xs
xsm
sm
md
lg

8เดือนตราสารหนี้ใหม่โต7.4ล้านล. ThaiBMAชี้เลห์แมนฯกระทบไทยเล็กน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ชี้เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลายกระทบต่อไทยในทางอ้อมมากกว่าทางตรง เนื่องจากสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องมีน้อยมาก เผยในรอบ 8 เดือนแรก แม้สถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง แต่มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่โต 7.4 ล้านล้านบาท ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชนออกใหม่ มีกว่า 152,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% กลุ่มแบงก์ขอออกมากที่สุด

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยถึงการที่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลายว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งกระทบต่อประเทศไทยในทางอ้อมมากกว่าทางตรง เนื่องจากสถาบันการเงินที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ มีน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยสินเชื่อ หรือธุรกรรมสวอป และมีในส่วนเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 4,300 ล้านบาท โดยมองว่าเงินต้นใน 1 ดอลลาร์สหรัฐจะได้เม็ดเงินกลับคืนมาประมาณ 30 เซน หรือจะได้เม็ดเงินกลับคืนมาของ 30% ของมูลค่าการกู้ยืมเงินทั้งหมด หรือคาดว่าน่าจะมีความเสียหายประมาณ 3000 ล้านบาท

ส่วนการที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากได้รับผลกระทบจากเลห์แมนฯนั้น กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ยังมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% ในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อเริ่มหมดไปแล้ว โดยยังมีปัญหาในด้านภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ เท่านั้น โดยคาดว่าในปีนี้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวในระดับ 4-5% เนื่องจากได้รับอานิสงส์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีนี้มีราคาแพงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันแพงจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม ส่วนในปีหน้าราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากอายุของสินค้าดังกล่าวสั้นมาก ทำให้จะมีอุปทานใหม่ตามมา

"เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มถดถอย เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกในปีหน้าจะชะลอตัวไปด้วย ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยสหรัฐฯ จะได้รับผลหนักที่สุด รองลงมาเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากไม่มีปัญหาทางด้านสถาบันการเงินเหมือนสหรัฐฯ แต่การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้ได้รับกระทบในทางอ้อมไปด้วย แม้ไทยยังมีกำไรดีมาจากการที่ตลาดส่งออกอื่นๆ ส่วนประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียที่มีการเจริญเติบโตดี อาทิ ตลาดประเทศเกิดใหม่อย่างอินเดีย และโดยเฉพาะจีนที่ได้จัดมหกรรมโอลิมปิกนั้น มองว่าทั้ง 2 ประเทศจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก แต่ในปีหน้าคาดว่าอาจจะปรับลงเหลือ 1.75% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ยังมีโอกาสที่จะปรับลงอัตราอีกมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังห่างจากสหรัฐพอสมควร และหากในปีหน้าไม่มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 2-3% เท่านั้น

"เรื่องของการเมืองยังมีผลบ้าง เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลจะมีผลต่อเมกะโปรเจกต์โดยตรง เนื่องจากภาคธุรกิจจะสนใจเม็ดเงินที่จะเข้าลงทุนจริงๆ เท่านั้น และไม่ใช่เพียงตัวเลขที่ตั้งไว้ในการดำเนินงาน โดยในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะสาหัสสากรรจ์โดยเฉพาะในตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบสูง แม้ราคาหุ้นของไทยยังมีราคาถูกมาก แต่ไม่รู้ว่าราคาจะปรับตัวขึ้นเมื่อไร ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังคงขายต่อไป จากปัญหาเลห์แมนฯ"

ขณะที่ภาวะตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2551 มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการออกรวม 7,393,272 ล้านบาท โดยพันธบัตร ธปท. เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่มากที่สุด มูลค่า 5,925,582 ล้านบาท หรือประมาณ 80% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจาก 2,618,704 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial Paper: CP) มูลค่า 735,938 ล้านบาท ส่วนพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลังมีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 157,502 ล้านบาท และ 326,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ ในปี 2552 คาดว่าตั๋วเงินคลังจะมีการออกมาประมาณ 450,000 – 480,000 ล้านบาท เพื่อออกมารองรับการชดเชยงบประมาณและพันธบัตรที่มีอายุครบการไถ่ถอน โดยแบ่งออกเป็นพันธบัตรที่มีอายุ 5 ปีและ 10 ปี ประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมการเข้าไปลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าสูงสุดที่กระทรวงการคลังเคยออกตั๋วเงินคลังมา

“ปีหน้าจะมีการออกตราสารหนี้มากขึ้น โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงถือเป็นว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจะทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ (บลูชิพ) ไประดมทุนในต่างประเทศไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่าไทยถูกปรับลดอันความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง)ด้วย โดยเมื่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง ก็จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศไม่ได้ ถึงออกหุ้นกู้ได้ก็จะมีต้นทุนที่แพงมาก และทำให้ภาคเอกชนหันมาออกหุ้นกู้ในประเทศมากขึ้น

สำหรับในตลาดรองตราสารหนี้ กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้แบบ Outright หรือการซื้อขายขาดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,732,265.01 ล้านบาท โดย 88% มาจากการซื้อขายพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 71,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เทียบกับ 41,600 ล้านบาท ของช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมมูลค่าการซื้อขายในส่วนของพันธบัตร ธปท. พบว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้ มีมูลค่าเพียง 8,488 ล้านบาท ซึ่งลดลงประมาณ 12% จากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของปีก่อน

“แม้ว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับตลาดตราสารหนี้ เรายังคงเห็นนักลงทุนต่างชาติเป็นยอด Net buy โดยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างประเทศมียอดซื้อตราสารหนี้สะสมเท่ากับ 61,485 ล้านบาท และมีมูลค่าการถือครองตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เท่ากับ 84,763 ล้านบาท”นายณัฐพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น