xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ประเทศไทยยังต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉบับนี้ผมขอเขียนถึงเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้คือ ควรจะมีการยกเลิกมาตรการตั้งสำรองร้อยละ 30 ของการนำเข้าเงินทุนระยะสั้นหรือไม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ใช้มาตรการนี้เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นและป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2549 แม้ว่าในขณะนั้นผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรการนี้เท่าใดนัก เนื่องจากผมเห็นว่า ธปท.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแทน เพราะในช่วงเวลานั้นอุปสงค์ภาคเอกชนกำลังเข้าสู่ขาลงอย่างชัดเจน การลดดอกเบี้ยนอกจากจะช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุนแล้ว ยังจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้เพิ่มการนำเข้าและจะทำให้การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง โดยผลทั้งหมดจะทำให้การแข็งค่าของเงินบาทชะลอลง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมาก ผมจึงเห็นว่า เรายังควรจะต้องมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น (Capital Control) เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้

สาเหตุที่ผมมีความเห็นว่าในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ เราจะต้องมีมาตรการ Capital Control เนื่องจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลงและมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve :Fed) ต้องปรับลด Fed Funds Rate ลงจากร้อยละ 5.25 เมื่อกันยายนปีที่แล้ว จนเหลือเพียงร้อยละ 3.00 ที่สำคัญคือเป็นการปรับลดในขนาดที่สูงถึงร้อยละ 1.25 ภายในแค่เดือนเดียวคือเมื่อมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดยังคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.5 ในการประชุมครั้งต่อไปในกลางเดือนหน้านี้ และจากผลของวิกฤติการเงินที่รุนแรง Fed อาจจะต้องปรับดอกเบี้ยลงต่อจนกระทั่งเหลือเพียงร้อยละ 1.0 ในสิ้นปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลงไปกว่านี้อีก

ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าประเทศไทยอิงกับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นเลย เราจะมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงิน 2 ทางคือ ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยลงจนใกล้เคียงหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 ทางเลือกต่างก็ก่อให้เกิดต้นทุนอย่างสูงต่อเศรษฐกิจไทย

การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามกลไกตลาดอย่างเต็มตัว จะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกมาก โดยสัดส่วนการส่งออกสูงถึงประมาณ 2 ใน 3 ของGDP ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้เกิดจากแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศเป็นไปเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มีสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น แปรรูปเกษตร สิ่งทอ เสื้อผ้า และอาหารทะเลกระป๋อง ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินได้ ต่างจากบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่แม้ว่าจะมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูงกว่าของไทย และค่าเงินสิงคโปร์ก็แข็งค่าขึ้นประมาณเท่าตัวใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การที่เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการค้าขายมากกว่าผลิตเองและสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนต่างประเทศในสัดส่วนสูง เศรษฐกิจสิงคโปร์จึงสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้มาก และการส่งออกก็ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ผมยอมรับว่าคงจำเป็นที่เราต้องทบทวนว่าแนวนโยบายที่เน้นให้การส่งออกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นควรจะต้องปรับปรุงหรือไม่

ในอีกทางเลือกหนึ่งคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ถ้า ธปท.ลดดอกเบี้ยลงเท่ากับหรือใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ก็อาจจะเผชิญปัญหา เช่น การลดลงของการออม อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก และโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ตามมา จึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรจะพิจารณาทางเลือกที่เป็นสายกลางระหว่างทางเลือกสุดโต่งทั้ง 2

สำหรับทางเลือกที่ 3 ที่ผมอยากเสนอให้พิจารณา คือ การใช้มาตรการ Capital Control เข้ามาช่วยควบคู่ไปกับการลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้างและปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระดับหนึ่ง เพื่อว่าเราจะไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยให้เท่ากับสหรัฐฯ หรือปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าตามกลไกตลาดอย่างเต็มที่ แต่การจะใช้มาตรการ Capital Control ด้วยวิธีการใดต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ เช่น มาตรการ 30% ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีผลดีจากการที่ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้นและลดภาระแทรกแซงของ ธปท. แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่วนวิธีอื่น เช่น การเก็บภาษีจากกำไรที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินทุนระยะสั้นก็จะมีผลต่อเงินบาทคล้ายกับมาตรการ 30% ทว่าจะส่งผลต่อส่วนต่างๆของเศรษฐกิจและตลาดการเงินค่อนข้างใกล้เคียงกัน

โดยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน บวกกับแนวโน้มที่จะมีการลดลงอย่างมากของดอกเบี้ยสหรัฐฯ และประเทศหลักอื่นๆ ของโลกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อีกทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกนโยบายการเงินน้อยมาก และยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อนึ่ง การดำเนินนโยบายหรือมาตรการใดๆ มักจะมีผล 2 ด้าน คือด้านบวกและด้านลบ สิ่งที่ผู้ตัดสินใจทางนโยบายต้องคำนึงถึง คือ ให้มีผลด้านบวกมากกว่าด้านลบ พร้อมกันนั้นก็เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้รองรับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น