xs
xsm
sm
md
lg

US "2 มาตรฐาน" ทุ่มช่วยแบงก์ตัวเองทั้งที่ขวางเอเชียคราววิกฤต "ต้มยำกุ้ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานใหญ่เลห์แมน บราเธอร์สในนิวยอร์ก
เอเอฟพี/เอเจนซี - สหรัฐฯ ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ตอนที่ประเทศแถบเอเชียพยายามอัดฉีดเงินเข้าประคองสถาบันการเงินที่มีปัญหาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ตอนนี้ในวิกฤต"แฮมเบอร์เกอร์" รัฐบาลอเมริกันกลับกำลังระดมเงินตัวเป็นเกลียวเพื่อต่อชีวิตให้กับบริษัทของตนเอง ซึ่งทำให้บรรดาผู้สันทัดกรณีทั้งหลายเห็นว่าเป็นการใช้สองมาตรฐานอย่างชัดเจน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังอัดฉีดเงินเข้าไปเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อหล่อเลี้ยงระบบการเงินเอาไว้ เมื่อวันอังคาร (16) เฟดได้ให้เงินกู้มูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์แก่เอไอจี เพราะไม่ต้องการให้บริษัทประกันภัยซึ่งเคยใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ต้องพับฐาน สถานการณ์ในสหรัฐฯดึงเอาตลาดโลกปั่นป่วนอย่างรุนแรงจนถึงวันพฤหัสบดี (18)

ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯ ก็ออกมาตรการช่วยเหลือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยยักษ์ใหญ่ของประเทศ เป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์มาแล้ว และเมื่อ 6 เดือนก่อนก็เพิ่งเทเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันหนี้เสียจากวาณิชธนกิจ แบร์สเติร์นส์

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางราย มองว่า ช่างแตกต่างกับแนวคิดของสหรัฐฯ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในช่วงปี 1997-1998 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างมาก เพราะตอนนั้นรัฐบาลในเอเชียได้รับคำแนะนำให้ปล่อยบริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพล้มลงตายไปเองหลังจากไม่สามารถหาสภาพคล่องเข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัทได้

"ผมคิดว่าพวกผู้เชี่ยวชาญหลายคนในวอชิงตันที่เคยแนะนำมิให้รัฐบาลเข้าประคองบริษัทในเอเชีย ในเวลานี้กำลังให้คำแนะนำที่ตรงกันข้าม โดยให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดหลายต่อหลายครั้ง" รากุราม ราจัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟช่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2006 กล่าว

"ก็นั่นแหละ คุณจะเข้าใจในปัญหาที่ประเทศอื่นเคยประสบก็เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหานั้นเสียเอง" รากุรามซึ่งตอนนี้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว

"มันก็ดูเหมือนจะดีที่บอกว่า ให้ระบบการเงินทำงานของมันไปเอง ให้ระบบปรับสู่สมดุลด้วยตัวของมัน" รากุรามชี้ "แต่ยามที่พวกเก็งกำไรเข้าโจมตีทำให้ราคาหุ้นควงสว่างลงไปอย่างรวดเร็ว และจะดึงเอาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มตามกันไปเป็นทิวแถว มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลจะต้องก้าวเข้ามาพร้อมกับบอกว่า เราจะยอมให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นไม่ได้"

ยุงชุน ปัก นักเศรษฐศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ได้เคยเข้าร่วมเจรจากับไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เมื่อตอนที่ไอเอ็มเอฟจะอนุมัติเงินกู้เกาหลีใต้ 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤตการเงินเอเชีย ไอเอ็มเอฟตั้งเงื่อนไขว่าทางการโซลจะต้องปล่อยให้แบงก์ที่ซวดเซและบริษัทอื่นๆ ล้มหายตายจากไปแทนที่จะเข้าอุ้ม

แม้ว่าเขาจะเห็นว่าสถานการณ์ของวิกฤตสหรัฐฯ เวลานี้ แตกต่างกับในเอเชียอยู่ตรงที่ถ้าปล่อยเอาไว้จะกลายลุกลามไปทั่วโลก แต่เขาก็อดจะกล่าวไม่ได้ว่า "ตอนนี้วอชิงตันใช่ตำราที่ต่างออกไปจากเมื่อก่อน"

สาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้งมาจากค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่ร่วงลงอย่างรุนแรง หลังจากกู้ยืมเงินต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาใช้ลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คราวนี้มีต้นเหตุมาจากความย่อยยับของตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัย และค่อยลุกลามไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด

อินโดนีเซีย,ไทย และเกาหลีใต้ ต่างใช้เงินตราต่างประเทศสำรองเข้าไปต่อสู้กับพวกเก็งกำไรในตลาดค้าเงินตรา ด้วยความหวังที่ว่าจะดึงค่าเงินให้กลับคืนมา หลังจากนักลงทุนต่างประเทศหายหน้าไปพร้อมกับเม็ดเงิน ทำให้สามประเทศนี้ต้องขาดทุนนับแสนล้านดอลลาร์เพราะพ่ายแพ้ให้กับพวกเก็งกำไรค่าเงินอย่างราบคาบ และในที่สุดต้องให้ไปกู้เงินไอเอ็มเอฟรวมกันมากกว่าแสนล้านดอลลาร์ เพื่อให้ไม่ต้องหยุดจ่ายหนี้ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญบางรายแก้เนื้อแก้ตัวให้ทางการวอชิงตันว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของสหรัฐฯ ในเวลานี้ มีความจำเป็นอย่างมากเพราะจะช่วยธำรงเอาระบบการเงินโลกเอาไว้

นักวิเคราะห์หลายราย อ้างว่า สหรัฐฯ กำลังช่วยเหลือประเทศอื่นๆ อยู่โดยป้องกันมิให้เอไอจีร่วงลงไปอยู่ในหลุมเดียวกับเลห์แมน และแบร์สเติร์น มิเช่นนั้นธนาคารในยุโรปที่ลงทุนมหาศาลในเอไอจีจะถูกเหนี่ยวนำให้ทรุดตามไปด้วย นอกจากนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯก็ไม่ได้ช่วยสถาบันการเงินทุกราย เพราะก่อนหน้านี้ก็ปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจอันดับ 4 ของประเทศเผชิญหน้ากับปัญหาสภาพคล่องขาดแคลนเงินทุนไหลออกจนต้องประกาศภาวะล้มละลายไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น