xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้ายเป็นฉันใด

เผยแพร่:   โดย: วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน

การพิจารณาสิ่งใด ข้าพเจ้ามักประยุกต์หลักทางศาสนาพุทธ มีว่า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” คือต้องพิจารณาให้ถึงมูลเหตุที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้ว คนที่มี “วาระซ่อนเร้น” จะหยิบยกเหตุการณ์เฉพาะตอนเฉพาะส่วน แล้วฉวยโอกาสโฆษณาชวนเชื่อในจังหวะที่กำลังชุลมุน เราก็จะตกหลุมพรางของคนกลุ่มที่มี “วาระซ่อนเร้น” นี้ได้ง่าย

มูลเหตุแท้จริงการชุมนุมของพันธมิตรฯ
การชุมนุมของพันธมิตรฯ รอบใหม่เริ่มเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 เมื่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับพรรคพลังประชาชน และ 5 พรรคร่วมรัฐบาล ประกาศจะใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภารื้อแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อฟอกความผิดของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องทั้งในกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมากมายหลายคดีและการโกงเลือกตั้ง

การเมืองเก่าเป็นฉันใด
พรรคการเมืองหลายพรรคเป็น “แก๊งการเมือง” แก๊งการเมืองชูการเลือกตั้งเป็นสรณะโดยไม่เอ่ยถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างโจ๋งครึ่ม การเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคนแพ้ชนะกันด้วยเงิน โดยมีนายทุนพรรคจ่ายเงินหัวละ 20-30 ล้านบาทให้นักเลือกตั้งไปซื้อเสียงในเขตเลือกตั้งที่มีศักยภาพ ลงทุนไปราว 6,000-10,000 ล้านบาท ก็จะได้ สส.ในจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จากนั้นพวกนักการเมืองโสเภณีจะต้องชดใช้หนี้ให้นายทุนพรรคโดยยกมือผ่านกฎหมายที่เปิดทางให้นายทุนพรรคถอนทุนคืนบวกกำไรมโหฬาร

หรือไม่นักเลือกตั้งก็ลงทุนเองกับการเลือกตั้ง คำนวณเงินเดือน สส. ต่อให้อยู่ครบวาระยังไงก็ไม่คุ้มกับทุนที่ใช้ไปในการเลือกตั้ง จึงแน่นอนว่าต้องถอนทุนด้วยการคอร์รัปชั่นต่างๆ นานา นักเลือกตั้งทั้งหลายคิดเพียงว่าเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ต้องมุ่งตอบสนองนายทุนพรรคโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศชาติ

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและการโกงกินชาติของทุนสามานย์ในระบอบทักษิณจึงเป็นโรคร้ายที่คนไทยต้องช่วยกันรีบเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะเป็นต้นตอทำให้ประเทศไทยอ่อนแอในทุกๆ ด้าน ตลอดจนการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจแก่นายทุนต่างชาติอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

ส่วนการหาเสียงในระดับแก๊งการเมือง พ.ต.ท. ทักษิณ นับเป็นคนแรกที่ใช้นโยบายประชานิยมเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตกเบ็ดล่อเหยื่อ คนที่ไม่สนใจในรายละเอียดก็จะพร่ำพูดว่าเป็นนโยบายที่ดีมีประโยชน์กับคนยากจน ส่วนคนที่ติดตามรายละเอียดมักเรียกว่านโยบายประชาสินบน เพราะพบข้อเท็จจริงว่าประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับหัวคะแนน มีเพียงประโยชน์ส่วนน้อยเท่านั้นที่ตกกับคนยากจน ทำให้คนยากจนอ่อนแอหวังพึ่งสินบนอันน้อยนิด นักเลือกตั้งไม่เคยมีนโยบายที่จะช่วยให้คนยากจนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน หลังจากประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรอีก จึงเรียกอย่างขมขื่นว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที”

ประเทศตะวันตกส่งออกประชาธิปไตย โดยผ่านคนที่ไปเรียนวิชาการเมืองในประเทศเหล่านี้ แล้วนำรูปแบบประชาธิปไตยมาใช้ในไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แม้เวลาจะผ่านไปนานแต่ก็ไม่มีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย เพราะคนที่เกี่ยวข้องไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยดีพอ เมื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนับวันมีขนาดใหญ่โตมากขึ้นๆ การเลือกตั้งแบบทั่วไปก็ยิ่งดิ่งลงเหว สังคมไทยมีความขัดแย้งมากขึ้น การกระจายรายได้ยังคงเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนยังไม่บรรเทาเบาบางลง ปัญหาสังคมรุนแรงมากขึ้น

การเลือกตั้งแบบทั่วไปเพียงอย่างเดียวและการเมืองแบบเก่าจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของสังคมไทยได้

ทำไมจึงเป็นสงครามครั้งสุดท้าย
ในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีการเมืองสมัยใดที่เลวทรามต่ำช้าเท่ากับในสมัยนี้ แก๊งการเมืองและรัฐบาลทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มติ ครม. เรื่องยกปราสาทพระวิหารให้เขมรเป็นการทำผิดกฎหมาย รธน. ศาล รธน. ตัดสินให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ฯลฯ แต่แก๊งการเมืองเหล่านี้ก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ นักการเมืองไร้จริยธรรมห่างไกลจากมาตรฐานสากล

แม้ในขณะที่การชุมนุมของพันธมิตรฯ ยังดำเนินอยู่ ก็หาได้สร้างความยับยั้งชั่งใจแก่แก๊งการเมืองชั่วไม่ พวกนี้ยังคงละเมิด รธน. อยู่ตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมืองร่วมกับรัฐบาลมีการใช้กลุ่มอันธพาลการเมืองรวมทั้งตำรวจ บุกเข้าไปทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบอยู่กับที่มั่นทั้งในจังหวัดอุดรธานีและกรุงเทพฯ หลายต่อหลายครั้ง ยังผลให้แกนนำพันธมิตรฯ และผู้ร่วมชุมนุมต้องคิดทบทวนและยกเป้าหมายการต่อสู้ให้ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เป็นคุณูปการต่อการเมืองไทยในอนาคต ซึ่งสรุปได้ด้วยคำว่า “สงครามครั้งสุดท้าย” และ “การเมืองใหม่”

กองทัพทหารไม่กระสันการทำสงครามกับอริราชศัตรูฉันใด กองทัพประชาชนย่อมไม่กระสันการทำสงครามกับแก๊งการเมืองชั่วฉันนั้น แต่ในโลกแห่งประชาธิปไตย มีแต่ประชาชนผู้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมเท่านั้นที่จะออกมาแบกรับภาระหน้าที่ในการขจัดการเมืองสามานย์ ประชาชนเหล่านี้มาจากทุกกลุ่มฐานะอาชีพ “สงครามครั้งสุดท้าย” นี้มีจำนวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดและยาวนานที่สุดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เป็นสงครามที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้เรียนรู้และซึมซับกับความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” อย่างถูกต้อง ได้เรียนรู้ว่าการเมืองดีไม่ใครยกให้ฟรี อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง โดยหวังว่านับจากนี้สังคมไทยจะไม่มีการต่อสู้ระหว่างพลเมืองกับแก๊งการเมืองที่ยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้อีกแล้ว

“สงครามครั้งสุดท้าย” จะเป็นจริงได้ ก่อนอื่นต้องยุติการเมืองสามานย์แบบเก่า พร้อมทั้งสถาปนาการเมืองใหม่ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ครั้งนี้จะยุติลงต่อเมื่อต้องมีคำตอบชัดเจนว่าประเทศไทยจะหันรัฐนาวามุ่งสู่การเมืองใหม่อย่างแน่นอน

โปรดอย่ามัวถามแกนนำพันธมิตรฯ ว่าการเมืองใหม่จะเป็นอย่างไร ภาคส่วนอื่นๆ ต้องมีบทบาทหน้าที่ช่วยกันคิดช่วยกันนำเสนอ แลกเปลี่ยน ถกเถียง วิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างถี่ถ้วน โดยต้องเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของคนไทยและสังคมไทย

นักวิชาการจอมปลอมที่มากับ “วาระซ่อนเร้น”
ก่อนจะจบบทความนี้ ขอเอ่ยถึงนักวิชาการมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) สักเล็กน้อย ตั้งแต่แกนนำพันธมิตรถูกรัฐบาลนายสมัครตั้งข้อหากบฏ พลันก็มีคนกลุ่มหนึ่งในคราบนักวิชาการฉวยจังหวะนี้แทรกตัวเข้ามาในหมู่นักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เร่ขายความคิดว่าพวกพันธมิตรฯ เป็นตัวอันตรายต่อความสงบสุขของสังคมไทย แกนนำพันธมิตรฯ จะพาประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลองด้วยข้อเสนอ 70/30 พันธมิตรเข้ายึดทำเนียบและบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เป็นการทำผิดกฎหมาย จับพวกที่บุกรุกไปแล้วไม่พอ ต้องเรียกร้องให้ 5 แกนนำพันธมิตรฯ เข้ามอบตัวสู้คดีโดยมิชักช้า โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการเคารพกฎหมาย แต่ไม่เคยเรียกร้องให้นายสมัครลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแม้ได้ละเมิด รธน. อันเป็นกฎหมายสูงสุดแบบซ้ำซาก

นี่เรียกว่ายังไม่ทันอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ คนกลุ่มนี้ไม่เคยให้คุณค่ากับการต่อสู้ของประชาชนในปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง เมื่อรัฐบาลใช้อันธพาลการเมืองและตำรวจบุกเข้าทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม คนกลุ่มนี้ก็ไม่อีนังขังขอบแม้แต่น้อย ผู้เขียนได้แต่ปลงว่าเมื่อสังคมไทยเพี้ยน นักวิชาการบางส่วนย่อมเพี้ยนไปด้วยในลักษณะมือไม่พายแต่ชอบเอาเท้าราน้ำ

การปรากฏตัวของคนกลุ่มนี้ประวัติศาสตร์จักได้จารึกว่า ในท่ามกลาง “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้แสดงตนขัดขวางการต่อสู้ของประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทยจากลักษณะที่ต่ำทรามไปสู่การเมืองใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น