xs
xsm
sm
md
lg

อดีตตุลาการ รธน.เชื่อ พปช.ไม่ยอมเสียเก้าอี้นายกฯ ปลดล็อกความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ
“สุจิต” หนุนจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่เชื่อดึง ส.ส.พรรคเล็กนั่งนายกฯ ปลดล็อกความขัดแย้งแค่เพ้อฝัน ชี้ พปช.หวงอำนาจ แนะเสนอชื่อ “บรรหาร” นั่งนายกฯคนกลาง ลดการเผชิญหน้าได้ระดับหนึ่ง ชี้ขุนพลในระบอบ “แม้ว” ตายเรียบคาสมรภูมิ แต่กลุ่มคนรักทักษิณยังอยู่


วันนี้ (14 ก.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ชี้ชะตาประเทศ จับตาผู้นำใหม่” โดย นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 40 ได้มอบอำนาจเลือกนายกฯให้แก่ ส.ส.ก่อนหน้านั้น อำนาจในการเสนอชื่อนายกฯเป็นของประธานรัฐสภา ถือเป็นอำนาจเฉพาะของประธานรัฐสภาที่จะปรึกษาใครก็ได้ที่ผ่านมาก็ปรึกษาหัวหน้าพรรคการเมือง การจะปรึกษาแล้วไม่เอาก็ได้ เช่น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภา เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายหารือกัน รัฐธรรมนูญ 40 บอกว่า ให้สภาผู้แทนเป็นผู้เลือก ไม่มีการหมกเม็ด

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎร สภาต้องวินิจฉัยให้รอบคอบ ว่า การเลือกตั้งนายกฯครั้งนี้ จะต้องมองถึงความสามารถของบุคคลที่จะเป็นนายกฯ แน่นอนโดยประเพณีจะเอาหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากที่สุดในสภาภายใต้เงื่อนไข ว่า พรรคจะต้องรวบรวมพรรคอื่นร่วมเป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้าเป็นกรณีภาวะวิกฤต ตนเห็นว่า รัฐบาลที่มาใหม่จะต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดจากการแตกขั้วของสังคมไทยให้ได้ ดังนั้น หากดูสภาพการเป็นจริง พรรคพลังประชาชนยังอ้างประเพณีว่า ตนเองมีเสียงมากที่สุดในสภา จึงมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมมือกับพรรคอื่น และถ้าพรรคเล็กๆ ร่วมมือกับพรรคพลังประชาชน โอกาสจะเสนอชื่อคนของพรรคพลังประชาชนมีสูง ซึ่งขณะนี้โอกาสที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเป็นนายกฯ มีสูง ส่วน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คงสู้ นายสมชาย ไมได้ ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แม้จะเป็นคนเก่ง แต่ยังอ่อนอาวุโส ดังนั้น นายกฯ ยังจะเป็นคนของพรรคพลังประชาชน

“นายสมชาย คงไม่สามารถแก้วิกฤตที่เกิดจากการแบ่งขั้วได้ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า ยังเป็นนอมินีเหมือนเดิม การต่อต้านจึงมีอยู่ต่อไป และนายกฯคนใหม่ คงจะปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปซักพัก และถ้าถึงจุดยุบสภาก็จะยุบเพื่อเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ แต่ก่อนหน้าจะยุบสภา 4-5 เดือน รัฐบาลคงบริหารงานประจำทั่วไปเรื่อยๆ คงไม่ไปกดดันพันธมิตรฯ เพราะมองไม่ออกจะทำได้หรือไม่ รัฐบาลสมัครก็ทำไม่ได้ ใช้กำลังตำรวจ ประกาศ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ผบ.ทบ.แก้ปัญหาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นแสดงว่า รัฐบาลขาดความสามารถในการจัดการกับผู้ประท้วง จึงรู้สึกว่า การหาทางแก้ทางการเมืองเพื่อลดการเผชิญหน้า อาจจะจำเป็นมากกว่าใช้อำนาจตามกฎหมาย เพราะพิสูจน์แล้วอำนาจตามกฎหมายใช้ไม่ได้ จึงเชื่อว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมคงแก้ปัญหาไม่ได้ และคงอยู่ในอำนาจในระยะหนึ่ง แล้วยุบสภา ซื้อเวลาไปอีกระยะ” นายสุจิต กล่าว

นายสุจิต กล่าวว่า ทางเลือกที่ดีกว่านี้ อาจจะมีแต่คิดว่า ส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วย เช่น รัฐบาลแห่งชาติ โดยให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเหมือนเดิม แต่ต้องไม่เอาคนพลังประชาชนเป็นนายกฯ เพื่อเอาตรงนี้ไปกดพันธมิตรฯลดการต่อสู้ลงไป แต่พรรคพลังประชาชน คงไม่ยอมให้พรรคเล็กมาเป็นนายกฯแทน ดังนั้น รัฐบาลแห่งชาติ ต้องเอาทุกพรรคเป็นรัฐบาลเพื่อสลายขั้วความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าได้บ้าง แม้ไม่เด็ดขาด อาจจะทำให้การประท้วงเบาบางลง การยึดทำเนียบออกไป ตรงนี้น่าสนใจ จริงๆ แล้วรัฐบาลแห่งชาติตนไม่ชอบ เพราะขาดการคานอำนาจในฝ่ายค้าน แต่ในภาวะวิกฤตเราต้องจำเป็นเหมือนกัน และประสบการณ์ประเทศอื่นก็เคยมี เช่น อังกฤษ เคยมีรัฐบาลแห่งชาติในช่วงมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 2474 กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ช่วงสงครามไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ มีพรรครัฐบาลโดยพรรคอนุรักษนิยม

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชน อาจไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ เพราะทำให้อำนาจเขาด้อยลงและเป็นข้อเสนอฝ่ายค้าน แต่เห็นว่า ภารกิจของรัฐบาลขณะนี้อยู่ที่จะแก้ปัญหาการสลายขั้วได้แค่ไหนเพราะประเทศชาติจะแย่ลง เรื่องนี้ สภาผู้แทนเป็นคนเลือกรัฐบาลจะต้องคิดตรงนี้ด้วย อำนาจในการตั้งนายกฯเป็นอำนาจสำคัญของ สส. รัฐธรรมนูญกำลังมอบความเป็นความตายในบ้านเมืองให้กับ ส.ส.ในการเลือกนายกฯ ส.ส.จึงมีคุณค่าไม่ใช่ศักดิ์แต่ละเลือกกันไป

นายสุจิต กล่าวว่า ส.ส.อาวุโส ที่เป็นนายกฯในรัฐบาลแห่งชาติ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เพราะเป็นผู้ใหญ่มีทักษะในการติดต่อกับหลายฝ่าย ไม่ได้เป็นคู่ปรปักษ์กับพันธมิตรฯ และสามารถพูดจากับ พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส่วนภารกิจรัฐบาลแห่งชาตินั้น คือ ทำอย่างไรจะให้การชุมนุมของพันธมิตรฯลดน้อยลง หากจะประท้วงไปที่อื่นได้หรือไม่ นอกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อลดราวาศอก เพราะพันธมิตรฯบอกว่า ไม่ต้องการรัฐบาลที่เป็นนอมินี วันนี้เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองสำคัญที่สุด เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ ที่เป็นนอมินี มันก็ไม่มีการเปลี่ยนนอมินี อย่างไรจะแก้ปัญหาการเผชิญหน้าได้หรือไม่ แน่นอนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ พรรคการเมืองอาจไม่ชอบ แต่ข้อให้คิดเพราะจะช่วยลดการเผชิญหน้าได้ระดับหนึ่ง แต่การยุบสภาจะแก้ปัญหาการเผชิญหน้าได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้

เมื่อถาม 7 เดือนที่ผ่านมา คิดว่า อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ลดลงหรือไม่ เพราะขุนพลหลายคนตายเรียบในสนามรบ นายสุจิต กล่าวว่า ขุนพลทักษิณมีหลายระดับ ไม่ใช่เฉพาะระดับบนเท่านั้น ยังมีระดับล่าง ที่เห็นชัดคือ เครือข่ายวิทยุที่อุดรธานี ดังนั้น แม้ว่าจะมีการรัฐประหารหรือ ให้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดการกับคนทำผิดกฎหมาย บังเอิญเป็นคนระดับบน ส.ส. แต่ระดับล่างยังอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครือข่ายทักษิณจะยังคงไม่สามารถทำงานเหมือนเดิม แต่สิ่งที่พรรคพลังประชาชนทำ คือ ชาวบ้านเอาด้วย เพราะมองว่า นโยบายอะไรที่เขาได้ ดังนั้น การที่ อดีตหัวหน้าพรรคหายไป พรรคมันอาจจะหด แต่มันไม่ได้หายไป

“การแตกแยกในพรรคจะมีได้ หากคดีต่างๆ ที่จะต้องตัดสินโดยศาลมันจะออกในลักษณะที่เป็นผลลบกับอดีตหัวหน้าพรรค เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ ถ้าชี้ว่า ทักษิณผิดจริง อิทธิพลเขาก็จะลดลง โอกาสแตกขั้วอีกก็จะมี เพราะพรรคนี้เกิดขึ้นจากตัวอดีตนายกฯทักษิณ ขณะเดียวกัน ฐานของพรรคพลังประชาชนในบางพื้นที่ก็อาจจะมีอยู่เหมือนเดิม แต่ ส.ส.อาจลดลง เช่น ฐานอีสานที่อยู่กับนโยบายประชานิยม ผู้นำท้องถิ่น โอกาสที่จะลดลงไปก็มี” นายสุจิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น