xs
xsm
sm
md
lg

การประยุกต์ใช้ Fed model

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
ณัฐพัชร์ ลัคนาธรรมพิชิต
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด
0-2686-9500


ขอนำเสนอแบบจำลองที่กล่าวกันว่า Federal Reserve หรือ ธนาคารกลางแห่งสหรัฐ ได้เคยใช้เพื่อหาสมมติฐานของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (US Treasury) ระยะยาว กับอัตราผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ โดยแบบจำลองดังกล่าวเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนจากผลประกอบการของบริษัทต่างๆ (Earnings Yield) ในดัชนี S&P500 สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นมีค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (undervalued) หรือสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (overvalued)

อัตราผลตอบแทนจากผลประกอบการของบริษัท คำนวณจากการนำผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับในอีก 12 เดือนข้างหน้า (Earnings) หารด้วยราคาหุ้นที่ลงทุน (Price) หรือ E/P แต่เนื่องจากการคาดการณ์ของผลกำไรในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีการปรับให้ใช้ผลกำไรของ 12 เดือนที่ผ่านมาแทน สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปคงจะคุ้นกับอัตราส่วน P/E หรือ Price Earnings Ratio ที่มีการคำนวณและประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อนำมาหาส่วนกลับก็จะได้ Earnings Yield ของหุ้นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หุ้นที่มีอัตราส่วน P/E เท่ากับ 12 ก็จะมี Earnings Yield เท่ากับ 1/12 หรือ 8.5% Fed model มีรายละเอียดในการวิเคราะห์มากกว่านี้ แต่จะขอนำเฉพาะในส่วนที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Earnings Yield Gap (EYG) ซึ่งคำนวณมาจากการหาค่า

ส่วนต่างของ Earnings Yield กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีซึ่งถือได้ว่าเป็น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดหรือไม่มีความเสี่ยง (Risk Free Assets) เราสามารถคำนวณค่า EYG ของหลักทรัพย์ทั้งตลาด เพื่อพิจาณาภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ว่า ดัชนีในขณะนั้นมีอัตราผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่ หรือมีค่าส่วนเกินความเสี่ยง (Risk Premium) มากน้อยเท่าใด

ลองมาพิจารณาค่า EYG ของตลาดหุ้นบ้านเรา ณ วันสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ดัชนี SET มีค่าอัตราส่วน P/E เท่ากับ 11.30 หรือ Earnings Yield (E/P) เท่ากับ 1/11.30 = 8.85% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีมีค่า 5.19% ทำให้มีค่าส่วนต่าง หรือ ค่าส่วนเกินความเสี่ยง หรือ EYG เท่ากับ 3.66% ซึ่งถือได้ว่ามีค่าสูงพอสมควร โดยตั้งแต่ต้นปีมา ค่า EYG สูงสุดอยู่ที่ 3.72% ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ณ ดัชนี SET เท่ากับ 669.90 ส่วนค่า EYG ต่ำสุดอยู่ที่ 1.28% ณ วันที่ 2 มกราคม 2551 ณ ดัชนี SET เท่ากับ 842.97

จากรูปกราฟประกอบ เมื่อตอนต้นปี ขณะที่ดัชนี SET ลดลงมาจนทำให้ค่า EYG สูงขึ้นมาถึงระดับ 2.95% ในวันที่ 24 ม.ค. 51 ณ ดัชนี 728.58 หากผู้อ่านได้เข้าลงทุนในวันดังกล่าวก็สามารถทำกำไรได้โดยขายออกไปเมื่อค่า EYG ลดลงไปต่ำจนอยู่ที่ระดับ 1.35% ในวันที่ 27 ก.พ. 51 ณ ดัชนี 832.04 หรือเพิ่มขึ้นมาจากวันลงทุนถึง 14.2% สำหรับรอบหลังที่เพิ่งผ่านไปเมื่อค่า EYG ลดลงไปอีกครั้งจนถึงระดับ 1.42% เมื่อ 25 มิ.ย. 51 ซึ่งถ้าผู้อ่านได้ทำการ Short SET50 Index Futures

สำหรับสัญญาเดือน ก.ย. 51 ด้วยราคาปิดที่ 555.8 แล้วมาปิดสถานะด้วยการ Long สัญญา Futures ดังกล่าวในวันที่ 30 ก.ค. 51 เมื่อค่า EYG ได้ไต่ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 3.72% ด้วยราคาปิด 460.0 จะได้กำไรถึง 95.8 จุด เมื่อคูณด้วย 1,000 บาท จะได้กำไรถึง 95,800 บาทต่อสัญญาหวังว่าการประยุกต์ใช้ Fed model จะช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถประเมินช่วงเวลาที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างเหมาะสม

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น