแผน$7แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บุช”ให้คำมั่นวานนี้(30ก.ย.) ต่อสู้ผลักดันแผนช่วยชีวิตภาคการเงินต่อไป ขณะที่บรรดาผู้นำโลกก็เรียกร้องสหรัฐฯลงมือปฏิบัติการ หลังสภาล่างอเมริกันทำเซอร์ไพรซ์ ไม่ยอมอนุมัติร่างกฎหมาย 7 แสนล้านเหรียญ จนทำเอา “วอลล์สตรีท” ดำดิ่งติดลบหนักที่สุดเป็นสถิติใหม่ ก่อนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะกลับเงยหน้าขึ้นได้บ้าง เพราะนักลงทุนเชื่อว่า มาตรการช่วยเหลือจะต้องผ่านออกมาใช้จนได้ในที่สุด

“ความเป็นจริงก็คือเรากำลังอยู่ในสถานการณ์อันเร่งด่วน และผลต่อเนื่องก็จะเพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันที่เราไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย” ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แถลงเตือนจากทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ หนึ่งวันหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 228 ต่อ 205 เสียง ไม่ยอมรับร่างกฎหมายที่มุ่งแก้วิกฤตในภาคการเงิน ด้วยการใช้เงินที่อาจสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อสินทรัพย์มีปัญหา

“เรากำลังอยู่ในช่วงขณะแห่งวิกฤตสำหรับเศรษฐกิจของเรา และเราจำเป็นต้องมีกฎหมายที่สามารถจัดการอย่างเด็ดขาด กับบรรดาสินทรัพย์มีปัญหาซึ่งเวลานี้กำลังอุดตันระบบการเงินอยู่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บรรดาผู้ปล่อยกู้สามารถฟื้นฟูกระแสไหลเวียนของสินเชื่อ ไปให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจ และเปิดทางให้เศรษฐกิจอเมริกันเคลื่อนไหวได้อีกครั้งหนึ่ง” เขากล่าว

บุชพูดถึงการที่สภาคองเกรสปฏิเสธไม่ยอมรับแผนช่วยชีวิตภาคการเงินของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้ตลาดวอลล์สตรีททรุดฮวบ พร้อมกับกล่าวยืนกรานว่า “นี่ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการเพื่อการออกกฎหมายนี้” อีกทั้งสำทับรัฐสภาว่า “เพื่อความมั่นคงทางการเงินสำหรับชาวอเมริกันทุกคน คองเกรสจะต้องลงมือปฏิบัติการ”

คำแถลงของบุชเป็นการสอดประสานกับของผู้นำหลายคนในโลก ที่เรียกร้องให้สหรัฐฯต้องรีบแก้ไขสถานการณ์

“สหรัฐฯจะต้องเข้าแสดงความรับผิดชอบของตนในสถานการณ์นี้ ต้องแสดงความเป็นรัฐบุรุษเพื่อประโยชน์แห่งบริษัทของพวกเขาเอง และเพื่อประโยชน์แห่งโลก” โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป โจฮันเนส ไลเตนเบอร์เกอร์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ก็ออกมาเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จัดการลงมติแผนการกอบกู้ภาคการเงินนี้อีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ของออสเตรเลียที่บอกว่า บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯจะต้องช่วยกันผลักดันให้วอชิงตันต้องลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหา

กระทั่ง ทาโร อาโซะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่เอี่ยมของญี่ปุ่น ก็แถลงว่า “เราไม่ควรปล่อยให้ระบบการเงินของโลกต้องพังทลายลงไป” ส่วนนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษบอกว่า เขาได้ส่งสารไปถึงทำเนียบขาว ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินปฏิบัติการอันเด็ดเดี่ยว

**สภาผู้แทนฯสหรัฐฯคว่ำแผน7แสนล้านเหรียญ

ทั้งๆ ที่พวกผู้นำรัฐสภาทั้งฝ่ายเดโมแครตและฝ่ายรีพับลิกัน กับทางรัฐบาลประธานาธิบดีบุช นำโดยรัฐมนตรีคลัง เฮนรี พอลสัน พร้อมด้วย ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เบน เบอร์นันกี ได้มีการเจรจาต่อรองกันกว่าสัปดาห์ จนในที่สุดก็ออกมาแถลงว่าเห็นพ้องต้องกันแล้วในรายละเอียดของร่างกฎหมายเกี่ยวกับแผนการ 700,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือล้างสินทรัพย์มีปัญหาของระบบการเงิน อันหวังกันว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโดยรวมต้องทรุดตัวยิ่งไปกว่านี้

ทว่าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเต็มไปด้วยการอภิปรายที่เร้าอารมณ์ ปรากฏว่า ส.ส.สายอนุรักษนิยมของพรรครีพับลิกัน กับ ส.ส.กบฎของพรรคเดโมแครต ก็ได้ร่วมมือกันทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไป

ประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี เปโลซี แถลงให้สัญญาว่าจะกลับมาทำงานเพื่อผ่านร่างกฎหมายนี้ให้ได้ ทว่า สเตนี ฮอยเออร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งก็คือผู้นำของฝ่ายรีพับลิกัน กล่าวว่า สภาล่างจะต้องหยุดพักการประชุมไปจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี(2ต.ค.) เนื่องจาก ส.ส.จำนวนมากต้องกลับภูมิลำเนา เนื่องในวันหยุดปีใหม่ของชาวยิว

เดวิด โอเบย์ ส.ส.อาวุโสคนหนึ่งของฝ่ายเดโมแครต ได้แสดงปฏิกิริยาอย่างขมขื่น ด้วยการระบุว่า บรรดาผู้นำของรีพับลิกัน รวมทั้งประธานาธิบดีบุช และ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จอห์น แมคเคน ต่างก็ไม่มีความสามารถโดยสิ้นเชิงที่จะควบคุมพรรคของพวกเขาเอง

เขาบอกว่า ฝ่ายรีพับลิกันไม่สามารถรักษาสัญญาที่คุยไว้ว่า จะทำให้ ส.ส.ฝ่ายตนยอมสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นจำนวน 50% บวกกับอีก 1 เสียง ขณะที่ทางฝ่ายเดโมแครตนั้น สามารถระดมเสียง ส.ส.มาสนับสนุนได้เป็นจำนวน 60%

หลังการลงมติของสภา ประธานาธิบดีบุชได้เรียกประชุมที่ปรึกษาระดับท็อปเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งล่าสุดคราวนี้ โดยที่ขุนคลังพอลสันก็เข้าร่วมด้วย ขณะที่ 2 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ โอบามา และ แมคเคน ถึงแม้จะมีการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นคราวนี้ด้วย แต่ก็ต่างออกมายืนยันว่า สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และเรียกร้องให้สภาใช้ความพยายามอีกครั้ง เพื่อผ่านออกมาบังคับใช้

สำหรับปฏิกิริยาของตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีท ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันจันทร์ โดยหล่นลงมา 777.68 จุด หรือ 6.98% ถ้าหากดูกันเฉพาะตัวเลข ก็ถือเป็นการทรุดตัวหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือพิจารณาจากจำนวนเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นการหล่นลงในรอบหนึ่งวันหนักที่สุดภายหลังจากคราวตลาดหุ้นถล่มทลายในปี 1987

เมื่อถึงช่วงเปิดทำการของตลาดแถบเอเชีย ราคาหุ้นก็ยังทรุดตามวอลล์สตรีท โดยเฉพาะสำหรับตลาดที่ปิดทำการไปก่อน ส่วนใหญ่จะติดลบหนัก อาทิ โตเกียว –4.1%, ซิดนีย์ –4.3%, ไทเป –3.55% แต่ก็มีบางตลาดที่ปิดทำการช้ากว่า ปรากฏว่าดัชนีหุ้นสามารถดีดตัวขึ้น เป็นต้นว่า ฮ่องกงปิดโดยบวก 0.8% ทั้งที่มีช่วงหนึ่งตกลงไปกว่า 6% ทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนมองกันว่า แม้ร่างกฎหมายช่วยภาคการเงินจะถูกคว่ำในคราวนี้ แต่ในที่สุดแล้ว รัฐสภาสหรัฐฯก็จะต้องผ่านมาตรการช่วยเหลือในลักษณะใดลักษณะหนึ่งออกมาจนได้

ในการซื้อขายวานนี้ของตลาดแถบยุโรปก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน โดยกลับกระเตื้องขึ้นได้หลังทรุดลงในตอนแรกๆ ทั้งนี้ในตอนบ่ายๆ ลอนดอน +0.86%, ปารีส +0.30%, แต่แฟรงเฟิร์ตยังคงติดลบ 1.35% เนื่องจากมีความวิตกไม่หายเกี่ยวกับฐานะของภาคธนาคาร

สำหรับวอลล์สตรีทวานนี้ ไม่นานหลังเปิดตลาด ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ก็กระโจนพรวดขึ้นมา 2.12%

**ทั่วโลกใช้มาตรการป้องกันภาคการเงิน

สำหรับสถานการณ์ของภาคการเงินการธนาคาร ยังคงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง และหลายประเทศประกาศใช้มาตรการในลักษณะป้องกันภาคการเงินของตนเอง

ในยุโรป ไอร์แลนด์ประกาศแผนการรับประกันเงินฝากทั้งหมดที่อยู่ในทุกๆ ธนาคารในประเทศตน ส่งผลให้ราคาหุ้นภาคธนาคารของประเทศนี้พุ่งทะยาน

ด้านฝรั่งเศสก็ประกาศจับมือเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก อัดฉีดเงินต่อชีวิต 6,400 ล้านยูโรให้แก่แบงก์ เดกเซีย อีกทั้งแจ้งว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือธนาคารอย่างใหม่ๆ ประกาศออกมาในสิ้นสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ได้เริ่มหารือถึงวิกฤตคราวนี้กับพวกผู้บริหารในภาคการเงินตั้งแต่เมื่อวาน โดยเขากล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ยังจะพบปะกับพวกเจ้าหน้าที่จากชาติยุโรปที่เป็นสมาชิกในกลุ่มจี8 (กลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก)

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศ ได้มีการประกาศห้ามทำชอร์ตเซลในการซื้อขายหุ้น อาทิ รัสเซีย, เกาหลีใต้, และไต้หวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น