xs
xsm
sm
md
lg

คลังมะกันจับมือเฟด “อุ้ม”แฟนนี-เฟรดดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จับมือกันประกาศเมื่อคืนวันอาทิตย์(13) แผนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ “แฟนนี เม” และ “เฟรดดี แมค” 2 ยักษ์ใหญ่สถาบันการเงินด้านสินเชื่อเคหะที่กำลังประสบปัญหาหนัก สืบเนื่องจากพิษวิกฤตซับไพรม์ซึ่งทำให้ภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯยังทรุดต่ำลงเรื่อยๆ ทางด้านญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่ต่างก็เป็นผู้ถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯรายบิ๊กเบิ้มของโลก แม้ยินดีต่อความเคลื่อนไหวของทางการอเมริกันคราวนี้ แต่ก็แสดงความวิตกหวาดหวั่นเกี่ยวกับภาวะของระบบการเงินโลก
การประกาศแผนช่วยเหลือครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากราคาหุ้นของแฟนนี เมและเฟรดดี แมคซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อการเคหะภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ดิ่งลงต่อเนื่องรวมกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัททั้งสอง ภายหลังจากภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯยังคงย่ำแย่นับแต่วิกฤตซับไพรม์ปะทุรุนแรงในปีที่แล้ว
แฟนนีและเฟรดดี มีพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเคหะหรือการประกันสินเชื่อเพื่อการเคหะ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของสินเชื่อเพื่อการเคหะทั้งระบบในสหรัฐฯ โดยมีธนาคารกลางและสถาบันการเงินของต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ถือตราสารหนี้ของบริษัททั้งสองอยู่เป็นมูลค่ารวมกว่า 979,000 ล้านดอลลาร์
เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงภายหลังการประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือบริษัทแฟนนี เมและเฟรดดี แมคเมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า ความเข้มแข็งของบริษัททั้งสองเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของระบบการเงินและตลาดเงินของสหรัฐฯ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้โดยเร็ว
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯแถลงว่า เบื้องต้นจะให้ความช่วยเหลือแฟนนี เมและเฟรดดี แม็ค ด้วยการปรับเพิ่มเพดานสินเชื่อให้แก่บริษัททั้งสอง และหากมีความจำเป็นก็อาจพิจารณาเข้าซื้อหุ้นของบริษัททั้งสองด้วย ซึ่งนับเป็นมาตรการที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯไม่เคยใช้มาก่อน แม้ว่าบริษัททั้งสองจะอยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลก็ตาม
ปัจจุบันเพดานสินเชื่อของบริษัททั้งสองอยู่ที่ระดับรายละ 2,250 ล้านดอลลาร์ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเพิ่มเพดานสินเชื่อจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือแฟนนี เมและเฟรดดี แมค ด้วยการเปิดช่องให้บริษัททั้งสองขอสินเชื่อเงินสดเป็นการฉุกเฉินจากธนาคารกลางเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินได้ เช่นเดียวกับที่เคยให้ความช่วยเหลือในการกอบกู้สถานะทางการเงินของพวกวาณิชธนกิจมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯเปิดเผยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือแฟนนี เมและเฟรดดี แมค จะยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐสภาเป็นอย่างดีแน่นอน
ขณะเดียวกัน กองการโฆษกของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ได้แถลงว่า เปโลซีจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแฟนนี เมและเฟรดดี แมค
มาตรการให้ความช่วยเหลือบริษัทสินเชื่อเพื่อการเคหะทั้งสอง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯวานนี้แข็งขึ้นทันทีพร้อม ๆ กับราคาหุ้นในตลาดแถบเอเชียจำนวนมากเพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯกำลังจะเพิ่มภาระให้แก่ผู้เสียภาษีมากขึ้นอีกในอนาคต
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐฯครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแฟนนี เมและเฟรดดี แมคในอนาคต เหมือนเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่า รัฐบาลจะไม่ยอมให้บริษัททั้งสองล้มโดยเด็ดขาด
สัญญาณดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนในตลาดเข้าใจว่า นับแต่นี้ต่อไปหุ้นหรือตราสารใด ๆ ของแฟนนี เมและเฟรดดี แมค จะมีสภาพไม่ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลเท่าไรนัก
ทางด้าน ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น คาซุ สุงิโมโตะ กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวว่า ญี่ปุ่นหวังว่าความเคลื่อนไหวของทางการสหรัฐฯคราวนี้จะสร้างผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม แดนอาทิตย์อุทัยแสดงท่าทีด้วยว่า ความหวังดังกล่าวนี้อยู่ในสภาพที่ระวังระแวงอย่างสูง โดยมีรายงานข่าวอ้างคำพูดของรัฐมนตรีดูแลบริการทางการเงิน ได้กล่าวระหว่างการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นวานนี้ว่า ตลาดการเงินของโลก กำลัง “อยู่บนปากเหวแห่งวิกฤต”
สำหรับสิงคโปร์ได้พูดจาตรงไปตรงมายิ่งกว่าทางญี่ปุ่นด้วยซ้ำ โดยทบวงการเงินแห่งสิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นธนาคารกลางของแดนลอดช่อง ได้ออกคำแถลงระบุว่า “การท้าทายที่สำคัญๆ และความเสี่ยงขาลงต่างๆ ในตลาดการเงินระหว่างประเทศยังคงดำรงอยู่ และสถาบันการเงินตลอดจนนักลงทุนทั้งหลายควรที่จะต้องระมัดระวังรอบคอบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น