xs
xsm
sm
md
lg

ทิสโก้มองตลาดหุ้นQ2ผันผวน ปัจจัยลบเพียบกดดัชนีหลุด800

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ทิสโก้ชี้ตลาดหุ้นไทย Q2 ยังผันผวนสูง เหตุปัจจัยลบมากว่าวบวก ทั้งเรื่องของการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจสหรัฐ ระบุแนวโน้มดัชนีตลาดอาจหลุด 800 จุดได้จากผลกระทบดังกล่าว แต่เชื่อเป็นโอกาสดีในการช้อนซื้อของนักลงทุน พร้อมเผยสถานการณ์ช่วงไตรมาสที่ผ่านมาผันผวนสูงเช่นกัน โดยหุ้นกลุ่มที่มีการซื้อขายมากที่สุดได้แก่ที่ลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากที่สุด

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทเชื่อว่าจะมีทิศทางคล้ายกับไตรมาสที่ 1 คือมีความผันผวนสูง โดยทิศทางของตลาดจะถูกกำหนดโดย 2 ปัจจัยหลักเช่นเคย คือ การเมืองในประเทศและทิศทางของเศรษฐกิจในสหรัฐ ในช่วงไตรมาสนี้ปัจจัยลบจะค่อนข้างมากกว่าปัจจัยบวก เรามองว่าการเมืองจะร้อนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องคดียุบพรรค ในขณะเดียวกันความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จ หรือจะถูกคัดค้านยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใดจะส่งผลกระทบต่อตลาดเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยสิ่งที่นักลงทุนควรจะจับตามองมากกว่าคือ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจโลกว่าภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งบริษัทมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาทั้งในเรื่องของมาตรการทางภาษีซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 2 นี้ และการลงทุนในเมกะโปรเจคต่างๆ จะช่วยให้ GDP ของประเทศดีขึ้นจากประมาณการณ์เดิมอย่างน้อยประมาณ 1% โดยนักวิเคราะห์คาดหมายว่า GDP ของปี 2008 จะอยู่ที่ 4.5-5.5%

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสนี้จะเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) จะต้องพยายามแก้ไขปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากซับไพร์ม โดยหนึ่งในหลายมาตรการในแก้ไขปัญหา ก็คือ การลดดอกเบี้ย Fed Fund ซึ่งคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund อีกในช่วงไตรมาส 2 นี้ และหากการลดดอกเบี้ยและมาตรการต่างๆที่ทางรัฐบาลสหรัฐออกมานั้นได้ผล นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นขึ้นได้ในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสที่ 4 ปีนี้

ดังนั้นในไตรมาส 2 นี้ปัจจัยลบต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย การประกาศตัวเลข GDP ของสหรัฐที่แสดงถึงภาวะถดถอย และการประกาศผลประกอบการของสถาบันการเงินในสหรัฐ ซึ่งอาจจะออกมาเป็นขาดทุนอันเนื่องมาจากการตั้งสำรองขาดทุนในการลงทุน และหนี้เสียที่จะทยอยประกาศออกมา อาจะทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถจะขึ้นไปไกลได้ หรือมีแนวโน้มที่ดัชนีตกลงมาต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยาที่ 800 จุด แต่เราเชื่อว่า ดัชนีที่ตกลงมาในรอบนี้เป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นมากกว่าขายหุ้น เพราะหากปัจจัยทางการเมืองไทยสามารถคลี่คลายได้ และเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณว่าจะฟื้นในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 การซื้อหุ้นในระดับต่ำกว่า 800 จุด น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีใน 6-9 เดือนข้างหน้า

สำหรับทิศทางการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทพบว่า มีความผันผวนค่อนข้างมากจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยเฉพาะความกังวลในเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และปัจจัยการเมืองของไทย กระแสข่าวจากทั้งสองปัจจัยหลักนี้ ที่เข้ามาเป็นระลอกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถทำให้ดัชนีเคลื่อนไหวห่างกันได้กว่า 100 จุด โดยดัชนี SET INDEX ทำจุดต่ำสุดของไตรมาสไว้ที่ 728.58 จุด และจุดสูงสุดของไตรมาสที่ 845.76 จุด ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดไตรมาสที่ 1 ที่ 817.03 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -4.79% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2550

ทั้งนี้ ภาวะการณ์ลงทุนในเดือนมกราคม ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง โดยปรับตัวลดลงมาถึง 73.87 จุดหรือประมาณ 8.61% มาอยู่ที่ 784.23 จุด จากราคาปิด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ที่ 858.10 จุด โดยทำจุดต่ำสุดของเดือนและของไตรมาสไว้ที่ 728.58 จุด ในวันที่ 24 มกราคม

สาเหตุหลักของการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยผันผวนอย่างรุนแรง สืบเนื่องมาจากว่า นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก มีความกังวลใจในเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ทยอยประกาศออกมาได้ส่งสัญญาณว่า สหรัฐกำลังจะเข้าสู่ช่วงถดถอยหรือ Recession ซึ่งจะกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไปด้วย นอกจากนี้ ปัญหาซับไพร์มที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังส่งผลให้สถาบันการเงินในสหรัฐหลายแห่งต้องทำการตัดมูลค่าทรัพย์สินในบัญชีลงเนื่องมาจากการขาดทุนที่เกี่ยวกับเงินกู้ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของเดือน หลังจากที่มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค โดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แรงซื้อจากนักลงทุนจึงได้มีเข้ามาในตลาด เนื่องจากมองว่าประเทศไทยจะมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น ประกอบกับระดับดัชนีที่ 728.58 จุด เป็นระดับดัชนีที่เข้าข่าย oversold และเมื่อเทียบ PER ของตลาดหุ้นไทยกับตลาดเพื่อนบ้าน ก็ยังเป็นระดับที่น่าสนใจในการลงทุน แรงซื้อที่เข้ามาในช่วงปลายเดือนสามารถผลักดันดัชนีให้ขึ้นไปปิดเดือนมกราคมได้ที่ 784.23 จุด

ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่ช่วงสดใสอีกครั้ง หลังจากมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลในช่วงต้นเดือน นักลงทุนจึงคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆออกมา แผนการลงทุนเมกะโปรเจกต์ต่างๆ รวมถึงการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้ตลอดทั้งเดือนมีแรงซื้อกลับเข้ามา โดยแรงซื้อหลักมาจากนักลงทุนต่างประเทศ ที่มียอดซื้อสุทธิในเดือนนี้ถึง 31.3 หมื่นล้านผลักดันดัชนีขึ้นไปปิดที่จุดสูงสุดของเดือนที่ระดับ 845.76 จุดในวันทำการสุดท้ายของเดือน คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 61.53 จุดหรือประมาณ 7.85% จากระดับดัชนีปิด ณ สิ้นเดือนมกราคม

ขณะที่เดือนมีนาคม ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์เริ่มผันผวนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มจะเข้มข้นขึ้น การเคลื่อนไหวของดัชนีถูกกำหนดโดยปัจจัยทางการเมืองและทิศทางของตลาดหุ้นในสหรัฐเป็นหลัก ถึงแม้ในช่วงต้นเดือน รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ตลาดก็ไม่ได้ขานรับอย่างเป็นนัยยะนัก เนื่องจากมีกระแสข่าวการเมืองหลายข่าวที่ออกมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็น การสืบสวนและการส่งฟ้องคดีกรรมการบริหารพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายทำให้ต้องพิจารณายุบพรรคหรือไม่ซึ่งกรณีนี้จะรวมไปถึงการยุบพรรคพลังประชาชนด้วยเช่นกัน จึงกดดันดัชนีให้ปรับตัวลดลง และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆมาตลอดทั้งเดือน ก่อนที่ดัชนีจะดีดกลับขึ้นไปอีกครั้งเมื่อชนแนวรับที่ 800 จุด

สำหรับ การฟื้นตัวกลับขึ้นไปของดัชนีในเดือนนี้ จะเห็นได้ว่านำโดยหุ้น 2 กลุ่มหลักๆคือ กลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ ซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิด ณ เดือนมีนาคมที่ 817.03 จุด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 28.73 จุด หรือ -3.40%
กำลังโหลดความคิดเห็น