xs
xsm
sm
md
lg

แนะคลังจับมือแบงก์ชาติพยุงศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยชี้ ต้นทุนกู้เงินต่างประเทศพุ่ง 0.3% เหตุ สภาพคล่องในตลาดการเงินได้เหือดหายไป หลังสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาต้องการเงินชดเชยการขาดทุน ส่งผลภาคเอกชน เบรกแผนระดมทุนจากเมืองนอก หันมากู้ภายในประเทศกันมากขึ้น ฝากการบ้านรัฐมนตรีคลังคนใหม่ หารือกับแบงก์ชาติ จัดการสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอ หวั่นหากเกิดปัญหาจะฉุดเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปอีก

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การที่ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศปรับสูงขึ้นไปอีก 0.3% หลังเกิดปัญหาการล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ เป็น Libor บวก 1.7% จากที่ก่อนหน้านี้ปัญหาการเมืองได้ทำให้ต้นทุนอยู่ที่ Libor บวก 1.4% มาแล้วรอบหนึ่งนั้น สาเหตุเป็นเพราะสภาพคล่องในตลาดการเงินได้เหือดหายไป เนื่องจากความจำเป็นของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีการเพิ่มทุน เพื่อมาชดเชยในส่วนที่มีการ “Write off" การขาดทุนออกไปนั่นเอง
ทั้งนี้ เมื่อต้องมีการระดมทุนอย่างมโหฬารเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินรอบนี้ เลยทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกไม่ค่อยดี ประกอบกับภาวะวิกฤตินักลงทุนจึงไม่มั่นใจที่จะไปลงทุนในตราสารทั้งหมด ทำให้การปล่อยกู้มีปัญหา ต้นทุนในตลาดการเงินจึงขยับสูงขึ้น รวมทั้งสเปรดเองก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามไปด้วย และจริงๆภาคเอกชนที่มีแผนจะระดมทุนจากต่างประเทศอาจจะกู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าสภาพคล่องยังมีปัญหาแบบนี้
นายณัฐพล กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤตสถาบันการเงิน ซึ่งจากกรณีศึกษาพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตก็ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยเสมอ โดยในช่วง Crisis อัตราดอกเบี้ยจะแพงขึ้น เพราะสภาพคล่องหดหาย เมื่อไม่มีการลงทุน ไม่มีการกู้ยืม ไม่มีการซื้อขาย เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ หลังจากนั้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยจึงจะปรับตัวลงมา ดังนั้น เมื่อวงจรเป็นแบบนี้ นักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการที่จะให้มีการลดดอกเบี้ยในขณะนี้เลยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คงจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนั้นคงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนักสำหรับตลาดการเงินที่แท้จริง เป็นเพียงแค่ว่าทางการส่งสัญญาณให้เห็นว่าดอกเบี้ยควรจะอยู่ในระดับใดเท่านั้น แต่ในเมื่อดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดยังสูงขึ้น และสเปรดก็ยังเพิ่มขึ้น การที่จะลดดอกเบี้ยอ้างอิงก็ไม่ช่วยอะไรในภาวะเช่นนี้
สำหรับผลกระทบกับประเทศไทย นายณัฐพล กล่าวว่า ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น มีต้นทุนเงินกู้ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง หรือภาคธุรกิจเอกชนก็ตาม เพราะฉะนั้นแนวโน้มก็คงจำเป็นที่จะต้องหันมากู้ภายในประเทศกันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการดูแลสภาพคล่องอยู่ตลอดเวลา ด้วยการออกพันธบัตรระยะสั้นของแบงก์ชาติเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ดังนั้น หากดูตัวเลขที่แบงก์ชาติมีการออกพันธบัตรเป็นจำนวนคงค้างถึง 1.5 ล้านล้านบาท ย่อมแสดงว่าไทยยังมีสภาพคล่องที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
โดยขณะนี้ แบงก์ชาติเองก็มีความต้องการที่จะลดปริมาณการให้ต่างชาติมาระดมทุนในตราสารหนี้ของไทยให้น้อยลง เพราะโดยทิศทางแล้วบริษัทเอกชนของไทย จะต้องกลับมากู้ในประเทศเพิ่มมากขึ้นแน่นอน หากยังให้ต่างชาติระดมเงินได้มากๆอยู่ ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ ซึ่งแบงก์ชาติคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเช่นนั้น
นายณัฐพล กล่าวว่า ดังนั้นหากในปีหน้าทางกระทรวงการคลังจำเป็นจะต้องระดมทุนในประเทศถึง 4.3 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีภาคเอกชนที่ไปกู้ต่างประเทศไม่ได้ต้องหันกลับมากู้ภายในประเทศแทนอีกจำนวนหนึ่ง รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องหารือกับทางแบงก์ชาติว่าจะทำอย่างไรให้สภาพคล่องในระบบมีเพียงพอและไม่เกิดปัญหา
“ถ้าเราดูตอนวิกฤตปี 40 ก็จะพบว่าเอกชนไทยต้องกลับมากู้ในประเทศมากขึ้น ครั้งนี้ก็คงจะไม่ต่างกัน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นส้มหล่นของตลาดตราสารหนี้ที่ทำให้มีการออกหุ้นกู้มากขึ้น ก็จะเท่ากับมีซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น การบ้านของรัฐมนตรีคลังคนใหม่ คือทำอย่างไรจึงไม่ให้สภาพคล่องลดและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจนเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปอีก นอกเหนือจากการค้าทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่าจะไม่น่าจะแจ่มใสเท่าใดนัก ” นายณัฐพล กล่าว
ก่อนหน้านี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย รายงานภาวะตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2551 ว่า มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการออกรวม 7,393,272 ล้านบาท โดยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่มากที่สุด มูลค่า 5,925,582 ล้านบาท หรือประมาณ 80% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจาก 2,618,704 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial Paper: CP) มูลค่า 735,938 ล้านบาท ส่วนพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลังมีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 157,502 ล้านบาท และ 326,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ ในปี 2552 คาดว่าตั๋วเงินคลังจะมีการออกมาประมาณ 450,000 – 480,000 ล้านบาท เพื่อออกมารองรับการชดเชยงบประมาณและพันธบัตรที่มีอายุครบการไถ่ถอน โดยแบ่งออกเป็นพันธบัตรที่มีอายุ 5 ปีและ 10 ปี ประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมการเข้าไปลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าสูงสุดที่กระทรวงการคลังเคยออกตั๋วเงินคลังมา
กำลังโหลดความคิดเห็น