xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เกิน4เดือนรัฐบาลพัง แนะปฏิรูปการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีถสาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีว่า แสดงให้เห็นว่า 6 พรรคร่วมรัฐบาล เลือกที่จะให้พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยปฏิเสธแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติตามที่หลายฝ่ายเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า จะไม่เป็นการซ้ำเติม หรือก่อสร้างเงื่อนไขปัญหา ที่สำคัญต้องฟื้นฟูกอบกู้ความเป็นเอกภาพ สมานฉันท์ สงบเรียบร้อยของผู้คนในชาติ หากพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็ถือว่าล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องละเว้นคือ ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเงื่อนไขสู่การขัดแย้งทางการมือง เช่น การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อนักการเมือง ที่สำคัญต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแสดงให้เห็นว่า เป็นการช่วยเหลือในทางคดีแก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
"รัฐบาลต้องทุ่มเทให้กับการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปากท้องของชาวบ้าน ซึ่งประชาชนกำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้ และสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในหลายเงื่อนไข ที่จะสร้างเสถียรภาพหรือความเสียหายให้กับรัฐบาล เพราะหากมัวแต่หมกมุ่นผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างเดียว จะเกิดการลุกฮือของประชาชนขึ้นมา และคุณสมชาย ซึ่งเป็นคนประณีประนอม ไม่ใช่เผชิญหน้า ไม่สามารถทนแรงเสียดทาน ความกดดันทางการเมืองได้ อาจตัดสินใจยุบสภา และลาออกไปเลย" ศ.ดร.สมบัติกล่าว
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นยังคงดำเนินการต่อไป เนื่องจากขณะนี้ พวกเขายังไม่มีหลักประกันอะไรที่เป็นเงื่อนไขการยุติการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากเป็นไปโดยสงบ สันติ ทั้งนี้ก็เห็นสมควรที่จะต้องให้เวลาพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลด้วย
ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า กล่าวว่า แมเจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมืองยังไม่จบสิ้น เนื่องจากโครงสร้างปัญหายังคงเป็นแบบเดิม กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายนั้นก็ยังไม่จบสิ้น เพียงแต่ในขณะนี้ หลายคนยังอยู่ในช่วงโล่งอกที่นายสมัคร สุนทรเวช ไม่กลับมา แต่เมื่อตั้งตัวได้ หากการทำตัวของรัฐมนตรี และส.ส.ยังคงเป็นแบบเดิม ปัญหาก็จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งนอกจากปัญหาผู้ชุมนุมกดดันแล้ว นายสมชาย ยังต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยก ต่อรองผลประโยชน์ภายในพรรคพลังประชาชน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากนายสมชาย ไม่สามารถต้านทาน หรือจัดการปัญหาไม่ได้ ก็ต้องหาทางออกโดยการยุบสภา ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะหากระบบการเลือกตั้งยังเป็นระบบตัวแทน ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกเป็นลักษณะวิวัฒน์เวียนวน
"จริงอยู่ นายสมชาย ไม่ก้าวร้าว ไม่อล่างฉ่าง แต่ในสถานการณ์การเมืองที่รุนแรง ดุเดือด ประกอบกับปัญหาภายในพรรค และที่สำคัญพรรคพลังประชาชนกำลังโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็ว แต่คงอยู่ไม่ครบเทอมแน่นอน ผมคิดว่าอยู่ได้ไม่เกิน 3-4 เดือน เท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำนั้น ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปการเมือง โดยดึงทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติ และเกิดประโยชน์ในระยะยาวได้" ผศ.ดร.พิชายกล่าว

**จี้ปฏิรูปการเมืองสู่สังคมประชาธิปไตย
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่า รัฐบาลนายสมชาย จะเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพราะคาดว่าจะมีการยุบสภาภายใน 3 เดือน ช้าเร็วขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะนำคดียุบพรรคพลังประชาชน มาพิจารณาเมื่อไร อย่างไรก็ตาม การได้มาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ไม่ได้ลดปัญหาความขัดแย้งลงแต่อย่างใด ด้วยภาพลักษณ์ที่ใกล้ชิดและเป็นเครือญาติของพ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่คดีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร และการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลหลายคดี ไม่ได้รับความสนใจ
ทั้งนี้ ครส. เห็นว่าสิ่งที่นายสมชาย จะต้องจัดการคลี่คลายก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งจะบานปลายมากขึ้น คือ
1. ต้องมีนโยบายและผลักดันให้รัฐสภา ตั้งกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองร่วม โดยมีองค์ประกอบของ 7 พรรคการเมือง ในรัฐสภา ตัวแทนพันธมิตรฯ ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อร่วมกันออกแบบ จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปสู่สังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง และแนวโน้มความรุนแรงทางสังคมในอนาคต เนื่องเพราะหนทางอื่นใดในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งได้เลย
2. นายกฯ จะต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ไม่ดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน กำกับดูแลไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มพลังมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและต้องรับผิดชอบหากเกิดความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ระหว่างที่ทุกฝ่ายดำเนินการปฏิรูปการเมือง รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เร่งคลี่คลายคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดีที่ไม่มีความคืบหน้า เช่น คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดีนายเจริญ วัดอักษร และคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดเก่า รวมถึงประกาศสัญญาประชาคมว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง ตัดตอน คดีที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ

**ระดมทุกภาคส่วนร่างรธน.ใหม่
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า การได้รัฐบาลใหม่ที่มีนายสมชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นการเมืองใหม่ เพราะยังมีพรรคพลังประชาชนกุมอำนาจอยู่
ดังนั้นนายสมชาย ต้องรีบปฏิรูปการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือน โดยผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งก็คือบรรดานักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ตลอดถึงพันธมิตรฯ ต้องถอยออกมา แล้วให้ให้อำนาจการปฏิรูปการเมืองกับภาคประชาชน ภาคสังคม สื่อ นักวิชาการที่ไม่ผูกติดกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบรรดานักการเมือง และพันธมิตรฯ อีกทั้งต้องมีนักวิชาชีพในสายต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ต้องเชิญสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 50 และ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 40 ต้องเข้ามาร่วมให้ความคิดเห็นว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 40 และรัฐธรรมนูญปี 50 จึงจะทำให้การปฏิรูปการเมืองไปได้เร็ว และทำให้การร่างรัฐธรรมนูญถูกร่างโดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น ส่วนเจ้าภาพ หรือสถาบันที่ควรจะเข้ามาร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ ขอเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงจะเชิญให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ พันธมิตรฯ รัฐบาล ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระต่างๆ กรรมการสิทธิมนุษยชน กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการได้เข้ามาร่วมดูรัฐธรรมนูญภาคประชาชนอีกครั้ง

**จี้นายกฯเร่งดับไฟใต้
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้นายสมชาย ได้ใช้ความเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนใต้ ให้ความสนใจกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรื้อรังและถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลชุดก่อน จนสถานการณ์ไม่ดีขึ้น และไม่ควรจะใช้เวลาตอนนี้มาหมกหมุ่นหรือแก้ปัญหาการจัดตั้ง ครม. ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น