xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” หนุนปฏิรูปการเมืองใหม่ เชียร์การเมืองภาค ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการจากรั้วธรรมศาสตร์ หนุนแนวคิดปฏิรูปการเมืองใหม่ เพราะสังคมขาดความไว้วางใจรัฐบาลแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ชี้ อนาคตการเมืองภาค ปชช.จะถือเป็นสถาบันหลักในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แนะพันธมิตรฯเป็นฝ่ายค้านนอกระบบรัฐสภา

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ชี้ชะตาประเทศ จับตาผู้นำใหม่” นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองเป็นอัมพาต ดังนั้น เพื่อให้การเมืองเดินไปได้ ต้องคลี่คลายการแบ่งขั้วก่อน โดยทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาล พรรคพลังประชาชน ต้องฉลาดที่จะเลือกผู้นำที่ยอมรับกับประชาชน สร้างความชอบธรรมในการบริหารงาน แรงกดดันจะได้ลดลง ขณะที่พันธมิตรฯ ต้องช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองโดยอาจย้ายออกจากทำเนียบ และชุมนุมที่อื่นโดยสันติ สงบ ทั้งนี้ อยากคาดการณ์แนวโน้มว่า ไม่ว่า ใครจะเป็นนายกฯ ขี้เหร่ ได้รับความชอบธรรมสูงหรือไม่ แม้จะคลี่คลายสถานการณ์ลง แต่คิดว่า ความตึงเครียดจะอยู่กับประเทศพอควร กินเวลาหลายปี เพราะปัญหาความขัดแย้งได้ลงลึกถึงโครงสร้างการเมือง ทางออกคือ เราต้องปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ จัดสถาบันการเมืองใหม่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างความชอบธรรม ควรประกาศชัดเจนว่า จะปฏิรูปการเมืองรอบใหม่

นายประจักษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ ต่างจากการแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็น เพราะวันนี้สังคมไม่ไว้ใจ หากรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็เพื่อมุ่งประโยชน์ให้พรรคตัวเองเท่านั้น รัฐบาลต้องประกาศปฏิรูปการเมืองร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยต้องดูบทเรียนจากช่วงปี 2540 ที่รัฐบาลบรรหาร เผชิญภายใต้แรงกดดันการเมืองมากมาย แต่รัฐบาลบรรหารก็ผลักดันการปฏิรูปการเมืองได้คะแนนเสียงพอควร วันนี้ รัฐบาลเผชิญแรงกดดันมหาศาล ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการปฏิรูปการเมือง พาการเมืองไทยออกจากวิกฤต ทั้งนี้ ตัวละครการเมืองที่สำคัญขณะนี้มี สามตัวละครหลักๆ แน่นอนวันนี้มี 2 ขั้วที่เผชิญหน้าคือ พรรคการเมืองในระบบ และขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ปฏิเสธขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนไม่ได้ อีกตัวละครคือ กองทัพ ถ้ามองเป็นสามเหลี่ยมก็จะเห็นว่า เราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ พรรคการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภาอย่างไร

นายประจักษ์ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่ซับซ้อน เพราะตัวละครการเมืองขณะนี้ไม่เป็นเอกภาพ เราเดินมาถึงจุดสำคัญที่แม้แต่ ขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน มีกลุ่มสนับสนุนพันธมิตรฯ กลุ่มต่อต้าน กลุ่มกลางที่ไม่เห็นด้วยกับสองกลุ่ม ดังนั้น วันนี้มันซับซ้อนไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เป็นแบบ ชาวบ้าน สมัชชาคนจน ซึ่งทำให้การเมืองมีลักษณะประหลาด จับขั้วกันสามกลุ่มไขว้กันไปมา พรรคการเมืองต่อท่อกับกองทัพ และได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอีก การเมืองไทยจึงซับซ้อนมากกว่าเดิม

นายประจักษ์ กล่าวว่า ความตึงเครียดในปัจจุบันที่ออกมาในรูปแบบนี้ หากเอาเครื่องมือทางรัฐศาสตร์มาวิเคราะห์ จำเป็นต้องเข้าใจความเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯก่อน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวรอบสุดท้ายที่บุกยึดเอ็นบีที และทำเนียบรัฐบาล เป็นการเคลื่อนไหวที่เกินกำลังตัวเอง เพื่อยึดอำนาจรัฐ ปัญหา คือ พันธมิตรฯไม่มีกองกำลังที่จะยึดอำนาจรัฐของตัวเองได้ จึงต้องอาศัยการพึ่งพิงจากกลุ่มอื่น คือ กองทัพ ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.ก็เหมือนกัน พันธมิตรฯกับกองทัพก็เป็นแนวร่วมกัน ครั้งนี้พันธมิตรฯยึดอำนาจรัฐไปได้ครึ่ง ยึดประเทศเหมือนอัมพาต รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่กองทัพรักษาบทบาทตัวเองดี ไม่เข้ามาตอบสนองการเรียกร้องจากฝ่ายพันธมิตรฯ เพราะเห็นว่าการรัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ทำให้การเรียกร้องของพันธมิตรฯที่ต้องการยึดอำนาจรัฐและเปลี่ยนกติกาการเมืองใหม่ จึงไม่สำเร็จ การเมืองจึงหยุดตรงนี้ พันธมิตรฯจึงอยู่ในสภาวะหาทางลงลำบาก เพราะเคลื่อนไหวในลักษณะเผชิญหน้า แตกหัก และละเมิดกฎหมายไปแล้ว

“ไม่ว่า สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปอย่างไร ใครจะมาเป็นผู้นำการเมืองคนใหม่จะต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของขบวนการการเมืองของประชาชนนอกรัฐสภา แม้พันธมิตรฯจะยุติการชุมนุม แต่ก็มีมวลชนมากกว่าที่ยึดทำเนียบ เพราะพันธมิตรฯเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง หลายชนชั้น มีคนสนับสนุน เอสเอทีวีมีสมาชิก 2-3 ล้านคน เขาก็อาจจะเป็นฐานเสียงเพื่อสนับสนุนวาระทางการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ หรือหากมองข้ามช็อต พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นปช.แน่นอน อาจเกี่ยวกับกับพรรคพลังประชาชน ดังนั้น ความตึงเครียดก็จะมีอยู่ หากเราไม่ออกแบบสถาบันการเมืองอย่างใหม่เพื่อจัดเสถียรภาพการเมืองให้ดีขึ้น” นายประจักษ์ กล่าว

นายประจักษ์ กล่าวว่า พันธมิตรฯมีทางออก เช่น 1.จัดตั้งพรรคการเมือง เพราะมีฐานมวลชนแน่นอน จะทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าสู่ระบบไป ช่วยลดความตึงเครียดได้ เป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในหลายๆ ประเทศ เช่น บราซิล ก็มีขบวนการแรงงาน เยอรมนี ก็มีสิ่งแวดล้อม เป็นมวลชนนอกสภาก่อนและถึงมาตั้งพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนอกสภามันเหนื่อย การผลักดันอะไรต้องใช้เวลานาน ทรัพยากรมาก ต้องเรียกร้องความเสียสละจากมวลชนสูง

2.ชุมนุมต่อไป เป็นฝ่ายค้านนอกรัฐสภาไป แต่ต้องลดระดับการเรียกร้องที่เน้นแตกหัก เผชิญหน้า หรือ ยื่นคำขาด ชุมนุมให้รัฐบาลลาออก หรือ ยึดอำนาจรัฐ เหมือนคงสถานะขบวนการ ไม่สร้างความตึงเครียด ไม่ทำให้เป็นอัมพาต ในอดีตเราเคยมีมาแล้ว การชุมนุมทำหน้าที่ส่วนเสริม มุ่งแก้ไข แต่ไม่ใช่ทำลายหรือเปลี่ยนระบบทั้งหมด ให้การศึกษากับประชาชนเรื่องการเมืองใหม่ หากได้รับการสนับสนุนก็จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ

“ทางออกสังคมไทย ไม่ว่าใครก็ตามเป็นรัฐบาล ควรผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้ชัดเจนว่าเพื่อร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่แก้กฎหมายอย่างเดียว หลายเรื่องมีปัญหาเช่น กติกาเลือกตั้ง กฎหมายยุบพรรค เราอาจจะต้องทบทวนว่า การที่พรรคถูกยุบได้ง่ายๆ จะสร้างปัญหาในอนาคต ที่ไม่มีความต่อเนื่อง หรือ ส.ว.แต่งตั้ง ทั้งหมด ต้องเอารัฐธรรมนูญ 40 เป็นตัวตั้งในการแก้ไข” นายประจักษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงอนาคตของพรรคพลังประชาชน ที่มีความแตกร้าวกันสูงจากการเลือกนายกรัฐมนตรี นายประจักษ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน มี 3 ปัจจัย คือ อำนาจทุนตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทุนหลายกลุ่ม แต่กลับมาเอื้อต่อพรรคไทยรักไทย 2.กติกาของรัฐธรรมนูญ 40 ที่มุ่งสร้างพรรคการเมืองเข้มแข็ง พยายามสร้างพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน จึงทำให้พรรคไทยรักไทยเข้มแข็ง 3.นโยบายที่ได้เปรียบ ขายนโยบายเพื่อชนะการเลือกตั้ง แม้วันนี้จะเกิดวิกฤต ทำให้พลังของทักษิณลดลง แต่ก็ได้รับกลับมาใหม่ พ.ต.ท.ทักษิณ เปลี่ยนการเมืองทำให้พรรคการเมืองขายได้ ซึ่งแม้มุ้งต่างๆ ยังทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ก็ยังเกาะติดแบรนด์เนมที่ดี จึงมองว่า พรรคพลังประชาชนอาจไม่แตกสลาย หรือลดอำนาจลง

“แต่สำหรับอำนาจทักษิณนั้น ลดลงแน่นอน ที่ผ่านมา เราคิดว่า ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายทักษิณ เราจึงแลกทุกอย่างเพื่อกำจัดตัวบุคคล วันนี้ มีทั้งศาล กองทัพ คอยค้ำยัน ขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาในภาคประชาชนก็ตรวจสอบเข้มข้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยู่เมืองนอก คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีทางที่จะมีอำนาจได้เหมือนที่ตัวเองมี ฉะนั้น เราอย่าไปกลัว” นายประจักษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น