xs
xsm
sm
md
lg

แผน "ทักษิณ" หวนคืนอำนาจ-ชำระแค้น พังครืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ผู้จัดการรายวัน - แผนการหวนคืนอำนาจ ชำระแค้น ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก ภายหลังชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 50 ปิดฉากลงแล้วด้วยการหอบครอบครัวชินวัตรลี้ภัยที่อังกฤษเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนคำขอลี้ภัยจะได้รับอนุมัติและรอดพ้นคุกหรือไม่ยังต้องลุ้น

ตัวตนของ พ.ต.ท. ทักษิณ นั้นมีความทะเยอทะยาน อหังการ์ เชื่อมั่นในพลังอำนาจเงินว่าสามารถเนรมิตทุกสิ่งอย่างได้ดังใจปรารถนา ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น การกว้านซื้อ ส.ส., ส.ว. ผู้ทรงเกียรติเข้าคอกไทยรักไทย ต่อเนื่องด้วยพลังประชาชนที่ร่วมสวามิภักดิ์อย่างล้นหลาม

การสับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการ พลิกฟื้น “รัฐตำรวจ”แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ดันคนในคาถาคุมสำนักงานอัยการหวังแช่แข็งคดีความผิด ฟ้องร้อง คตส.ให้หยุดการตรวจสอบ แทรกแซงสื่อเพื่อใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อล้างมลทิน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ทักษิณ จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แต่คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต ถึงแม้นอมินีทักษิณ จะยึดกุมทั้งอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และอำนาจนิติบัญญัติ แต่อำนาจตุลาการ ซึ่งมีความเป็นอิสระไม่สยบยอมต่ออำนาจใดๆ กลับยากที่จะเจาะทะลวง คดีความที่ทยอยขึ้นสู่ศาล กำลังมัดตรึงทักษิณให้ดิ้นไม่หลุดจากบ่วงกรรม

นอกจากนั้น ทักษิณ และรัฐบาลนอมินี ยังพ่ายแพ้ต่อเกมนอกสภา ที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นหัวขบวนเคลื่อนไหวในชั่วระยะเวลาเพียง 2 เดือนกว่า

หากมองย้อนกลับไปดูการปูทางหวนสู่อำนาจอีกครั้งของทักษิณ คือการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปลายปี 50จะเห็นการหว่านเงินซื้อเสียง การทุ่มซื้อกลไกควบคุมดูแลการเลือกตั้ง คดีร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งกว่า 700 คดีถูก “เป่าทิ้ง” โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งดูแลงานด้านสืบสวนสอบสวน

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด คดีซื้อเสียงสำคัญ ซึ่งฝ่าด่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลสำเร็จ คือ คดีหมายเลขดำที่ ลต.38/2551 และคดีหมายเลขที่ 5019/2551 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 1 นางสาวละออง ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 2 เรื่อง ขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเลือกตั้งใหม่ ก็จบด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เพราะคำคัดค้านฟังไม่ขึ้น

ศาลฯ ชี้ว่าพบพฤติการณ์จ่ายเงินให้กำนัน 2 หมื่นบาท เพื่อหวังกลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้นำหมู่บ้าน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้าน สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปชักจูงให้ลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน จึงเชื่อได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์ เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรรคพลังประชาชน ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่

คดีดังกล่าว จะส่งผลให้พรรคพลังประชาชน ถูกยุบไป เหมือนกรณี ไทยรักไทย ในอีกไม่นาน เวลานี้พรรคอะหลั่ย ชื่อ “เพื่อไทย” ได้ก่อเกิดขึ้นเพื่อรองรับซากพลังประชาชนอีกครั้งหากยังหลงเหลืออยู่หลังลูกพรรคแตกเป็นเสี่ยงขณะที่นายใหญ่หอบครอบครัวหนีไปอังกฤษ

หากเทียบเคียงผลของคดียุทธ ตู้เย็น กับกรณีร้องเรียนทุจริตที่ถูกเป่าทิ้ง น่ากังขาว่า ชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นล้นหลามของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชนที่ผ่านมา ของพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายนั้น แท้จริงแล้วมาจากคะแนนนิยมหรือเงินตรานิยม กันแน่

ความลำพองของทักษิณและนอมินีหลังชนะเลือกตั้ง นอกจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีประวัติด่างพร้อย มีมลทิน ไม่สง่างาม เสมือนจงใจหยามเหยียดเกียรติภูมิของประเทศ และดูถูกคนในชาติ โดยไม่สนใจเสียงสะท้อนจากสังคมแล้ว

ส.ส. พรรคพลังประชาชน ค่อนสภาที่ยึดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มุ่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทันที ใน 2 มาตราสำคัญ คือ มาตรา 237 เพื่อหลบเลี่ยงการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรค

และมาตรา 309 เพื่อยุบเลิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หวังตัดตอนคดีความทั้งหลายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้อง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลในทุกวิถีทาง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลนอมินี ก็ได้โยกย้ายข้าราชการที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีความกับพ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวมถึงพวกพ้อง เช่น นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งทำคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซี แอสเสท

คดีดังกล่าว นายสุนัย มีความมั่นใจอย่างมากว่าจะเอาผิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ แต่หลังจากดีเอสไอ ส่งคดีไปยังอัยการ พร้อมๆ กับคำสั่งโยกย้าย นายสุนัย ออกจากตำแหน่ง ทำให้คดีนี้ถูกแช่แข็ง อัยการขอให้ดีเอสไอสอบเพิ่มเติมโดยไม่มีกำหนดเวลา ขณะที่ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ที่ถูกโยกเข้ามานั่งแทน สุนัย มโนมัยอุดม ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจสายทักษิณที่ถูกส่งมาเพื่อเคลียร์คดีนี้โดยเฉพาะ

นอกจาก สุนัย แล้ว ช่วงนั้นข้าราชการหลายคนต่างอยู่ตกอยู่กลางมรสุมโยกย้าย เช่น จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเวลานี้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกปลดพ้นตำแหน่งพร้อมกับข้อหากระทำความผิดหลายกระทง รวมถึงการปลดเลขาธิการองค์การอาหารและยา อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีผู้มีอดีตเป็นแกนนำ นปก. ยังลุแก่อำนาจเข้าแทรกแซงและยึดสื่อของรัฐเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อพร้อมๆ กับการข่มขู่คุกคามสื่ออิสระ เช่น วิทยุชุมชน เอเอสทีวี ฯลฯ

รัฐบาลนอมินีและมือที่มองไม่เห็น ซึ่งบัญชาการ วางแผน และลงมืออย่างรวดเร็ว ทั้งโยกย้ายข้าราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมก่อนคดีขึ้นสู่ศาลทุกองคาพยพ ทั้ง คตส., สำนักงานอัยการสูงสุด, ดีเอสไอ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กกต. เพื่อฟอกตัวให้พ้นผิด

พร้อมๆ กับการพยายามฟื้น “รัฐตำรวจ” สร้างฐานให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นผู้คุมดูแลรัฐตำรวจในอนาคต รวมถึงการแทรกแซงสื่อ เป็นเชื้อไฟให้ขบวนภาคประชาชนในนาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลับมารวมตัวกันล้มล้างระบอบทักษิณ อีกครั้ง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลนอมินีและทักษิณ อย่างมีพลังทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุม ทั้งประเด็นเคลื่อนไหวที่ตีแผ่ให้เห็นความฉ้อฉล ไม่ชอบธรรมของฝ่ายผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สะดุดกลางครันและจนบัดนี้ยังไม่บรรลุผล มิหนำซ้ำรัฐมนตรีที่จวบจ้วง ใช้อำนาจโดยมิชอบ มีมลทิน ต่างถูกสอยร่วงทีละคนสองคน กระทั่งต้องปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ท่ามกลางความนิยมและความชอบธรรมที่ลดน้อยถดถอยลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะเริ่มต้นขึ้นก็มีข่าวอื้อฉาวกรณีทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ หิ้วถุงขนมซึ่งบรรจุเงินไว้กว่า 2 ล้านบาทส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลจนถูกตัดสินจำคุกในข้อหาดูหมิ่นต่อศาล

แรงกดดันจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังเป็นแรงหนุนเสริมให้ คตส. ทะลุทะลวงอุปสรรคอย่างไม่หวั่นไหว เมื่อคดีความที่ คตส. ถูกส่งไปยังอัยการสูงสุดคนใหม่ที่มาแทนนายพชร ยุติธรรมดำรง คือนายชัยเกษม นิติสิริ ผู้ที่ได้เชื่อว่าเป็นคนจากสายทักษิณ เตะสกัด ยื้อเวลา และยอมรับว่าไม่ชอบใจ คตส.

ทาง คตส. จึงตัดสินใจใช้อำนาจฟ้องคดีเอง โดยให้สภาทนายความแห่งประเทศไทย เป็นทนายนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่วาระการทำงานของ คตส. จะหมดสิ้นลงเมื่อเดือน มิ.ย. 51 พร้อมกับการโอนคดีที่ยังคงค้างอยู่ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับช่วงต่อ และ ป.ป.ช. ได้เข้ามาเป็นโจทก์แทน คตส. ในคดีที่ศาลรับฟ้องไว้

คดีความในศาลฎีกาฯ 3 คดีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นจำเลย คือ คดีที่ดินรัชดาฯ คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า สร้างความหวั่นไหวให้อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่น้อย เพราะคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหลีกเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นชินวัตร ตัดสินให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมของภรรยา จำคุกคนละ 3 ปี เป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้อดีตผู้นำตัดสินใจขอลี้ภัยที่อังกฤษ


**** ทักษิณ ขอลี้ภัยจะพ้นคุกหรือไม่ ??

อดีตนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ที่พยายามทำให้เรื่องการตัดสินใจขอไปอยู่อังกฤษมีมูลเหตุมาจากการเมือง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ. 1951 ของสหประชาชาติ ที่กำหนดว่า บุคคลซึ่งจะขอลี้ภัยทางการเมืองจะต้องปรากฏว่า ได้ออกจากประเทศของตนเอง และไม่สามารถกลับคืนได้เพราะเกรงว่าจะถูกลงโทษด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา และการสังกัดกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ได้ยึดถือหลักการนี้สำหรับการอนุมัติให้ผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง

ตัวเลขในปี พ.ศ. 2549 มีข้อมูลว่า กระทรวงมหาดไทย ของอังกฤษได้อนุมัติคำขอลี้ภัยประมาณ 17% ของผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย

ขั้นตอนการขอลี้ภัย สามารถกระทำได้หลายทาง คือ ยื่นในประเทศอังกฤษด้วยตนเอง ที่ศูนย์รับคำร้องที่ลอนดอนและลิเวอร์พูล หรือยื่นจากภายนอกประเทศอังกฤษ และกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการพิจารณาคำขอ ถ้าหากได้รับอนุมัติให้ลี้ภัยได้ จะได้สิทธิ์ในการอาศัยอยู่และทำงาน โดยขั้นต้น จะอนุมัติเป็นเวลา 5 ปีก่อน

การลี้ภัยจะรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีหรือไม่ ความเห็นของนักกฎหมายระหว่างประเทศ ชี้ว่า ฐานะของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่คุ้มครองบุคคลผู้ต้องคดีอาญา หากรัฐบาลไทย จะขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดีตามสนธิสัญญาฯ ก็ทำได้อยู่แล้ว ถ้าพิสูจน์ได้ว่าคดีที่ขอไม่ใช่คดีการเมืองแต่เป็นคดีอาญาที่มีบทลงโทษมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป และคดีไม่หมดอายุความ ซึ่งหลักการสำคัญในการขอผู้ร้ายข้ามแดน คือ ฐานความผิดต้องตรงกันทั้งสองประเทศ

สนธิสัญญาผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ. 1951 เป็นสัญญาที่ค่อนข้างล้าสมัย มีมูลฐานความผิดเพียง 31 ฐานความผิด ขณะที่ คดีทักษิณ เป็นคดีความใหม่ๆ ที่ไม่ชัดเจนว่าจะเข้าองค์ประกอบของสนธิสัญญาฯ และกฎหมายของอังกฤษ หรือไม่

นายธฤต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถอยู่ในอังกฤษในฐานะทั้งนักลงทุนได้อยู่แล้ว เวลานี้กระทรวงการต่างประเทศ ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะขอลี้ภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น