xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนวิตก“สินเชื่อโลก”ยังคงผันผวน แม้จีน-ญี่ปุ่นเฮสหรัฐฯช่วยแฟนนี-เฟรดดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ซื้อตราสารหนี้ของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค รายใหญ่ที่สุด ต่างแถลงชมเชยทางการสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตรการกอบกู้ช่วยเหลือสถาบันปล่อยสินเชื่อเคหะรายยักษ์ทั้ง 2 แห่งนี้ไม่ให้ต้องล้มละลายลง อย่างไรก็ดี ทางด้านพวกผู้จัดการกองทุนภาคเอกชนลงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันคราวนี้ ไม่ทำให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกสลัดหลุดพ้นจากสภาพย่ำแย่แต่อย่างใด

ตลาดแถบเอเชียวานนี้(8) ต่างขานรับแผนการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเข้าเทคโอเวอร์แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค โดยเฉพาะหุ้นในภาคการเงินการธนาคารพากันทะยานขึ้นเป็นแถว ส่วนพันธบัตรและตราสารหนี้ซึ่งเคยถูกใช้เป็นที่หลบภัย ก็ถูกเทขาย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายได้ออกมาเตือนนักลงทุนว่า แผนการของวอชิงตันคราวนี้ควรถือเป็นสัญญาณแสดงว่าระบบการเงินโลกยังคงอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอันตราย มากกว่าเป็นเครื่องหมายว่าการฟื้นตัวกำลังใกล้จะมาถึงแล้ว

“เราพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะมองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่าเป็นภาวะกระทิง ในเมื่อจำเป็นต้องให้รัฐบาลใช้มาตรการแทรกแซงอย่างเต็มที่กันถึงขนาดนี้” เดวิด โรเซนเบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์ค่ายเมอร์ริลลินซ์ ให้ความเห็น

“ในทัศนะของเรานั้น การเข้าเทคโอเวอร์แฟนนีกับเฟรดดี แท้ที่จริงแล้วคือข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งว่า ระบบการเงินกำลังหักพังเสื่อมร้าวกันถึงขนาดไหนแล้วในเวลานี้”

พวกที่น่าจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวมากที่สุดจากความเคลื่อนไหวของวอชิงตันครั้งนี้ น่าจะเป็นผู้ที่กำลังถือครองตราสารหนี้ของแฟนนีและเฟรดดีเอาไว้ จากเมื่อวันศุกร์(5) ราคาซื้อขายตราสารหนี้เหล่านี้อยู่ในระดับทรุดฮวบ ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นอัตราผลตอบแทน ก็จะเท่ากับต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯถึง 1% เต็มๆ ทว่ามาถึงวานนี้(8) จากการเทคโอเวอร์ของรัฐบาลอเมริกัน ตราสารหนี้เหล่านี้ก็กำลังเสมือนมีฐานะมั่นคงปลอดภัยเทียบเทียมพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ทีเดียว

ดังที่วาณิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ ระบุในรายงานสรุปส่งถึงลูกค้าว่า คิดว่าช่วงห่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้แฟนนี-เฟรดดี กับของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะต้องหดแคบลง

ทั้งทางการจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ถือครองตราสารหนี้ของแฟนนี-เฟรดดี มากเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองตามลำดับ ต่างออกมาแถลงแสดงความชื่นชมมาตรการช่วยเหลือไม่ให้สถาบันสินเชื่อเคหะทั้งสองต้องล้มละลายไป

“ผมคิดว่ามันจะมีผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมันช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยการทำให้ตลาดการเงินในสหรัฐฯมีเสถียรภาพมากขึ้น” รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น บุนเมอิ อิบูกิ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้

ขณะที่ มาซาอากิ ชิรางาวะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ก็กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างไปร่วมการประชุมพวกนายธนาคารกลาง ณ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า ปฏิบัติการของทางการสหรัฐฯครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพ ทั้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อเคหะ, ตลาดการเงิน, และตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ส่วน โจวเสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนบอกว่า ผู้คนที่แตกต่างกันย่อมมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับทัศนะของเขาแล้ว เขาเห็นว่ามาตรการในคราวนี้ให้ผลในทางบวก

ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ณ กลางปี 2007 จีนถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯอยู่ 376,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ญี่ปุ่นถือไว้ 229,000 ล้านดอลลาร์

**ข่าวร้ายยังจะตามมาอีก**

ด้วยการเข้ากอบกู้ช่วยเหลือแฟนนี-เฟรดดี 2 สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ปล่อยและผู้ค้ำประกันเงินกู้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้สินเชื่อเคหะ 12 ล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ รัฐบาลอเมริกันก็ได้ขจัดความกังวลใจเปลาะหนึ่งที่แฝงฝังอยู่ในตลาดการเงิน อีกทั้งมีบทบาทอยู่มากในการผลักไสให้ญี่ปุ่น, ยุโรป, และสหรัฐฯ ถอยลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทว่าพวกผู้จัดการกองทุนรายหลายทีเดียว ต่างรีบออกมาชี้ว่า อันตรายที่สถาบันสินเชื่อเคหะยักษ์ใหญ่ทั้งสองจะล้มครืน และพาเอาตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯพังพาบไปด้วยนั้น ต้องถือว่าเป็นเพียงภัยคุกคามประการหนึ่งในหลายๆ ประการที่กำลังปกคลุมเหนือเศรษฐกิจโลกในเวลานี้

สกอตต์ เบนเนตต์ ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งของ อเบอร์ดีน แอสเสต แมเนจเมนต์ ในสิงคโปร์ ชี้ว่า กระทั่งมาตรการช่วยเหลือคราวนี้ รัฐบาลสหรัฐฯก็ยังไม่ใช่ทุ่มเทเงินสดเข้ามาแล้ว เพียงแต่กำลังนำเอาความน่าเชื่อถือของตัวเองเข้ามา และแม้การกระทำเท่านี้ยังต้องถือว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างมหาศาลแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมดได้อยู่ดี ตัวเขาเองยังคงรู้สึกว่าต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะมีข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับเรื่องสินเชื่อเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะกลบข่าวมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯคราวนี้ไปหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น