xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเอฟซีชี้หุ้น-ศก.ทั่วโลกผันผวนต่อ บอนด์ภาครัฐรับอานิสงส์มูลค่าตลาดกระเตื้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.เอ็มเอฟซี ยืนยันปลอดการลงทุนใน 3 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ “Lehman Brothers-AIG - Merrill Lynch” ย้ำยังคงระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมระบุตลาดหุ้นทั่วโลก ยังผันผวนอีกระยะ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก ชี้การลงทุนช่วงนี้ ต้องเน้นหุ้นความเสี่ยงต่ำ ส่วนตราสารหนี้ภาครัฐ รับผลดี มูลค่าตลาดปรับเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนยังมี

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์สถาบันการเงิน 3 แห่งที่มีปัญหาของสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้แก่ การล้มละลายของบริษัท Lehman Brothers การประสบปัญหาทางการเงินของกลุ่ม AIG และ บริษัท Merrill Lynch ในส่วนของบลจ.เอ็มเอฟซีนั้น ไม่มีกองทุนรวมภายใต้การจัดการที่ลงทุนในตราสารทุน หรือลงทุนในตราสารหนี้ใดๆที่ออกหรือค้ำประกันโดยบริษัททั้ง 3 แห่งดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานั้น บริษัทได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนในตลาดทั่วโลกอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมโดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทมีระบบการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้มงวด และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของตราสารและสถานะบริษัทที่กองทุนจะลงทุน โดยเน้นให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อมุ่งเน้นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม พอร์ตการลงทุนจะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงตามสภาวะตลาด (Market risk) และราคาตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงทางเครดิตบางส่วนที่ปรับตัวลงตามภาวะตกต่ำของตลาดตราสารหนี้ดังกล่าว (Credit risk) ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง (ดัชนี Dow Jones 30 Industrial Index ปรับตัวลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 4.42) เพราะนักลงทุนขายหลักทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน นอกจากนี้ ด้านตราสารหนี้ นักลงทุนหันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น เป็นผลดีกับตราสารหนี้ภาครัฐและทำให้มูลค่าตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง แต่ก็มีความผันผวนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บลจ.เอ็มเอฟซี รายงานสรุปผลกระทบวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาต่อการลงทุนในต่างประเทศว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติการณ์ซับไพร์มซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อสถาบันการเงิน ล่าสุดบริษัท เลแมห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจ 1 ใน 5 ของยักษ์ใหญ่วอลล์สตรีท ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายภายหลังประสบปัญหาขาดทุนจากวิกฤตจำนองในสหรัฐและไม่สามารถเจรจาหาผู้ซื้อกิจการได้รวมทั้งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ในขณะเดียวกันบริษัท เมอร์ริล ลินซ์ ได้ถูกกดดันให้ต้องยอมรับการเทคโอเวอร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา นอกจากนี้ยังมีกรณีบริษัทประกันเอไอจีที่พยายามหาทุนเพิ่มเพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือของบริษัท และถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P’s และ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง (จากระดับ AA สู่ระดับ A- โดย S&P และจากระดับ Aa3 สู่ระดับ A2 โดย Moody) จากสถานการณ์ข้างต้นส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นต่อความอยู่รอดของสถาบันการเงินในสหรัฐ แนวโน้มผลกำไร และผลกระทบของวิกฤตที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดหลักทรัพย์ได้คลายความกังวลลงจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีแผนเข้าช่วยเหลือแก่บริษัทประกันเอไอจี โดยการปล่อยกู้ประมาณ 8.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นการปล่อยสินเชื่อระยะ 2 ปี โดยรัฐบาลสหรัฐจะถือครองหุ้น 79.9% ในเอไอจีเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีสิทธิ์คัดค้านการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เอไอจีดำเนินธุรกิจ และสามารถขายธุรกิจบางแห่งออกและนำรายได้จากการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทมาใช้ในการชำระหนี้ที่กู้ยืมจากเฟดครั้งนี้

ส่วนผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนทำการขายหลักทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน และทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง (ดัชนี Dow Jones 30 Industrial Index ปรับตัวลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 4.42) นอกจากนี้ ด้านตราสารหนี้ นักลงทุนหันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น เป็นผลดีกับตราสารหนี้ภาครัฐและทำให้มูลค่าตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงแต่ก็มีความผันผวนเช่นกัน

ทั้งนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศภายใต้การบริหารของ เอ็มเอฟซี มิได้มีการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัทดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม พอร์ตการลงทุนยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงตามสภาวะตลาด (Market risk) และราคาตราสารที่มีความเสี่ยงทางเครดิตบางส่วนที่ปรับตัวลงตามภาวะที่แย่ลงของตลาดตราสารหนี้ดังกล่าว (Credit risk)

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศในช่วงนี้ ในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศนั้น เอ็มเอฟซี ยังคงระมัดระวังและจะติดตามข้อมูลและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงมีความผันผวนจากความกังวลในความมั่นคงของสถาบันการเงินและผลกระทบต่อการชะลอตัวต่อเศรษฐกิจโลกอีกระยะ กอปรกับจะซื้อขายเพื่อรับรู้กำไรเข้าพอร์ตการลงทุนเป็นรอบ ๆ ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้จะเน้นการลงทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ และหลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา

ในส่วนของตราสารหนี้ เอ็มเอฟซีได้ติดตามข้อมูลและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเลือกลงทุนในตราสารหนี้อย่างระมัดระวัง โดยแนวทางการลงทุนในช่วงนี้จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ และเน้นความมั่นคงสูงของสถาบันผู้ออกตราสาร อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวคาดว่าการที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมในแต่ละกรณีจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาค่อย ๆ ปรับตัวและมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น