xs
xsm
sm
md
lg

กรีนสแปน: “เวียดนามหวิดเละเป็นต้มยำกุ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช สัมผัสมือกับ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง ระหว่างการพบหารือข้อราชการที่ทำเนียบไว้ท์เฮ้าส์วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา วันเดียวกันนายกฯ เวียดนามได้พบหารือกับนายอลัน กรีนสแปน พ่อมดการเงิน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน-- นายอลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” (Monetary Magician) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ทำให้เวียดนามได้บทเรียนที่ควรจะจดจำอย่างหนึ่งกล่าวคือ หากปราศจากมาตรการที่เด็ดขาดฉับพลันแล้ว ก็อาจจะเกิดสิ่งเลวร้ายเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนได้

อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟเดอรัลรีเสิร์ฟ (Federal Reserve) เชื่อว่าเวียดนามจะสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้และเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในย่านเอเชียแปซิฟิกและได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ

“พ่อมดกรีนสแปน” ระบุดังกล่าว ในการให้สัมภาษณ์หลังได้พบหารือเป็นเวลา 45 นาที กับนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ในกรุงวอชิงตันดีซีเมื่อวันอังคาร (24 มิ.ย.) ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวออนไลน์เวียดนามเน็ต

“เวียดนามเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ได้รับความสำเร็จอันน่าประทับใจ บทบาทของเวียดนามนั้นเพิ่มทวีและได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ” นายกรีนสแปน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามในสัปดาห์นี้ แม้ว่านายกรีนสแปนจะได้ยกย่องมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อของทางการว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ได้แนะนำให้เวียดนามลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจลงอีก

นายกรัฐมนตรีเวียดนามเดินทางถึงกรุงวอชิงตันในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสำหรับการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วัน เพื่อหาทางขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนัก

ระหว่างการพบหารือกับนายกรีนสแปนนั้น นายกฯ เวียดนามได้บรรยายสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและขอคำแนะนำสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ความร่วมมือเวียดนาม-สหรัฐฯ
<CENTER><FONT color=#660099>เกษียนจากแบงก์ชาติไปแล้ว 2 ปี แต่ยังคงมีอิทธิพลด้านความคิดในระดับนานาชาติ นายกรีนสแปนแนะนำนายกฯ เวียดนามให้ลดเป้าเศรษฐกิจลงอีก ถอยสุดซอย ในยามลำบาก เพื่อที่จะสปีดจีดีพีอีกครั้งในวันข้างหน้า </FONT></CENTER>
นายกรีนสแปน กล่าวว่า สหรัฐฯ มองเวียดนามในฐานะเศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคและเชื่อว่าเวียดนามจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในขณะนี้ได้

พ่อมดการเงิน กล่าวว่า ปัญหาในเวียดนามขณะนี้มีจุดเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 เมื่อเงินลงทุนต่างประเทศไหลทะลักเข้าประเทศ กดค่าเงินด่งเงินสกุลเวียดนามให้อ่อนค่าลง กระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในจีนและรัสเซีย ขณะที่เวียดนามไม่สามารถจัดการกับเงินที่ไหลเข้าจำนวนมากได้ทันเวลา

ขณะเดียวกัน ภายในระบบการเงินมีการปล่อยกู้เป็นจำนวนมหาศาล และ มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมากมายเพื่อสนองการผลิต และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วไป

แต่ นายกรีนสแปน ก็กล่าวว่า เวียดนามได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ถูกทิศทางแล้วในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ การสกัดการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ด้วยมาตรการดอกเบี้ยสูง

อดีตประธานเฟด กล่าวว่า บทเรียนที่ต้องจดจำก็คือ หากปราศจากการดำเนินการอย่างท่วงทันเวลา และด้วยมาตรการที่เด็ดขาด สถานการณ์ก็อาจจะบานปลายลุกลามใหญ่โตเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อทศวรรษที่แล้ว

ส่วน นายกรัฐมนตรีเวียดนาม บอกกับอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า มาตรการควบคุมเงินเฟ้อของเวียดนามเริ่มเห็นผล เศรษฐกิจมหภาคเริ่มมีเสถียรภาพ และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอันดับแรกกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ในครึ่งปีแรกผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีขยายตัว 6.7-6.8% และเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าทั้งปี 7% ได้ แม้ว่าการเติบโตจะลดลงจากปีที่แล้วถึง 1.5% ตัวเลขขาดดุลการค้าลดลงจาก 70% ในไตรมาสแรก เหลือ 49% ในเดือน มิ.ย.นี้
<CENTER><FONT color=#660099> นายกฯ เวียดนามไปเยือนสหรัฐฯ ในยามที่ประเทศกำลังประสบความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์มองว่าเวียดนามกำลังพยายามดึงสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทในการลงทุนมากยิ่งขึ้นเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากทั่วโลก (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
ขณะเดียวกัน เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยมีจำนวนถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ใน 6 เดือนแรกของปีนี้

นายยวุ๋ง ย้ำว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งใช้วัดอัตราเฟ้อของเงิน ได้ลดลงจาก 3.9% ในเดือน พ.ค. เป็น 2.2% ในเดือน มิ.ย.นี้ และรัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถลดระดับอัตราเฟ้อลงให้เป็นตัวเลขเพียงหลักเดียวได้ในปี 2552 นี้

นายกรีนสแปน เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2530 จนกระทั่งเกษียณจากตำแหน่งเมื่อปี 2549 รวมเวลาเกือบ 20 ปี และเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการเงินที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจยุคหนึ่งในช่วงปี 2534-2544

ในช่วงปีดังกล่าวจีดีพีของสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3% และอัตราเงินเฟ้อก็ถูกควบคุมให้อยู่ระดับ 3% ต่อปี

ถึงแม้ว่าจะยกย่องความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนาม แต่นายกรีนสแปนก็ได้แนะนำให้ประเทศลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจลงอีก เพราะว่า "หากยังคงเป้าเศรษฐกิจเอาไว้ 7% อาจจะเป็นสัญญาณผิดๆ ต่อนักลงทุนจากสหรัฐ "

นายกรีนสแปนให้ข้อคิดว่า เศรษฐกิจเวียดนามโตขึ้นมาอย่าสงรวดเร็วโดยอาศัยแรงงานราคาถูหกเช่นเดียวกับจีน แต่กำลังจะผ่านยุคนั้นไปและจะต้องแข่งขันอย่างรุนแรงขึ้นด้วยพลังการผลิตที่แท้จริง

พ่อมดการเงินกล่าวอีกว่า เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องใหม่ในเวียดนาม 20 ปีที่ผ่านมาประเทศนี้ได้ผ่านความยากลำบากมามากมาย เพียงแต่รัฐบาลต้องการการสนองตอบที่รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อปัญหาต่างๆ รวมทั้งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจได้หดตัวลง

เมื่อทุกอย่างกลับเข้ารูปเข้ารอยมีเสถียรภาพ เวียดนามก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อไปได้เท่าที่ต้องการ นายกรีนสแปนกล่าว

พ่อมดการเงินแนะนำด้วยว่า เวียดนามควรระวังและมีมาตรการรับมือกับการลงทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลต่อกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในระบบเศรษฐกิจและจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบ

ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้พบหารือกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารนี้ ขณะที่เวียดนาม-สหรัฐฯ ได้เริ่มการเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาว่าด้วยการลงทุนสองฝ่าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น