xs
xsm
sm
md
lg

โฉมหน้าการเมืองไทยหลังยุคสมัคร

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญ เนื่องจากไปรับจ้างเป็นพิธีกรจัดรายการทางโทรทัศน์อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

และศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ด้วยว่าพยานหลักฐานบางอย่างขัดกับข้อเท็จจริงในคดี พูดง่ายๆ ก็คือมีการทำอ้างและใช้พยานหลักฐานเท็จในศาล ซึ่งเป็นเรื่องขัดจริยธรรมทางการเมืองและอาจเป็นความผิดทางอาญาอีกสถานหนึ่ง

แต่แกนนำพรรคพลังประชาชนไม่นำพาต่อคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่แยแสความรู้สึกของปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งคัดค้านอย่างพร้อมเพรียงกันว่าไม่ควรเอานายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

โดยพรรคพลังประชาชนมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และแกนนำพรรคบางคนได้แถลงว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของประเทศไทยไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้เลย

ดังนั้นในวันที่ 12 กันยายน 2551 เวลา 17.30 น. ซึ่งเป็นวันที่มีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคัดเลือกบุคคลที่สมควรเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ส่งผลต่อชะตากรรมของประเทศไทยและคนไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

มีความเป็นไปได้ทางการเมืองหลายประการ อันควรแก่การทำความเข้าใจดังนี้

ประการแรก
พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลผลักดันให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

เหตุผลและความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังก็คือคนเหล่านั้นเชื่อว่านายสมัคร สุนทรเวช สามารถข่มกดและบังคับฝ่ายทหารให้อยู่ในกำมือได้ แต่จะผิดหรือจะถูกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในประการนี้จะเป็นการทำลายความรู้สึกและตบหน้าประเทศไทยและคนไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือจะเป็นดังที่แกนนำพรรคพลังประชาชนได้แถลงไว้ว่าจะเป็นการสั่งสอนระบบยุติธรรมของประเทศว่าทำอะไรพวกเขาไม่ได้

ก็คงจะได้เห็นดีกันแน่ เพราะในวันที่ 25 กันยายน ศกนี้ ศาลอุทธรณ์อาจพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกนายสมัคร สุนทรเวช และไม่รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี จากนั้นก็ส่งตัวเข้าเรือนจำเป็นนักโทษไปตลอด 2 ปี

หากเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงไม่ทันที่จะได้แถลงนโยบายและเข้าบริหารราชการแผ่นดินเป็นแน่

ทั้งอาจมีการต่อต้านคัดค้านครั้งใหญ่ที่สุดและอาจเกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ขึ้นภายในประเทศ จนบ้านเมืองและภาคธุรกิจพินาศฉิบหายวายวอดก็ได้

นั่นเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ และอาจจะถูกกวาดล้างตกเวทีประวัติศาสตร์ไปตลอดกาลก็ได้

ประการที่สอง พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนตัวหุ่นตัวใหม่ออกมาแสดง โดยสนับสนุนให้นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ทั้งสามคนนี้มีชนักปักหลังทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องการร่วมลงมติคณะรัฐมนตรีในกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ทำให้ประเทศเสียอธิปไตย ซึ่งหาก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดวันไหนก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที เป็นอันรัฐบาลเจ๊งอีกตามเคย!

ส่วนในทางการเมืองนั้น ประชาชนฝ่ายผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำคงไม่ยินยอม เพราะถือว่าการบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่โรงหุ่นที่หุ่นตัวหนึ่งล้มลงไปแล้วจะเอาหุ่นตัวใหม่มาแสดงแทน

หุ่นตัวใหม่มาแสดงแทนเพื่อต่อยอดความชั่วช้าเลวทรามและการวางฐานอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐตามแนวทางเดิม

ดังนั้นกระแสการต่อต้านก็ไม่มีวันที่จะลดน้อยถอยลงและวิกฤตทางการเมืองก็จะถูกขับเคลื่อนสู่กระแสสูง และความพินาศฉิบหายก็เยื้องกรายเข้าครอบงำประเทศนี้เหมือนเดิม

ประการที่สาม พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดหันไปสนับสนุนให้นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทีท่าแบะท่าอ้าขารออยู่แล้ว

ในกรณีนี้แม้ภาพลักษณ์จะดูดีกว่าสองประการแรก แต่นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็จะถูกแรงกดดันจากพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.มาก ให้จำยอมต้องทำเรื่องราวต่างๆ ตามความต้องการของพวกเขา แล้วจะกลายเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดต่อไป

เว้นเสียแต่ว่านายบรรหาร ศิลปอาชา จะสลัดตัดขาดจากพรรคพลังประชาชนแล้วรวมเอาพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ส.ส. พรรคพลังประชาชนสายเหนือบางกลุ่มสนับสนุนอยู่ลับๆ

จากนั้นก็ทำตัวเป็นรัฐบาลที่ปลอดจากการครอบงำของพรรคพลังประชาชน และระบอบทุนสามานย์ แล้วคลี่คลายวิกฤตทางภาคประชาชนก็จะพอเดินไปได้

ในประการนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่านายบรรหาร ศิลปอาชา จะยอมเป็นข้าทาสของระบอบทุนสามานย์โดยยอมเป็นหุ่น ซึ่งไม่ต่างอันใดกับนายสมัคร สุนทรเวช หรือว่าจะเป็นตัวของตัวเอง ดังประการหลัง

แต่ประการหลังใช่ว่าจะง่ายดาย เพราะพรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่เล่นด้วย ซึ่งจะต้องติดตามดูกันต่อไป

ประการที่สี่ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคสำนึกรับผิดชอบกลับตัวกลับใจหันไปจับมือร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนขั้วการเมืองใหม่ สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในประการนี้ย่อมมีแนวโน้มว่าแรงกดดันนอกสภาจะน้อยกว่าประการอื่น และจะรับศึกเฉพาะด้านพรรคพลังประชาชนเพียงด้านเดียวเท่านั้น

ศึกในสภาไม่น่าวิตกประการใด เพราะ 6-7 เดือนจากนี้ไปเป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ อภิปรายทั่วไปไล่รัฐบาลไม่ได้ และเมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว อำนาจรัฐก็จะกระชับขึ้น และยังมีเสียงมากพอที่จะเอาชนะการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ส่วนศึกนอกสภาไม่ใช่เรื่องยากลำบากประการใด เพราะพลังนอกสภาบางพลังนั้นต้องอาศัยเงิน อาศัยอำนาจรัฐและเครือข่าย หากไร้อำนาจรัฐ ถูกตัดเครือข่ายและสลายเส้นสายทางการเงินแล้ว พวกผีโม่แป้งเหล่านั้นก็คงไม่เป็นพิษเป็นภัยแต่ประการใด

ประการนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการเมืองไทยในวันนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงต้องปรับตัวให้พ้นจากการเมืองแบบเก่าๆ ที่เอาแต่พวกพ้องและเฉื่อยชาล้าหลัง

ร่วมมือกับประชาชนสร้างการเมืองใหม่ ทำการปฏิรูปการเมือง ถอนรากถอนโคนระบอบทุนสามานย์ ปฏิรูปสื่อให้เป็นอิสระและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง รื้อถอนรัฐตำรวจ ให้ตำรวจเป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นที่พิทักษ์สันติราษฎร์และอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูความสามัคคีที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและนำประเทศชาติกลับสู่ความเป็นปกติสุขและเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

ความเป็นไปได้ทั้งสี่ประการนี้จะปรากฏโฉมให้เห็นในวันที่ 12 กันยายน 2551

นักการเมืองทั้งหลายควรจะได้ทำความรู้ความเข้าใจว่าประเทศไทยใน พ.ศ. 2551 นี้ไม่ใช่ยุคสมัยที่จะโกงกินชาติบ้านเมืองได้ตามอำเภอใจอีกต่อไปแล้ว

ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองและรับรู้ข้อมูลข่าวสารกว่าทุกระยะในประวัติศาสตร์ของชาติ

นิสิต นักศึกษา และแม้กระทั่งนักเรียนได้ตื่นตัวขึ้นมาแล้วทะลายกำแพงแห่งมนต์อสูรของระบอบทุนสามานย์และอำนาจชั่วร้ายที่ใช้ผ่านอธิการบดีหรือผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งหลายได้สำเร็จ

การเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่และมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของนิสิต นักศึกษาและนักเรียนที่หลับใหลสูญสิ้นไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และถูกมนต์อสูรแห่งระบอบทุนสามานย์เสกเป่าให้เมางมงายอยู่กับการบันเทิง อบายมุข และเสพสุขเชิงโลกีย์มาเป็นเวลาหลายปีจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เบิกโฉมหน้าและอนาคตทางการเมืองที่รุ่งโรจน์และมีความหวังให้กับประเทศไทยและคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาจะปรากฏตัวเป็นรูปเป็นร่างเพียงระยะเวลาไม่ถึงเดือน แต่พลังอันบริสุทธิ์ สร้างสรรค์ กล้าหาญ กล้าต่อสู้และกล้าเสียสละของเยาวชนนั้นเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ มีผลใหญ่หลวงทางประวัติศาสตร์

เป็นผลผลิตและผลึกของประชาชาติไทยที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ากว่าคนเดือนตุลา ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้าร่วมเหตุการณ์เพียงไม่กี่วัน แล้วอ้างความเสียสละของวีรชนในอดีตมาทำมาหากินโดยสิ้นไร้วิญญาณมนุษย์ดังที่เห็นๆ กันอยู่

พลังของประชาชาติไทย โดยเฉพาะพลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ตื่นตัวขึ้นมาเช่นนี้ จะทำให้การเมืองเก่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ น่าขยะแขยง และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกวาดล้างออกไป ปลดปล่อยประเทศจากพันธนาการที่ล้าหลังและเน่าเฟะ

เปิดศักราชการเมืองใหม่ให้กับประเทศไทย ที่เริ่มต้นด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีมีอำนาจในบ้านเมือง กำจัดกวาดล้างคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจในบ้านเมือง

ประชาชนทุกหมู่เหล่าซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเฉพาะอำนาจในการกำกับตรวจสอบดูแลผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง

สื่อมวลชนจะต้องรับใช้ประเทศชาติและประชาชน เสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ปิดฉากยุคสมัยของการมอมเมา บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี และเป็นขี้ข้านักการเมืองอย่างสิ้นเชิง ก่อบรรยากาศการศึกษาให้กับประชาชาติไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ

การบริหารราชการแผ่นดินจะมุ่งรับใช้ประเทศชาติและประชาชน มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอีกต่อไป

การฉ้อฉลปล้นแผ่นดินสิ้นสุดลง คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม เฟื่องฟุ้งรุ่งเรืองขึ้นในราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง

วันนี้รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีถูกโค่นไปแล้ว แต่ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของประชาชนไทยยังคงต้องรุดไปข้างหน้าต่อไปจนกว่าการเมืองใหม่จะปรากฏขึ้นในแผ่นดินนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น