xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการเงินสู่วิกฤตเฮดจ์ฟันด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ได้ปรากฎออกมาให้เห็นกันแล้วในขณะนี้ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงก็คือ วิกฤตของบรรดาสถาบันการเงินในต่างประเทศรวมถึงบรรดา "กองทุนเก็งกำไร" หรือ "เฮดจ์ฟันด์" ที่กำลังพากันขาดทุนอย่างหนัก จนหลายรายต้องปิดตัวกันลงไปโดย เฉพาะรายเล็ก เพราะไม่สามารถรับมือกับผลกระทบอันใหญ่หลวงครั้งนี้ได้ ทำให้ต้องมีการขายสินทรัพย์ที่ตนเองลงทุนอยู่ ส่งผลไปถึงตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวดิ่งลงอยู่เป็นระยะรวมทั้งตลาดหุ้นของประเทศไทยด้วย

ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงินที่ สหรัฐอเมริกาและยุโรป จนรัฐบาลต้องเข้าไปโอบอุ้มกิจการสถาบันการเงินเหล่านั้นถึงรอดตัวมาได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่างๆที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกมาช่วยเหลือ ทั้งการคํ้าประกันเงินฝากคํ้าประกันเงินฝาก ลดอัตราดอกเบี้ย หรือแม้แต่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าวิกฤติสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รุนแรงอย่างมากและยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ง่าย โดยทางด้านของนักวิเคราะห์ มองว่า วิกฤตสถาบันการเงินในครั้งนี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดไปตามๆกัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังเลวร้ายอยู่เช่นนี้ ทั้งๆที่เคยกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ว่า เฮดจ์ฟันด์จะต้องให้ผลตอบแทนอย่างดีไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ "ตลาดกระทิง" หรือ "ตลาดหมี" ก็ตาม

ทั้งนี้ เฮดจ์ฟันด์ในช่วงแรกเริ่มที่มีการก่อตั้งขึ้นนั้นเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะรับเฉพาะนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนที่มาก และมักจะถูกมองด้วยการความสงสัยเนื่องจากการดำเนินงานอย่างลึกลับและใช้ยุทธวิธีในการลงทุนอย้างเช่นการทำ ชอร์ตเซล แต่ผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ดีทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย จนกองทุนประเภทนี้ขยายตัวออกไปทั่วโลก ซึ่งประมาณการกันว่าเวลานี้มีมูค่ารวมกันทั้งสิ้นราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่จากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ไม่ดีอย่างมากในยามนี้ ทำให้เฮดจ์ฟันด์บางแห่งต้องปิดตัวลงไป รวมถึงอาจจะต้องเกิดกระแสการรวมกิจการกันก็เป็นไปได้ โดยกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนหนักที่สุดคือ รายที่เข้ามาลงทุนในเอเชีย ซึ่งเฮดจ์ฟันด์ที่มีฐานที่ลงทุนในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น ต้องขาดทุนไปมากกว่า 20% ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้

จนถึงกับมีเสียงจากพ่อมดทางการเงินซึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง จอร์จ โซรอส ที่ออกมาบอกว่าวิกฤตการางการเงินโลกได้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเฮดจ์ฟันด์หดตัวลงจนอาจจะเหลือเพียง 1 ใน 3 ของขนาดในปัจจุบัน ในขณะนี้บรรดามหาเศรษฐีที่เคยเข้ามาลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุนที่แทบไม่มีการควบคุมกำกับตรวจสอบใด ๆ จนทำให้กองทุนราวหนึ่งหมื่นแห่งทั่วโลกมีเม็ดเงินอยู่ถึง 1,900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นพากันถอนเม็ดเงินออกไปเพราะกลัวว่าอุตสาหกรรมนี้จะล้มละลาย

นอกจากนั้น ยังทำให้นักลงทุนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนระดับสถาบันอย่างเช่น กองทุนเงินบำนาญ ซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์การลงทุนอันค่อนข้างเข้มค้ำคออยู่ ต้องรีบหาทางไถ่ถอนการลงทุน จนกลายเป็นการบังคับให้เฮดจ์ฟันด์บางแห่งต้องระบายสินทรัพย์ที่ตนเองถือครองออกมาขาย แม้จะได้ราคาที่ขาดทุน เพื่อจะได้มีเงินทองมาจ่ายให้ผู้ต้องการไถ่ถอน

กระแสความเคลื่อนไหวเช่นนี้เอง กลายเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้มีการเทขายหลักทรัพย์ และทำให้ราคาหุ้นทั่วโลกลดลงและแบงก์ต่างๆที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทั้งหลาย กำลังหันมาบีบบังคับให้ลูกค้าเงินกู้ซึ่งก็มีพวกเฮดจ์ฟันด์รวมอยู่ด้วย ต้องจ่ายคืนหนี้สินโดยเร็ว ซึ่งโดยปกติแล้วกองทุนเฮดจ์ฟันด์มักมีการระดมกู้ยืมเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การวางเดิมพันในตลาดของตนมีน้ำหนักมีอิทธิพลเต็มที่

ผลจากการเทกระหน่ำขายหุ้นของพวกกองทุนเช่นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทชั้นดีรายใหญ่สุดๆ ของโลกบางรายไปด้วย อาทิ เอชเอสบีซี ธนาคารใหญ่ที่สุดของยุโรปที่มีธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในเอเชีย อีกทั้งสามารถอยู่รอดมาได้ค่อนข้างปลอดภัยตลอดเวลาหลายๆ เดือนที่เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมการธนาคารทั่วโลก

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญทางการลงทุน นางสาวศิริพร สุวรรณการ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของเฮดจ์ฟันด์ในครั้งนี้ว่า สถานการณ์ของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ประสบความเสียหายอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะได้รับผลกระทบมากจากเรื่องของกลยุทธ์ในการลงทุนของทางเฮดจ์ฟันด์เองที่มีความสลับซับซ้อนและหลากหลายกว่าการลงทุนโดยทั่วไป เช่นกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะเป็นเหมือนการกู้ยืมเพื่อมาลงทุน เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาจึงส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อกองทุนเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบรรดาเฮดจ์ฟันด์ในขณะนี้ เมื่อมองประกอบกับวิกฤตของสถาบันการเงินในสหรัฐแล้วถือว่า ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดในเรื่องการลุงทน หากแต่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ที่ เฮดจ์ฟันด์ ใช้ในการลงทุนที่ไม่เหมาะกับในช่วงที่เศรษฐกิจและการลงทุนในภาพรวมอยู่ในช่วงขาลง

ดังนั้น ในระยะต่อจากไปนี้ การปรับตัวของทางเฮดจ์ฟันด์จะเป็นไปในลักษณะของการก่อหนี้ที่น้อยลง ขณะที่สินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ก็จะมีราคาที่ลดลง เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบ 2 เด้งเลยทีเดียว และเมื่อมองไปที่กลยุทธ์ในการลงทุนแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ระดับที่สูงอยู่ ทำให้นักลงทุนมีความกลัวที่จะลงทุนในเฮดจ์ฟันด์อยู่มาก

ส่วนแนวโน้มของ เฮดจ์ฟันด์ ในช่วงต่อจากนี้ไปหากยังได้รับผลกระทบขาดทุนอย่างต่อเนื่องก็คงต้องปิดตัวลง เหมือนกองทุนอื่นที่ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีการปิดตัวลงไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันภาวะของตลาดหุ้นที่มีการเทขายอย่างมากเป็นเพราะ เฮดจ์ฟันด์ เหล่านี้ต้องการขายทรัพย์สินเพื่อทำการชำระบัญชีของตนเองที่ขาดทุนอยู่

"ในส่วนของ บลจ. พรีมาเวสท์ เองไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดทุนของ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ นี้แต่อย่างใด" นางสาวศิริพร กล่าว

เรียกได้ว่าวิกฤตสถาบันการเงินครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่สถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงระดับประเทศและลามไปทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว จนมีปัญหาออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง จนนักลงทุนทั้งหลายเก็บเงินไว้กับตัวเองเป้นจำนวนมากเพราะไม่ความมั่นใจในการลงทุนใดๆทั้งสิ้น และจับตาสถานการณ์พร้อมๆ กับภาวนาให้สถานการณืนี้จบลงโดยเร็ว ก็ต้องจับตาดูกับต่อไปว่าความรุนแรงครั้งนี้และผลกระทบจะจอดสนิทอยู่ที่ไหน เมื่อไรและเวลาใด



กำลังโหลดความคิดเห็น