คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นพันธกิจต่อ “สมชาย” เพื่อเร่งแก้วิกฤตการเมือง ก่อนสถานการณ์บานปลาย ทำนายแค่รัฐบาลเฉพาะกิจคาด 3 เดือนยุบสภา
วันนี้ (17 ก.ย.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ในหัวข้อเรื่องทางออกจากวิกฤตการเมืองไทย และพันธหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่
โดยมีเนื้อหาดังนี้จากคะแนนเสียง 298 เสียง สนับสนุนให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของ ประเทศไทยนั้น ครส.มีความเห็นดังนี้
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่หลายคนคาดไว้แต่แรก รวมทั้งก่อนหน้านี้หลายปีด้วย แต่ก็จะเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพราะคาดว่าจะมีการยุบสภาภายใน 3 เดือน ช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนำคดียุบพรรคพลังประชาชนมาพิจารณาเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม การได้มาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ไม่ได้ลดปัญหาความขัดแย้งลงแต่อย่างใด ด้วยภาพลักษณ์ที่ใกล้ชิดและเป็นเครือญาติของอดีตนายกฯ ทักษิณ เคยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่คดีการอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร และการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลหลายคดีไม่ได้รับความสนใจ
ครส.เห็นว่า พันธกิจที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องจัดการคลี่คลายก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งจะบานปลายมากขึ้น คือ
1.นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องมีนโยบายและผลักดันให้รัฐสภา ตั้งกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองร่วม โดยมีองค์ประกอบของ 7 พรรคการเมืองในรัฐสภา ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อร่วมกันออกแบบ จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปสู่สังคมประชาธิปไตย(Social-Democracy) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองและแนวโน้มความรุนแรงทางสังคมในอนาคต เนื่องเพราะหนทางอื่นใดในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งได้เลย
2.นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ไม่ดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน กำกับดูแลไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มพลังมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเคร่งครัดและต้องรับผิดชอบหากเกิดความรุนแรงขึ้น อย่าใช้นโยบาย “น้ำตาลเคลือบยาพิษ” หรือปากว่าตาขยิบทางการเมือง
ระหว่างที่ทุกฝ่ายดำเนินการปฏิรูปการเมือง รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เร่งคลี่คลายคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดีที่ไม่มีความคืบหน้า เช่น คดีอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิต คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดี นายเจริญ วัดอักษร และคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดเก่า รวมถึงประกาศสัญญาประชาคมว่าจะไปเข้าไปแทรกแซงตัดตอนคดีที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่อย่างใด