xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจที่ท้าทายของ”โอบามา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สร้างประวิติศาสาตร์หน้าใหม่ของการเมืองสหรัฐขึ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วในฐานะคนผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี สำหรับ นายบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ ขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายโอบามาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 มกราคม 2552 อย่างไรก็ตาม ผู้นำคนใหม่ของทำเนียบขาวอาจต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งถูกประเมินว่า อาจมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี

ความหวังหลังการเลือกตั้งกับผู้นำคนใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงขึ้นท่ามกลางความจำเป็นเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงของการถดถอยที่อาจมีความร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยตลาดการเงินและนักวิเคราะห์อาจคาดหวังถึงการสานต่อของมาตรการแก้ไขปัญหาในภาคการเงิน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ควรจะถูกเร่งผลักดันออกมาโดยด่วน

ประคองเศรษฐกิจภารกิจที่ท้าทาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ และสภาคองเกรสน่าจะเข้าใจถึงโจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจและการเงินที่ต้องการความต่อเนื่องของมาตรการจากทางการสหรัฐฯ หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ นำโดยรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันนายเฮนรี่ พอลสัน และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นำโดยนายเบน เบอร์นันเก้ ได้เร่งผลักดันหลากหลายมาตรการอย่างต่อเนื่องออกมาเพื่อประคับประคองระบบการเงิน (ทั้งสถาบันการเงิน และตลาดการเงิน) และเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา

โดยมาตรการการอัดฉีดเงินทุน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา (ซึ่งเป็นส่วนแรกของแผนฟื้นฟูภาคการเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสไปเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา) ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และมาตรการด้านสภาพคล่องของเฟด ได้เริ่มทยอยปรากฏผลขึ้นแล้วใน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจสร้างความต่อเนื่องให้กับมาตรการแก้ไขภาคการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงที่เป็นมิตรต่อตลาดการเงินและเอื้อต่อการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังประสบกับภาวะชะงักงันกลับมาทำงานได้เป็นปกติให้เร็วที่สุด และคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะถูกทยอยประกาศออกมาในปี 2552
นี่เป็นเพียงภารกิจเร่งด่วนที่ผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญ แต่ในส่วนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐเองก็มีเรื่องให้ต้องกังวลด้วยเช่นกัน เพราะนายโอบามาอาจจะหยิบยกนโยบายกีดกันการค้าขึ้นมาใช้หลังการเข้ารับตำแหน่ง แต่เชื่อว่า ประธานาธิบดีท่านใหม่คงจะให้ความสำคัญกับ สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันเป็นลำดับแรกก่อน

สรุปแล้ว แม้ว่า โดยเนื้อหาของนโยบายเศรษฐกิจของพรรเดโมแครตอาจจะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งยังอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากการที่พรรคเดโมแครตมีท่าทีต้องการให้ทบทวนข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่สหรัฐฯ ได้ทำไว้ ซึ่งในยามปกติทั้งสองประเด็นดังกล่าวย่อมนำมาสู่แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ แต่จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยามนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งเยียวยา โดยเฉพาะในภาคการเงิน รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็ต้องพึ่งเงินกู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งทำเนียบขาวของนายโอบามา และสภาคองเกรสที่คุมเสียงข้างมากโดยพรรคเดโมแครต คงจะเร่งดำเนินการมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวก่อน ทำให้ทางการสหรัฐฯ คงจะยังไม่สามารถออกมากดดันประเทศอื่นๆ ในเรื่องประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดเงิน-ตลาดทุนจะยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การดำเนินการตามแผน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า จะปรึกษาหารือกับทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งว่า จะยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญหรือไม่ และประการที่สองคือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของทำเนียบขาวและสภาคองเกรสที่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือชิ้นแรกของนายโอบามาในการเข้ามามีส่วนตัดสินใจเยียวยาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ ซึ่งหากการดำเนินการในประเด็นทั้งสอง สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ก็คาดว่า เงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงได้รับแรงหนุนต่อไป

ที่มา: ศูนย์วิจัย กสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น