xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ใหญ่สหรัฐฯ-ยุโรป‘ล้ม’อีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเอฟพี – วิกฤตสินเชื่อทั่วโลกเล่นงานภาคธนาคารของสหรัฐฯและยุโรปอย่างรุนแรงเมื่อวานนี้ แบงก์ยักษ์อเมริกัน วาโคเวีย คอร์ป ต้องขายทรัพย์สินแทบทั้งหมดให้ซิตี้กรุ๊ป ส่วน 3 ธนาคารใหญ่ในยุโรปต้องให้ทางการเข้าไปอุ้ม ขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯเตรียมลงมติผ่านแผนการช่วยชีวิตภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์

ข้อตกลงที่ซิตี้กรุ๊ปเข้าซื้อทรัพย์สินส่วนใหญ่ของวาโคเวีย ซึ่งถือว่าเป็นแบงก์ในระดับท็อปแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จโดยที่มีบรรษัทรับประกันเงินฝากสหรัฐฯ (เอฟดีไอซี) เป็นตัวกลาง อีกทั้ง เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ออกคำแถลงกล่าวว่า การปฏิบัติการของเอฟดีไอซี “สาธิตให้เห็นถึงความมุ่งมั่นผูกพันอย่างไม่คลอนแคลนของรัฐบาลของเรา ต่อเรื่องเสถียรภาพทางการเงินและทางเศรษฐกิจ”

ตามข้อตกลงคราวนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยได้รับคำปรึกษาหารือจากทั้งเฟด, กระทรวงการคลังสหรัฐฯ, ตลอดจนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น ลูกค้าที่ฝากเงินกับวาโคเวียจะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และคาดหมายว่าทางกองทุนรับประกันเงินฝากจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ทั้งนี้ตามคำแถลงของเอฟดีไอซี

“วาโคเวียไม่ได้ล้ม แต่กำลังจะถูกครองรองโดยซิตี้กรุ๊ป อิงก์ บนพื้นฐานของการธนาคารแบบเปิด ด้วยความช่วยเหลือจากเอฟดีไอซี” เอฟดีไอซีระบุในเว็บไซต์ของตน

อย่างไรก็ตาม วิลเลียม ลาร์คิน ผู้จัดการฝ่ายตราสารหนี้แห่ง แคบอต มันนี แมเนจเมนต์ ในเมืองซาเลม มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงการขายวาโคเวีย ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯเมื่อวัดจากปริมาณสินทรัพย์ รวมทั้งการที่ทางการในยุโรปเข้าไปช่วยเหลือโอบอุ้มแบงก์ใหญ่ในทวีปนั้นถึง 3 แห่ง กำลังกลายเป็นการเบียดแย่งแสงสปอตไลต์ออกมาจากแผนการ 7 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐฯที่พิจารณากันอยู่ในรัฐสภา และก็อาจเป็นตัวป่วนตลาดโลกได้อย่างอลวน

“การแถลงข่าวพวกนี้ช่างออกมาในจังหวะเวลาซึ่งยากที่จะเลวร้ายได้มากกว่านี้แล้ว เพราะข่าวเหล่านี้กำลังบดบังข่าวที่อาจจะมีการผ่านแผนการช่วยชีวิตภาคการเงินในรัฐสภาสหรัฐฯ” ลาร์กินบอก

ทางด้านซิตี้กรุ๊ปออกคำแถลงกล่าวว่า จะชำระเงินจำนวนราว 2,160 ล้านดอลลาร์ในรูปของหุ้นให้แก่วาโคเวีย รวมทั้งยอมรับหนี้สินของวาโคเวียซึ่งประมาณคร่าวๆ ว่าอยู่ในราว 53,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้แลกกับการที่ซิตี้กรุ๊ปจะได้สินทรัพย์ในกิจการธนาคารมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนหนี้สินที่ผูกพันเกี่ยวข้อง

ซิตี้จะได้สินทรัพย์ของวาโคเวียไปแทบทั้งหมด รวมทั้งสถาบันรับฝากเงินรวม 5 แห่ง แต่จะไม่ได้ เอจี เอดเวิร์ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่มุ่งลูกค้ารายย่อย ตลอดจน เอเวอร์กรีน ที่เป็นกิจการด้านบริหารจัดการสินทรัพย์ของวาโคเวีย

“เราจะยังคงมุ่งเป็นผู้นำซึ่งเน้นไปที่กิจการนายหน้าค้าหลักทรัพย์มุ่งลูกค้ารายย่อย และการบริหารจัดการสินทรัพย์” โฆษกของวาโคเวียบอก ขณะที่ซิตี้กรุ๊ปแจงว่า เพื่อหาเงินมาชำระการเข้าซื้อคราวนี้ จะระดมออกหุ้นสามัญอีก 10,000 ล้านดอลลาร์รวมทั้งลดการจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสลงไป

**วิกฤตแบงก์ยุโรป**

ข่าวเรื่องวาโคเวียปรากฏออกมา หลังจากที่ทางฝั่งยุโรป รัฐบาลของกลุ่มเบเนลักซ์ ซึ่งประกอบด้วย เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, และลักเซมเบิร์ก ได้ร่วมกันโอน “ฟอร์ติส” ซึ่งเป็นกลุ่มการธนาคารและการประกันภัยยักษ์ใหญ่เบลเยียม-ดัตช์ เข้ามาเป็นของรัฐ ด้วยการช่วยเหลืออัดฉีดเงินเข้าไปให้ 11,200 ล้านยูโร (16,000 ล้านดอลลาร์) เมื่อวันอาทิตย์(28) ภายหลังจากที่หุ้นของฟอร์ติสทรุดฮวบอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนรัฐบาลอังกฤษก็ประกาศในวันอาทิตย์เช่นกัน เข้าไปช่วยชีวิตไม่ให้แบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ (บีแอนด์บี)ต้องล้มละลายไป โดยตัดขายธุรกิจรับฝากเงิน 20,000 ล้านปอนด์ และลูกค้า 2.7 ล้านคน ไปให้แก่ ซานตานเดร์ แบงก์ยักษ์ของสเปน ในราคา 612 ล้านปอนด์ (1,100 ล้านดอลลาร์) ส่วนกิจการด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และเงินกู้อื่นๆ ก็ถูกโอนเข้ามาเป็นของรัฐ

จากนั้นในวันจันทร์(29) พวกธนาคารเยอรมันที่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล ก็ร่วมกันลงขันยื่นวงเงินสินเชื่อหลายพันล้านยูโร เพื่อช่วยชีวิต ไฮโป เรียล เอสเตท (เอชอาร์อี) สถาบันการเงินเพื่อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหา

นอกจากนั้น ที่เดนมาร์ก โบนุสบันเคน แบงก์เล็กๆ แห่งหนึ่งได้รับการช่วยชีวิตจากธนาคาร เวสต์จิสก์ และที่ไอซ์แลนด์ รัฐบาลประเทศนี้แถลงว่า จะซื้อหุ้น 75% ของ กลิตนีร์ แบงก์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไอซ์แลนด์ ในราคาประมาณ 600 ล้านยูโร (860 ล้านดอลลาร์) เพื่อผ่อนคลายปัญหาสภาพคล่องของทางธนาคาร

ส่วน เดเซีย ธนาคารสัญชาติเบลเยียม-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำด้านพันธบัตรเทศบาลในแถบยุโรป ก็ถูกแรงกดดันหนักหน่วง เนื่องจากเกิดความสงสัยและความหวาดกลัวกันว่าจะประสบปัญหาสภาพคล่อง จนหุ้นดิ่งลงมา 23.0% แม้ทางแบงก์พยายามออกคำแถลงยืนยันว่า “สภาพคล่องของเรายังดีมาก” จนกระทั่งรัฐบาลเบลเยียมต้องประกาศว่าจะยืนอยู่เคียงข้างเดเซีย

**ธนาคารกลางทุ่มอัดฉีดสภาพล่อง**

ในสภาพที่ภาคธนาคารปั่นป่วนเช่นนี้ ทางด้านธนาคารกลางต่างๆ ของโลกต่างเพิ่มความพยายามขึ้นอีกมากเมื่อวานนี้ เพื่อฟื้นฟูระบบการเงินของโลกที่กลายเป็นอัมพาต ด้วยการอัดฉีดเงินสดจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบ

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศเพิ่มสภาพคล่องอีก 330,000 ล้านดอลลาร์ ในกลไกสว็อปแลกเปลี่ยนกับธนาคารกลางของทางยุโรปและเอเชีย เพื่อจะได้มีเงินสดสกุลดอลลาร์กระจายไปสู่ระบบการเงินทั่วพิภพ

เฟดระบุในคำแถลงว่า จากปฏิบัติการล่าสุดนี้ ทำให้วงเงินสว็อปที่ทำกับธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และแบงก์ชาติอื่นๆ อีก 8 แห่ง มีจำนวนเท่ากับ 620,000 ล้านดอลลาร์แล้ว จากที่เดิมอยู่ในระดับ 290,000 ล้านดอลลาร์

การประกาศของเฟดคราวนี้บังเกิดขึ้นภายหลังจากพวกธนาคารกลางในยุโรปและเอเชีย ก็ได้เร่งรีบอัดฉีดเงินสกุลของตนเองเข้าสู่ระบบธนาคารแล้วเช่นกัน ด้วยความมุ่งหมายที่จะโน้มน้าวให้แบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ เลิกเก็บกักตุนเงินสด ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกพังพินาศได้

อย่างไรก็ดี โจ ซาลุซซี ผู้จัดการร่วมด้านการซื้อขายของ เธมิส เทรดดิ้ง ในเมืองแชแธม มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ให้ความเห็นว่า แม้พวกธนาคารกลางพยายามทุ่มเงินสดเข้าสู่ระบบ ทว่าสิ่งต่างๆ ดูเหมือนกำลังยิ่งเลวร้ายลง และพวกเขาก็กำลังกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถกระทำได้ในปัญหานี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ผล

**สภาล่างสหรัฐฯพิจารณาแผนช่วยภาคการเงิน**

หลังจากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหล่าผู้นำของรัฐสภาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถตกลงกันเกี่ยวกับแผนการ 700,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกอบกู้ช่วยชีวิตภาคการเงิน ก็ได้มีการนำแผนการนี้ซึ่งจัดทำในรูปของร่างรัฐบัญญัติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ และคาดกันว่าจะสามารถผ่านและเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันพุธ(1ต.ค.)

ประธานาธิบดีบุช ซึ่งในระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ออกมาแถลงอยู่ทุกวันเพื่อผลักดันให้รัฐสภาอนุมัติแผนการช่วยชีวิตภาคการเงินนี้โดยเร็ว ก็ได้ออกมาแถลงสั้นๆ เมื่อวานนี้อีก โดยกล่าวว่า แผนการนี้จะ “ส่งสัญญาณอันแข็งแรงไปถึงตลาดต่างๆ รอบโลกว่า สหรัฐฯมีความเอาจริงเอาจังในเรื่องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงินของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น