xs
xsm
sm
md
lg

สั่งAIAดูดกำไรคนไทยต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่าที่นายกฯ คนใหม่เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจประชุมด่วนที่กระทรวงการการคลังถกรับเลห์แมน-วิกฤติการเงินโลก ผู้ว่าแบงก์ชาติดับไฟบอกอย่าแตกตื่น ยันสภาพคล่องในระบบยังไม่ตึง ล่าสุดพบธนาคารพาณิชย์ไทยเสียหาย 6 พันล้าน ด้านบิ๊ก AIA แถลงข่าวหลังได้รับโทรศัพท์จากสหรัฐสั่งอยู่หากินเมืองไทย ยังไม่ต้องส่งกำไรกลับบ้าน ปากแข็งไม่ใช่บริษัทลูกเอไอจี เป็นแค่หลาน! เตรียมร่อนจดหมายถึงลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ 5.8 ล้านฉบับทั่วประเทศ แฉตัวเลขนำส่งกำไรปี 2550 กระโดดจากหลักพันล้านเป็นหมื่นล้าน HSBC เบรกสาขาทั่วโลกงดพบสื่อ ผงะ สปส.สูญ 40 ล้านสังเวยเลห์แมน

วานนี้ (17 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ว่า หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ตนให้ความสำคัญคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ กรณีเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจ ล้มละลาย โดยจะเรียกผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมที่กระทรวงการคลังวันนี้ (18 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ได้แก่ ตัวแทนกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ เป็นต้น เพราะถือว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมากอาจจะทำให้ตลาดหุ้นและตลาดทุนเกิดปัญหาได้

"ต่อไปนี้จะดูแลเรื่องเศรษฐกิจให้มาก สมัยนี้รบกันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ภาวะอย่างนี้มันจำเป็น ถ้าเรามัวแต่ผิดใจกัน เศรษฐกิจจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ เป็นการผ่อนส่งระยะยาวให้เราอ่อนแอและตกต่ำลง แต่ผมไม่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจทุกอย่าง ก็ต้องหาคนที่เก่งด้านเศรษฐกิจมาช่วยกันดู เพราะเป็นเรื่องใหญ่" ว่าที่นายกรัฐมนตรีโชว์วิสัยทัศน์

บิ๊กAIAลั่นยังปึ๊กหลังรับโทรศัพท์AIG
นายโทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด หรือ เอไอเอ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องของเอไอจีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินงานของเอไอเอในประเทศไทย ซึ่งจากการชี้แจงของนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทุกด้านทั้งเงินทุนสำรอง สถานะทางการเงินและกำไรสะสมที่แข็งแกร่ง และเอไอเอไม่ได้ถือหุ้นหรือตราสารทางการเงินใดๆ ของเอไอจีเลยจึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องในครั้งนี้
ทั้งนี้ บอร์ดของเอไอจีได้แจ้งมายังบริษัทลูกรวมถึงบริษัทสาขาทั่วโลกประมาณ 05.30 น.ชองเช้าวานนี้ (17 ก.ย.) โดยระบุว่าเอไอจีได้รับเงินกู้จาก Federal Reserve Bank of New York จำนวน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อคุ้มครองเครดิตและเสริมสภาพคล่องของบริษัทในการทำธุรกิจต่อไป จึงยังไม่มีนโยบายจากเอไอจี นิวยอร์กที่จะระดมทุนจากบริษัทลูกและสาขาทั่วโลกแต่อย่างใด และหากมีการระดมทุนจริงการส่งเงินให้เอไอจี นิวยอร์กจะต้องขออนุญาตจาก คปภ.ก่อนทุกครั้ง
“เอไอเอในไทยนั้นไม่ได้เป็นบริษัทลูกของเอไอจีนิวยอร์กแต่เป็นสาขาของเอไอเอฮ่องกงมีสถานะเป็นหลาน หากเอไอจีต้องล้มละลายไปก็คงต้องยื่นทำแผนฟื้นฟูกับทางการสหรัฐปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทใหม่คงไม่มีการล้มหายตายจากของเอไอจีไปไหน ในขณะที่เอไอเอในไทยก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามพันธสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ที่มีความผูกพันกับลูกค้า นอกจากบอร์ดของเอไอจีจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลงใดๆ ออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินงานของเอไอเอ” นายโทมัส ไวท์กล่าว
นายโทมัส ไวท์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เอไอเอต้องดำเนินการต่อไปคือการชี้แจงทำความเข้าใจให้กับพนักงานและตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทและเตรียมส่งจดหมายทำความเข้าใจถึงลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของเอไอเอกว่า 5.8 ล้านฉบับในประเทศเพื่อให้ทราบถึงสถานะที่แท้จริงและความพร้อมที่จะคุ้มครองดูแลลูกค้าทุกรายที่ถือกรมธรรม์ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ถือกรมธรรม์ของเอไอเอและเอไอจีทั่วโลกที่มีความผู้พันในด้านความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีการหวั่นวิตกว่าลูกค้าของเอไอเอจะขอเวนคืนกรมธรรม์เป็นจำนวนมากจนอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลมาหลังจากที่มีข่าวเอไอจีเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ พบว่ามีการขอเวนคืนกรมธรรม์เฉลี่ยวันละไม่เกิน 10-20 รายเท่านั้นถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจประกันชีวิตและคิดเป็นจำนวนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับลูกค้าของเอไอเอที่ถือกรมธรรม์อยู่ถึง 5.8 ล้านคน
“เรามีความจำเป็นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกๆ ฝ่ายจึงรอข้อมูลที่แน่นอนจากเอไอจี นิวยอร์กก่อนจึงเปิดแถลงข่าวขึ้นในครั้งนี้ เพราะหากเราเปิดแถลงข่าวชี้แจงในช่วง 2 วันก่อนที่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วจะยิ่งทำให้เกิดความสับสนและทำให้ความเชื่อมั่นต่อบริษัทลดลงอย่างมาก ดังนั้นเราจึงรอจังหวะที่เหมาะสมและข้อมูลที่แท้จริงเสียก่อนจึงทำการชี้แจงเพื่อลดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้” นายโทมัสไวท์กล่าว
เอไอเอมีเงินทุนสำรอง 1,107% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ โดยภาพรวมฐานะของเอไอเอประเทศไทยปี 2550 มีสินทรัพย์รวมตามบัญชีมากกว่า 300,000 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ก.ค. ผลการดำเนินงานมีสินทรัพย์รวม 380,000 ล้านบาท และมีผลกำไรสะสมปี 2550 กว่า 65,000 ล้านบาท และในช่วงปี 2551 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ก.ค.มีกำไรสะสมรวมกว่า 70,000 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาเอไอเอมีการส่งผลกำไรกลับไปให้เอไอจีมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ปี 2546 ส่งเงินไป 1,200 ล้านบาท ปี 2547 จำนวน 1,200 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 2,000 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 2,000 ล้านบาท และปี 2550 เป็นที่น่าสังเกตว่านำส่งกำไรสูงถึง 10,000 ล้านบาท แต่ใช้วิธีทยอยส่ง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

HSBC เลื่อนเปิดตัวธุรกิจวาณิชฯ
วานนี้ (17 ก.ย.) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ธนาคาร HSBC ได้ร่อนจดหมายถึงสื่อมวลชน ขอเลื่อนการจัดกงานแถลงข่าว "เปิดตัวบริการพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย" ซึ่งกำหนดการเดิมวันที่ 25 ก.ย. ที่สยามพารากอน ให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจการเงินโลกขณะนี้มีความไม่แน่นอน ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่สำนักงานใหญ่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงขอความร่วมมือจากสาขาทั่วโลก ให้งดการจัดกิจกรรมการแถลงข่าวในช่วงนี้ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ

แบงก์ชาติยันไม่กังวลเลห์แมน
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์สได้ยื่นล้มละลายต่อศาลได้ 2 วัน ธปท.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า ระบบสถาบันการเงินไทยที่มีการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ คิดเป็นมูลค่า 6,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณ 0.0009% เมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นๆ และการให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอยู่ 7 ล้านล้านบาท จึงกระทบน้อยมาก
สำหรับกรณีเอไอเอ ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ จึงรอปรึกษาเจ้าหน้าที่ของธปท.และขอดูรายละเอียดก่อน ทั้งนี้ ธปท.มีการติดตามการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยที่เป็นบริษัทในเครือของเอไอจีอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ซึ่งหากจะดำเนินการอะไรขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ แต่มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว เพราะขณะนี้เฟดได้อัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือให้แก่สำนักงานใหญ่ของเอไอจีในสหรัฐแล้ว และเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 80% จึงมั่นใจทางการสหรัฐจะดูแลปัญหานี้ได้ และธนาคารแห่งนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางฝ่ายมองว่านอกจากเลห์แมนฯ แล้วอาจมีความเป็นไปได้ที่มีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งอาจเกิดปัญหาอีกแล้วกระทบภาคการเงินและสถาบันการเงินทั่วโลกแบบโดมิโนนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า หากพบสถาบันการเงินอื่นมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่น่าตกใจอะไรแล้ว เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยเข้าไปลงทุนในเลห์แมนฯ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐ ถือเป็นรายใหญ่อยู่แล้ว จึงไม่น่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมากกว่าครั้งนี้อีก ส่วนสถาบันการเงินอื่นจะมีปัญหาเพิ่มอีกหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่มีความแน่นอน แต่เท่าที่ดูทางการสหรัฐ รวมทั้งเฟดพยายามที่จะเข้าไปดูแลเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดการเงินไม่ได้ตึงตัว แต่ยังคงมีสภาพคล่องเหลืออยู่เยอะ โดยเห็นได้จากเมื่อใดที่ ธปท.มีการออกพันธบัตรก็ยังมีผู้เสนอซื้อมากถึง 2-3 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าในระบบยังมีผู้สนใจลงทุนอยู่และตลาดตราสารหนี้ยังไม่มีปัญหา ขณะที่ในตลาดหุ้นเป็นไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค คือ นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นออกไปใช้ในสหรัฐ แต่ปริมาณเงินทุนไหลออกตลาดนี้ยังน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายังไหลเข้าไทยอยู่และแนวโน้มยังไม่มีอะไรผิดปกติ
“หากเหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่จบและเกิดต่อเนื่องไปจนสภาพคล่องในระบบหด แบงก์ชาติจำเป็นเข้าไปเติมหรืออัดฉีดเงินเข้าไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางอยู่แล้ว แต่ขณะนี้สภาพคล่องยังไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่มีแบงก์ไทยรายใดมีปัญหาหรือขอให้เราช่วยเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเราติดตามและดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงมั่นใจได้”
ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นออกไปเป็นเรื่องปกติ ซึ่งดัชนีมีทั้งขึ้นและลง แต่หากผ่านไปสักระยะคนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ารัฐบาลสหรัฐพยายามช่วยเหลือต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้น จากปัญหาที่หลายฝ่ายมองว่าความยืดเยื้อของเศรษฐกิจสหรัฐแย่ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์อาจทำให้ทุกอย่างกลับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และสภาพตลาดหุ้นจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
ด้านธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของเลห์แมนฯ จำนวน 3.5 พันล้านบาท นั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งนี้สามารถดูแลตัวเองได้และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และการลงทุนดังกล่าวเมื่อเทียบกับขนาดของธนาคารกรุงเทพก็ถือว่ากระทบน้อยมาก
ส่วนเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น ในขณะที่มีเงินทุนต่างชาติไหลออกนอกประเทศนั้นเกิดจากมีคนเข้าไปทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด ทรานแทรกชั่น) กันมาก โดยมีการขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกมาแล้วแลกเป็นเงินบาท เพราะมีธุรกรรมเกี่ยวกับการส่งมอบเงินบาท จึงถือเป็นเรื่องปกติ จึงส่งผลให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทาง คือ อ่อนหรือแข็งค่าก็ได้

สปส.สูญ 40 ล้านสังเวยเลห์แมน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์สฯ มีผลกระทบต่อกำไรจากการลงทุน สปส. ทำให้มูลค่าเงินลงทุนลดลงประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือคิดเป็นเงินมูลค่า 40 ล้านบาท แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.009% ของเงินลงทุนทั้งหมด ขณะนี้ ได้กำชับไปยังผู้จัดการกองทุนต่างประเทศทั้ง 6 รายให้เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าลงทุน เฝ้าติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และให้รายงานให้สำนักงานประกันสังคมทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุน 535,485 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นวงเงิน 24,300 ล้านบาท
"การลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูงมาก และยังไม่มีการลงทุนในหุ้นในขณะนี้ กองทุนจึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก" เลขาธิการ สปส. ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น