xs
xsm
sm
md
lg

“93 วัน 37 ชัยชนะ”ของพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย้อนรอย 93 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากวันเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 25 พ.ค.ก่อนจะมาถึงวันดีเดย์ ‘เป่านกหวีด’ 26 ส.ค.วันนี้ พบเก็บชัยชนะเรื่อยมากว่า 37 เรื่อง...

ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อนัดหมาย “วันเป่านกหวีด” ให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเช้าวันนี้( 26 ส.ค.) ในเวลา 07.00 น. ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร นั้น

หากมองย้อนการต่อสู้ตลอด 93 วันที่ผ่านมา นับจากวันแรกของการเริ่มชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งใหม่(25พ.ค.)หลังจากที่เว้นวรรคการเคลื่อนไหวมากว่าปีเศษตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจเมื่อวันที่ 25 กันยายน2549จนถึงวันนี้ การรวมพลังของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนอกจากเป็นประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนานครั้งหนึ่งแล้วตลอดรายทางการต่อสู้ครั้งก็ยังเก็บเกี่ยว ‘ชัยชนะ’เรื่อยมา

พลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยกล่าวในช่วงที่การชุมนุมยืดเยื้อมาถึงวันที่ 50 (13 ก.ค.) ว่า พันธมิตรสามารถทำได้ในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก การมานอนบนพื้นถนนแข็งๆ เป็นการเสียสละที่หาได้ยากมาก แต่ก็ได้มาซึ่งชัยชนะมากมายหลายเรื่อง

          ความสำเร็จนี้พล.ต.จำลองมองว่า ไม่สามารถมีเครื่องมือใดที่จะมาวัดได้ ตัวเลขจำนวนคนชุมนุมอาจจะวัดได้ แต่สิ่งที่วัดไม่ได้คือในจิตใจของประชาชนซึ่งพันธมิตรรู้ว่าได้อะไรมากมายที่ไม่อาจวัดได้         

          “ผมบอกพี่น้องแล้วนะครับว่าให้ท่องไปเรื่อยๆ ว่ายังไงครับ ยาวให้เป็น เย็นเรื่อยไป แล้วไขความจริงออกมามากๆ หมดๆ ยิ่งไขความจริงออกมาเท่าไหร่ก็ยิ่งจะมีคนมากขึ้นๆที่มาร่วมกับพันธมิตร ขอให้กำลังใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่าเพิ่งไปเร่งวันเร่งคืน มะม่วงยังไม่ถึงคราวที่มันจะสุกมันก็ไม่สุก แต่ถ้าถึงคราวแล้วมันก็จะสุกเอง ถึงวันนั้นเราจะเอาชนะได้อย่างแน่นอน” พล.ต.จำลองกล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เกิดพัฒนาการ และ ผลสำเร็จอันส่งผลดีต่อประเทศชาติดังนี้

1. ชุมนุมครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 เคลื่อนตัวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาอยู่ที่สะพานมัฆวาน ถนนราชดำเนินนอกสำเร็จ

2. นายสมัคร สุนทรเวช ต้องกลับลำหลังจากประกาศที่จะแตกหักกับพันธมิตรฯ เพราะมีประชาชนจำนวนมหาศาลนับแสนคนทั่วทุกสารทิศมาร่วมชุมนุมร่วมกับพันธมิตรฯหลังจากการประกาศกร้าวของนายกรัฐมนตรี(31พ.ค.2551)

3. รัฐบาลซึ่งไม่เคยสนใจปัญหาปากท้องของประชาชนยุคน้ำมันแพงจำนนต่อสถานการณ์จนต้องประกาศว่าจะต่อรองโรงกลั่น 4 แห่ง ให้ลดค่าการกลั่นลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 6 เดือน (3มิ.ย.2551)

4. สมาชิกวุฒิสภาถอนรายชื่อออกจากญัตติการล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดของคนในระบอบทักษิณ จนมีจำนวนเสียงไม่เพียงพอและทำให้ญัตติต้องล้มไป หลังจากที่พันธมิตรฯยื่นรายชื่อกว่า 3 หมื่นคนถอดถอนนักการเมืองที่เข้าชื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญเพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งยังส่งผลให้ชาติประหยัดเงินภาษีอากรของประชาชนได้อีกกว่า 2,400 ล้านบาท(5มิ.ย.2551)

5. เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ตำรวจจึงได้ชี้ขาดนาย จักรภพ เพ็ญแข ว่าหมิ่นเบื้องสูง และทำให้นายจักรภพ ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเปิดแถลงข่าวในวันที่ 30 พ.ค. 2551 และมีการลาออกมีผลวันที่ 9 มิถุนายน 2551

6. หลังจากที่ไม่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญได้เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทนายทักษิณ ได้นำเงิน 2 ล้านบาทใส่ถุงขนมมาให้เจ้าหน้าที่ในศาลฎีกา จนเป็นเหตุทำให้ศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกทีมทนายของทักษิณ 3 คนเป็นเวลา 6 เดือนในเวลาต่อมาโดยไม่รอลงอาญา โดยระบุว่าต้องการทำให้เกิดการชักจูงต่อกรณีที่ คตส. ได้ฟ้องในคดีการซื้อที่ดินรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (11มิ.ย.2551)

7. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ล้มเหลวและต้องถอยในการสั่งปิดทีวีเคเบิลทีวี หลังประชาชนได้ลุกฮือต่อสู้กับคำสั่งที่ไม่ชอบทั่วประเทศ(14มิ.ย.2551)

8. ภายหลังจากที่พันธมิตรฯเคลื่อนพลหลายแสนมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร ได้กลับลำยอมให้วุฒิสภาอภิปรายทั่วไป และยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเวลาเพราะต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี (17มิ.ย.2551)

9. พันธมิตรฯ เคลื่อนพลหลายแสนคนมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้มีการทำลายทรัพย์สินทางราชการหรือความวุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น (20 มิ.ย.2551)

10. ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กับคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หลังจากที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปลดและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยาและขัดขวางการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นไปตามที่พันธมิตรฯได้กล่าวหามาก่อนหน้านี้ (25 มิ.ย.2551)

11. หลังจากที่ไม่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญได้เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เจ้าหน้าที่ กกต.ได้ปลอมแปลงเอกสาร และยื่นเอกสารเท็จต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในคดีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช พันธมิตรฯจึงได้เปิดโปงและกดดันด้วยการเคลื่อนผู้ชุมนุมแบบดาวกระจายไปหน้า กกต. เป็นผลทำให้กกต.ต้องยอมจำนนและตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ กกต. ที่กระทำการดังกล่าว(26มิ.ย.2551)

12. รัฐบาลยกเลิกข้าวธงฟ้า รับจำนำข้าวปลือกตันละ 14,000 บาท หลังจากพันธมิตรฯได้อภิปรายเปิดโปงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการปัญหาราคาข้าว(26 มิ.ย.2551)

13. เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทำให้นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องยอมเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีและแผนที่ที่ได้ไปลงนามแถลงการณ์ยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่เขาพระวิหารร่วมกับกัมพูชาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หลังจากนั้นกลุ่มพันธมิตรฯได้ยื่นต่อศาลปกครองกลาง เป็นผลทำให้ศาลปกครองได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนำมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปใช้ในการลงนามกับประเทศกัมพูชาได้เป็นผลสำเร็จ (28 มิ.ย.2551)

14. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ต้องประกาศเลื่อนการจัดงานมหาสังฆทาน รวมพลังไทยเพื่อพ่อของแผ่นดิน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ออกไปโดยไม่มีกำหนด หลังถูกเปิดโปงว่าอดีตคนไทยรักไทยอยู่เบื้องหลัง(28มิ.ย.2551)

15. ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (30มิ.ย.2551)

16. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาด้วยมติ 9:0 ว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้มรดกโลกนั้นเป็นหนังสือสนธิสัญญา และมีมติ 8:1 ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวที่ไม่ผ่านความเห็นชอบต่อรัฐสภานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งเป็นไปตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ต่อสู้เอาไว้ก่อนหน้านี้ ( 7 ก.ค.2551)

17. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้พิพากษาให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช และเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เป็นบทพิสูจน์ว่าการเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกและทุจริต นั้นเป็นความจริง (8 ก.ค. 2551)

18. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติว่านายไชยา สะสมทรัพย์ ได้พ้นสภาพจากรัฐมนตรีนับตั้งแต่ 30 วันที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพราะไม่แจ้งรายละเอียดการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของภรรยาตามกฎหมาย(9ก.ค.2551)

19. นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศลาออกโดยมีผลในวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นผลจากการกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ สื่อมวลชน และภาคประชาชน ให้นายนพดล รับผิดชอบต่อกรณีการลงนามยินยอมให้ประเทศกัมพูชาจดทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว (10ก.ค.2551)

20. ที่ประชุมคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดและกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติที่จะเสนอเรื่องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองให้เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย(11ก.ค.2551)

21. อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(11ก.ค.2551)

22. ตำรวจได้ขอศาลอาญาให้ออกหมายจับ น.ส.ดารนี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)โดย ในข้อหาดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นข้อพิสูจน์ความจริงอีกครั้ง ตามที่พันธมิตรฯได้เคยระบุเอาไว้ (22 ก.ค.2551)

23. คณะรัฐมนตรีไม่ผ่านความเห็นชอบโครงการจัดการรถเมล์ปรับอากาศเอ็นจีวี 6,000 คัน หลังจากที่พันธมิตรฯได้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง (22 ก.ค.2551)

24. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับการประกันตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังจากที่พี่น้องประชาชนได้ออกมาชุมนุมหลายหมื่นคนที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายสนธิ ลิ้มทองกุลที่ออกมาพูดบนเวทีเพื่อเปิดโปงขบวนการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์บนเวทีพันธมิตรฯ แต่ตำรวจกลับกลั่นแกล้งออกหมายจับและจะไม่ให้ประกันตัว (24ก.ค.2551)

25. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษ 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ที่ คตส. ได้ยื่นฟ้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกรวม 47 คน เป็นผลทำให้ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลหุ่นเชิดที่อยู่ในรัฐบาลทักษิณ ได้แก่น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายอนุรักษ์ จุรีมาศ และ นางอุไรวรรณ เทียนทอง จะต้องหยุดการทำหน้าที่โดยทันที อันเป็นการพิสูจน์ว่าการต่อสู้กับหวยบนดินของกลุ่มพันธมิตรฯตลอดระยะเวลา 3 ปี นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (28 ก.ค.2551)

26. ศาลแพ่งได้พิจารณาประเด็นที่มีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการได้ฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้พันธมิตรฯหยุดการชุมนุมโดยอ้างว่ากีดขวางการจราจรและร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยเหตุฉุกเฉิน ซึ่งศาลแพ่งได้เห็นด้วยกับฝ่ายพันธมิตรฯที่ได้ยื่นคำร้องว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยเหตุฉุกเฉินจะเป็นการจำกัดสิทธิของพันธมิตรฯตามรัฐธรรมนูญ คำร้องดังกล่าวจึงจำต้องส่งความเห็นของพันธมิตรฯเพื่อได้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ(30 ก.ค.2551)

27. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157(30 ก.ค.2551)

28. ศาลอาญาได้พิพากษาว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้จำคุก 3 ปี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิร ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร, ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร(31 ก.ค.2551)

คำพิพากษานี้ย่อมเป็นการยืนยันความชอบธรรมการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

29. ประชาชนจำนวนหลายแสนคนทั่วทุกสารทิศได้มาชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คัดค้านกรณีรัฐบาลประกาศว่าจะยื่นญัตติล้มล้างรัฐธรรมนูญในวันเปิดประชุมสภาแต่สุดท้ายต้องเลื่อนการยื่นญัตติในการล้มล้างรัฐธรรมนูญออกไปอย่างไม่มีกำหนด(1 ส.ค.2551)

30. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดขอบเขตเหมาะสม(5 ส.ค.2551)

31. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ประทับรับฟ้องคดีที่ คตส.ได้ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ กับพวกรวม 44 คน ในคดีการทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท (6ส.ค.2551)

32. พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร พร้อมบุตรชาย-หญิงตัดสินใจหนีคดีหลบไปอยู่ประเทศอังกฤษโดยออกแถลงการณ์โจมตีสถาบันศาลและให้ร้ายกระบวนการยุติธรรมไม่ขอมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อสู้คดีที่ดินรัชดาฯ(11 ส.ค.2551)

33.คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สรุปสำนวนส่ง กกต.เพื่อพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค(15 ส.ค.2551)

34.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)แจ้งว่า คณะกรรมการคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ระดับกองบัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้ประชุมสรุปผลเมื่อวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม2551 มีความเห็นสั่งฟ้องนายจักรภพ เพ็ญแข และได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เมื่อประมาณวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว

35. ศาลอนุมัติออกหมายจับ นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ ประธานชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (21 ส.ค.2551)

36. ศาลอาญา สั่งออกหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และพิธีกรรายการ “ความจริงวันนี้” ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (16 ส.ค.2551)

37. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำรถบรรทุก 6 ล้อ นำสำนวนเอกสารหลักฐานจำนวน 180 ลัง กว่า 600 แฟ้ม จำนวน 240,000 แผ่น พร้อมคำร้องจำนวน 125 หน้า ที่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน (25 ส.ค.2551).
กำลังโหลดความคิดเห็น