xs
xsm
sm
md
lg

เฟดอัดฉีดเงินอุ้ม ING สหรัฐแก้เฉพาะหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เฟด ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือบริษัท AIG สะท้อนถึงจุดยืนของเฟดซึ่งเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะหน้า และเครื่องมือดูแลด้านสภาพคล่อง ในการแก้ไขความปั่นป่วนและบรรเทาความตึงตัวในภาคการเงิน มากกว่าจะใช้นโยบายการเงิน ที่มีพันธกรณีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระดับราคาโดยรวม จึงตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยต่อไป

หลังจากแถลงการณ์ของเฟดไม่กี่ชั่วโมง ช่วงเช้าของตลาดเอเชียวันที่ 17 กันยายน 2551 คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า เฟดสาขานิวยอร์กจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในแผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งเคยครองตำแหน่งบริษัทประกันที่มีมูลค่ามูลค่าทุนจดทะเบียนในตลาดที่สูงที่สุดในโลก ให้รอดพ้นจาก "การล้มละลายอย่างไร้ระเบียบ" (Disorderly Failure)

สาระสำคัญของความช่วยเหลือ

หลังจากที่มีความวิตกกังวลในตลาดการเงินว่า ฐานะที่อ่อนแอลงอย่างมากของบริษัท AIG ท่ามกลางการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศชั้นนำ จะสร้างความยากลำบากให้กับทางบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและความอ่อนแอของระดับเงินทุน ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องขายสินทรัพย์จำนวนมากเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินของทางบริษัท

แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุน และ/หรือ การขายสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของทางบริษัท ยังคงเป็นไปอย่างเงียบเหงา และเมื่อความวิตกกังวลในตลาดการเงินที่มีต่อบริษัท AIG เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่อาจก่อให้เกิดความสั่นคลอนในระบบการเงินของสหรัฐฯ และอาจลุกลามไปทั่วโลก เฟดจึงจำต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาบริษัท AIG เป็นกรณีเฉพาะอีกครั้ง ในรอบนี้

เฟดสาขานิวยอร์กจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลา 24 เดือน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถูกกำหนดไว้ที่ "อัตราดอกเบี้ย LIBOR+ร้อยละ 8.50" โดยสินเชื่อดังกล่าวสามารถชำระคืนด้วยรายได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัท AIG ซึ่งการพิจารณาข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการขายสินทรัพย์ จะอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารทีมใหม่ของทางบริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงของแผนการช่วยเหลือครั้งนี้

-ภายใต้มาตรการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าถือครองหุ้นในบริษัท AIG ร้อยละ 79.9 และมีสิทธิคัดค้านในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ

-ผลประโยชน์ของผู้เสียภาษี จะถูกปกป้อง เนื่องจากเงินกู้วงเงินดังกล่าวที่ให้แก่บริษัท AIG จะถูกค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท AIG และบริษัทในเครือ

ในแถลงการณ์แผนการช่วยเหลือบริษัท AIG คณะกรรมการเฟดได้ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หากปล่อยให้บริษัท AIG เผชิญกับภาวะล้มละลายอย่างไร้ระเบียบ บริษัท AIG อาจขาดโอกาสที่จะทยอยขายสินทรัพย์ และถูกตัดขาดจากการเข้าถึงสภาพคล่อง ซึ่งภาวะการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ตลาดการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของต้นทุนการกู้ยืม การปรับตัวลงของความมั่งคั่งภาคครัวเรือน และท้ายที่สุดก็อาจสร้างเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่า จุดประสงค์ของการปล่อยกู้ครั้งนี้เป็นไปเพื่อช่วยให้บริษัท AIG สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันเมื่อถึงกำหนดเวลา และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการขายธุรกิจของบริษัท AIG เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ และส่งผลกระทบน้อยที่สุด

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับประเด็นเรื่อง แผนการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่บริษัท AIG นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ความช่วยเหลือที่เฟดให้แก่บริษัท AIG ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของเฟดซึ่งเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะหน้า และเครื่องมือดูแลด้านสภาพคล่อง ในการแก้ไขความปั่นป่วนและบรรเทาความตึงตัวในภาคการเงิน มากกว่าจะใช้นโยบายการเงิน ที่มีพันธกรณีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระดับราคาโดยรวม ในกรณีของบริษัท AIG ซึ่งทำธุรกิจที่มีความหลากหลาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการให้บริการของทางบริษัทนั้น มีความซับซ้อนครอบคลุมในวงกว้าง และเกี่ยวโยงกับหลายส่วนในธุรกิจในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาคการเงิน ตั้งแต่รายย่อยระดับครัวเรือน บริษัท จนถึงสถาบันการเงิน โดยมีความแตกต่างไปจากกรณีของบริษัท Lehman Brothers ที่ผลกระทบอาจตกอยู่กับสถาบันการเงินและนักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเฟดคงได้ประเมินว่า ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัท AIG ล้มละลายลง อาจนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งยากที่จะควบคุมและเยียวยาแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แผนการช่วยเหลือบริษัท AIG ซึ่งกระทบสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น และมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของบริษัท ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐฯ ได้คำนึงถึงข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้เงินภาษีของประชาชนไปช่วยสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาแล้ว โดยได้ออกแบบการให้ความช่วยเหลือที่มีความเหมาะสมกับขอบเขตของปัญหา ตลอดจนผลกระทบที่อาจมีต่อภาระภาษีของประชาชน

ผลการประชุมเฟด

ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน 2551 เฟดมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 2.00 ซึ่งถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวขัดแย้งกับนักวิเคราะห์บางส่วนที่คาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อลดความตึงเครียดในตลาดการเงินอันเนื่องมาจากปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินหลายแห่งในขณะนี้ ทั้งนี้ ประเด็นหลักจากแถลงการณ์และผลการประชุมเฟดในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้

ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์มติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมรอบนี้ เป็นเอกฉันท์ หลังจากที่ประชุมเฟดลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมหลายรอบติดต่อกันในช่วงก่อนหน้า โดยนาย Richard W. Fisher ประธานเฟดสาขาดัลลัส (ซึ่งเคยท่าทีในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และลงมติคัดค้านเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุม 5 รอบก่อนหน้า) ได้ลงความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมเช่นเดียวกับคณะกรรมการท่านอื่นๆ ในการประชุมรอบนี้

แถลงการณ์หลังการประชุมสะท้อนน้ำหนักความกังวลทั้งต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การประชุมเฟดในรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกต่อปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า ตลาดการเงินตึงตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ ตลาดแรงงานอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนโดยความซบเซาของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ทั้งนี้ เฟดประเมินประเด็นด้านเศรษฐกิจว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 ถัดไป อาจได้รับแรงกดดันจาก สภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว การถดถอยลงของตลาดที่อยู่อาศัย และการชะลอตัวของภาคส่งออก สำหรับประเด็นด้านเงินเฟ้อ เฟดระบุว่า การทะยานขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เฟดก็ได้ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้า ส่วนประเด็นน้ำหนักของความเสี่ยง เฟดได้ส่งสัญญาณว่า ทั้งความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อ เป็นประเด็นวิตกหลักของเฟด ซึ่งเฟดได้ยืนยันความตั้งใจที่ว่า จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงิน และเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และพร้อมจะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพของราคา

การตอบรับของตลาด มติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด (ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ค่อนข้างจะผิดคาดกับความคาดหมายของตลาดการเงิน โดยเฉพาะหลังข่าวการล้มละลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers ที่คาดว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อลดความตึงเครียดในตลาดการเงิน) ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ท่าทีของเฟดที่มีต่อปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแอลง โดยเฟดเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะกิจ และเครื่องมือดูแลด้านสภาพคล่องเพื่อบรรเทาความตึงตัวในภาคการเงินมากกว่าจะเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest Rate Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 16 กันยายน 2551 (หลังมติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟด) สะท้อนว่า ตลาดกำลังปรับลดการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมรอบที่เหลือของปีลง โดยมีความเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น ที่เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์อย่างเต็มที่ (ร้อยละ 100) ในช่วงก่อนการประชุม

นอกจากนี้ ตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้ายังปรับตัวไปในทิศทางที่สะท้อนให้เห็นว่า โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ของเฟดภายในปีนี้ มีเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น ด้านความเห็นของนักวิเคราะห์ ที่สำรวจโดยรอยเตอร์หลังการประชุมเฟด สะท้อนมุมมองว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน โดยมองว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจยืนที่ระดับร้อยละ 2.00 ไปจนถึงสิ้นปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ส่วนสำคัญที่สุดในแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดในรอบนี้ก็คือ เฟดส่งสัญญาณด้วยการเทน้ำหนักไปให้กับปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงิน และความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง ดังจะเห็นได้จาก การที่เฟดตัดถ้อยแถลงที่ระบุถึงการปรับตัวขึ้นเงินเฟ้อคาดการณ์ออกไปจากแถลงการณ์ในฉบับนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางความเสี่ยงจากหลายด้านที่สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงต่อภาคการเงิน/สถาบันการเงิน ตลาดการเงิน ตลอดจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดต้องพิจารณาแนวโน้มของนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง ซึ่งการปรับฐานลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น อาจเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้เฟดสามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้นานออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น