xs
xsm
sm
md
lg

"โจรชั่ว"แก้กฎหมายอาญา-ตุลาการถามสังคมยอมหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "จรัญ ภักดีธนากุล" ตั้งปุจฉาสังคม 3 ข้อ "จะให้อาชญากรแก้กฎหมายอาญาหรือไม่-ให้นักเลือกตั้งแก้ไขการทุจริตซื้อเสียงหรือไม่-ให้มิจฉาทิฐิแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วน "อักขราทร" ยันตุลาการศาลปกครองทุกคนทำหน้าที่อย่าง กล้าหาญ ซื่อสัตย์ สุจริต ตามกระแสรับสั่ง ระบุศาลมีหน้าที่ดับไฟ ไม่ใช่ราดน้ำมันเข้ากองไฟ ขณะที่ พปช. เดินหน้าแก้ รธน. อ้างมีคนใช้ รธน.จ้องทำลาย ประกาศจัดระบบศาลให้เดินตามกรอบไม่ให้ล้ำเส้นอำนาจฝ่ายบริหาร ส.ว.ขวาง ย้ำ ส.ส.แก้ รธน.เข้าข่ายผิด ม.122 ส่อถูกถอดถอน กกต.หักจับโกหกหมัก ปัดมีมีใบแดง ปชป. โถ! โผปรับ ครม. "วิกรม" กต. โยกเหลิมไป สธ.

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชาชน ระบุว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับโครงสร้างตุลาการใหม่ที่ปัจจุบันเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไปว่า อยากขอถามสังคมไทย 3 คำถาม คือ 1.จะให้อาชญากรแก้ไขกฎหมายอาญาหรือไม่ 2.จะให้นักเลือกตั้งแก้ไขการทุจริตซื้อเสียงหรือไม่ 3.จะให้มิจฉาทิฐิ แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าสังคมให้คำตอบอย่างไร จะได้นำไปศึกษาและปฏิบัติต่อไป

ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องของเขา จะจัดการอย่างไรก็ว่าไป ไม่ใช่เรื่องของตน ส่วนตนก็จะอยู่ของตนไป อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็จะไปเอง

"เขาคงต้องการเดินไปอย่างราบรื่น ถ้าถูกใจก็คงไม่ว่าอะไร แต่นี่มันบังเอิญไม่ถูกใจ ที่จริงเขาไม่ควรออกมาพูด จะทำอะไรก็ทำไป คงหงุดหงิด เห็นว่าพวกผมเป็นศัตรู แต่กฎหมายไม่ให้ทำผิด ทำผิดกฎหมายก็เลยต้องมาเจอกัน ยกตัวอย่างกฎหมายเขียนว่าฆ่าคนติดคุก ก็อย่าไปฆ่าคน คดียาเสพติด ออกมาร้องว่าโทษรุนแรง ทั้งที่ไปค้ายาเสพติดเอง เป็นต้น ดังนั้นก็แค่อย่าทำผิดกฎหมาย ก็จบ หากไม่มีการทำผิดกฎหมาย พวกผมยินดีตกงาน" นายวสันต์กล่าว

ศาล ปค.ทำตามรับสั่งในหลวง

นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน โดยระบุว่า ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะออกความเห็นได้ ส่วนบทบาทของตุลาการ ที่ถูกฝ่ายบริหารมองว่าล้ำเส้น ก็ไม่มีความเห็นเช่นกัน เพราะไม่ใช่ฝ่ายบริหาร

"แต่ยืนยันตุลาการศาลปกครองทุกคนทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง กล้าหาญ ซื่อสัตย์ สุจริต ตามกระแสรับสั่งทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะสังคมคาดหวังการทำหน้าที่จากศาล ศาลมีหน้าที่ดับไฟโดยยึดความถูกต้องตามหน้าที่ ไม่ใช่ผู้ราดน้ำมันเข้ากองไฟ เชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ยังมีทางออก เพราะ เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร และคดีต่างๆ กำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ของศาล จึงอยากให้ทุกคนมองปัญหาให้รอบด้านมากที่สุด เหมือนการพิจารณาคดี ของศาลปกครอง ที่ใช้ระบบไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง"

พปช.อ้างถูกทำลายต้องรีบแก้ รธน.

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการพลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในการเปิดสภาสมัยนิติบัญญัติเดือนสิงหาคมนี้ของ พรรคพลังประชาชนว่า พรรคพิจารณาแล้วว่าแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญก็มีความวุ่นวายพอกัน ดังนั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชนจึงเห็นว่าควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะวันนี้บ้านเมืองเดินไปไม่ได้ เพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้

นายสุทิน กล่าวว่าการที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนท่าทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งทีก่อนหน้านี้กำชับไม่ให้ทุกฝ่ายพูดเพราะ ทราบว่าหากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาในการบริหารบ้านเมืองแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่ปรากฎเงาร้ายจองล้างจองผลาญ ซึ่งทำให้เห็นถึงเค้าลางว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจฝ่ายบริหารเริ่มมีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะทำเพื่อตัวเอง นายสุทิน กล่าวว่า อยู่ทีสังคมจะพิจารณาว่าใครทำเพื่อตัวเองกันแน่ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเองเมื่อถูกทำร้าย อย่างกรณีเรื่องเขาพระวิหารทำไมบอกให้เข้าสภาฯทั้งที่เดิมตอนรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการทำJTEPA ไม่เห็นต้องรายงานต่อสภาฯแบบนี้มันเรียกว่าอะไร

นายสุทิน กล่าวว่า วันนี้มีกระบวนการตามจองล้างจองผลาญพรรคพลังประชาชนอย่างไม่หยุดยั้ง ถือเป็นกระบวนการไล่ล่าภาค 2 ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ประกอบไปด้วยกลุ่มที่ก่อรัฐประหาร กลุ่มอมาตยาธิปไตย กลุ่มทุนที่ตัวใหญ่มาก และคนที่สูญเสียประโยชน์จากนโยบายพ..ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวให้ติดคุก และให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ รวมไปถึงการล้มล้างรัฐบาลสมัคร จากนั้นจะถ่ายอำนาจไปให้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยก่อนหน้าที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะบริหารงานนั้นอาจะจะมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติก่อน

"เครื่องมือที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ รัฐธรรมนูญ โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯเป็นหัวเชื้อทำให้เกิดความชอบธรรม และยังแอบอิงสอดแทรกคิดว่าจะใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งตุลาการก็อาจจะรู้ทันในเรื่องนี้ แต่จะต้องตัดสินไปตามกฎหมาย ที่กำหนดไว้ กลายเป็นแผนยืมมือท่านไปกลั่นแกล้ง"

ลั่นต้องไม่ให้ศาลมายุ่งการเมือง

นายสุทิน เชื่อว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนนูญ คงจะศึกษาเสร็จในเดือนสิงหาคม และคงเป็นช่วงเดียวกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนพอดี ส่วนที่มองกันว่า การที่พรรคพลังประชาชนไม่รอให้คณะกรรมาธิการฯศึกษาเสร็จก่อนจะดูเหมือน เป็นการหักหน้ากันนั้นนายสุทินกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอไม่ได้ เพราะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฝ่ายบริหาร

"วันนี้ตุลาการเป็นที่พึ่งสุดท้าย เป็นอำนาจที่น่าเชื่อถือมากกว่าอำนาจทุกฝ่าย แต่โครงสร้างการจัดวางตุลาการ รวมถึงการได้มาจะต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสม แต่ที่มาของตุลาการคงจะไม่มีใครแตะ เพราะถือว่าดีอยู่แล้ว แต่อำนาจที่เกินก็จะต้องเข้ามาอยู่ในกรอบ เพราะการให้ตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง คนก็มองว่า มีความเป็นธรรม หรือไม่ เช่น เรื่องกลุ่มพันธมิตรฯเคยที่จะถอดถอนศาลแพ่งหลังมีคำสั่งให้เปิดถนน ซึ่งทำให้เห็นว่าการก้าวเข้ามาในบริบทการเมืองศาลก็จะถูกลูบคม กลายเป็นศาลถูกคุกคาม ดังนั้นทางออกเรื่องนี้ตุลาการก็จะต้องกลับไปอยู่ในจุดเดิม"

ส่วนที่นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ของสภาผู้แทนราษฎร เตรียมที่จะเสนอ ให้แก้ไขอำนาจตุลาการที่ล้ำเส้นเข้ามาในฝ่ายบริหารนั้น นายสุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะแก้ไขอย่างไรต้องไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นที่อำนาจตุลาการจะต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลกับอำนาจบริหาร แต่ถ้าเกินพอดีก็จะกลายเป็นวิกฤตตุลาการได้ อย่างไรก็ตามกมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ เตรียมจัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ตุลาการภิวัฒน์กับหลักนิติรัฐ ขึ้นในเดือนสิงหาคม ช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติด้วย

ส.ว.เตือน ส.ส.แก้ รธน.ขัด ม.122

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กล่าวว่า ตนไม่คิดว่ารัฐบาล หรือพรรคพลังประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ เพราะกระแสสังคมจะไม่ยอม ถ้าหากดึงดันจะเป็นการก่อวิกฤตการณ์รอบใหม่ ปรากฎการณ์จะซ้ำรอยเดิม ซึ่งวามพยายามครั้งนี้มีความชัดเจนว่าทำไปเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล หาใช่เป็นการปกป้องประโยชน์ของประเทศและประชาชน หากมีความจริงใจ เหตุใดจึงไม่รอให้คณะกรรมาธิการ 3 ฝ่ายคือ ส.ส. ,ส.ว. และรัฐบาล ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จก่อนจึงค่อยทำการแก้ไข

"ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล แต่อุปสรรคของประเทศอยู่ที่การทำอะไรไม่ถูกต้องแล้วไม่ยอมแก้ไข โดยเฉพาะการคิดแก้มาตรา 190,237 และ 309 เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลไม่ใช่ของส่วนรวม หากส.ส.เดินหน้าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่กำหนดบทบาทของส.ส. ต้องไม่มีผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว ใครจะแก้ก็ต้องเตรียมใจที่ถูกถอดถอนเอาไว้"

เหน็บมาตามระบอบถ้าผิดก็ต้องฟัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฏรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงกับการที่นายสมัคร สุนทรเวช พูดในรายการ สนทนาประสาสมัคร ที่อ้างระบอบประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียวคือที่มาของนายกฯ ที่บอกว่ามาตามตรอก ออกตามประตู แต่การมาตามระบอบประชาธิปไตยถ้าละเมิดกฎหมายก็ย่อมจะต้องถูกตรวจสอบ และสามารถที่จะพ้นจากตำแหน่งตามกลไกเหล่านั้นได้

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายสมัครบอกว่าเป็นจำเป็นต้องแก้ไข เพราะเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั้น ตนมองว่า แนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญคือต้นเหตุ ของทุกข์ของบ้านเมืองเพราะเป็นเหตุเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน จะเห็นว่าก่อนที่จะดำเนินการเรื่องนี้บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี

"เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญเราได้ช่วยกันปลดชนวนไประดับหนึ่งแล้วด้วยการ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา โดยเริ่มต้นศึกษากันแล้ว ดังนั้นอย่าเอาเรื่องนี้ เป็นชนวนความขัดแย้งในบ้านเมืองอีกเพราะจะเป็นปัญหามาก"

ปชป.ห่วง กกต.ถูกนายกฯ แทรกแซง

นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความสงสัยต่อคำกล่าวของนายกฯที่ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะถูก กกต.ให้ใบแดงในการทุจริตเลือกตั้งว่า นายกฯรู้เรื่องของ กกต.ได้อย่างไรทั้งที่เป็นองค์กรอิสระ แต่หากถูกดำเนินการจริงก็คงต้องสู่ในตามกระบวนการ และหวังว่า กกต.จะไม่ถูกแทรกแซงถึงขนาดที่นายกฯออกมาบอกมติ กกต.ล่วงหน้าได้ และแม้ กกต.จะพิจารณาอย่างเป็นธรรมและตัดสินว่าผิดพรรคก็ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด จะยอมรับกระบวนการต่างๆหลังจากต่อสู้อย่างเป็นระบบ คิดว่าสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นมาตรฐานที่นักการเมืองพึงกระทำ ภายใต้กฎกติกา ที่เรารู้อยู่ก่อนวันที่อาสาตัวเข้ามาสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้แทน หรือพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารแผ่นดิน

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมีความกังวลว่าการกระทำของนายกฯจะเป็นการชี้นำ หรือเป็นการแทรกแซง การทำงานของกกต. โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ยังเป็นคนของกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ ทั้งหมด ประกอบกับพฤติกรรมของรัฐบาลที่จ้องจะดึงพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้ามาอยู่ในกรณีการยุบพรรค จะเห็นได้จากการมุ่งตรวจสอบและเดินหน้าฟ้องร้องกรรมการบริหารของพรรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาเหตุยุบพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้

นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลคิดผิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพรรคยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตัวเอง หรือพรรคตัวเอง ไม่ใช่เอาตัวรอด

"ถ้ารัฐบาลจะยื่นทันทีที่เปิดสภา แสดงว่าการเห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษารัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะรัฐบาลพูดอย่างทำอย่าง ก็จะเป็นปัญหารัฐบาลเอง พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาตัวรอดและคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ยอม โดยจะรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตราไหน มีผลดีผลเสียอย่างไร"

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยืนยันถ้ามีการนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาก็จะชุมนุมกันเข้มข้นมากกว่าเดิมนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อพวกพ้อง เพื่อจะหนีความผิด แต่ตนคิดว่าที่นายกฯตัดสินใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะสถานการณ์จวนตัว เกรงว่าผลของกรรมที่ทำเอาไว้จะตามมาทัน จึงต้องดิ้นรน เนื่องจากหลายคนมีคดีความที่ใกล้จะถูกศาลตัดสิน ทั้งเจ้าของพรรคตัวจริง ทั้งหัวหน้าพรรคที่เป็นนอมินี เดินเฉียดคุกทั้งนั้น ฉะนั้นพวกเขาคงกังวลใจ

ตั้งทีม กม.ระวังการหาเหตุยุบพรรค

ซึ่งล่าสุดปรากฏรายชื่อกรรมการบริหารพรรค ที่ตกเป็นเป้าหมาย ของฝ่ายตรงข้าม 3 คน คือนายวิฑูรย์ นามบุตร รองหัวหน้าพรรคและส.ส.แบบสัดส่วน อุบลราชธานี ถูกร้องเรียนว่าหาเสียงโดยแจกบัตรชมภาพยนตร์ให้ชาวบ้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและส.ส.เพชรบุรี ถูกร้องเรียนว่า ใส่เสื้อที่ติดหมายเลขผู้สมัครเลือกตั้งขึ้นไปบนเวทีงานโรงเรียนแห่งหนึ่งในช่วงที่ กกต. ยังไม่อนุญาตให้หาเสียง และน.ส.รังสิมา รอดรัศมี กรรมการบริหารพรรคและส.ส.สมุทรสงคราม ถูกร้องเรียนว่าปราศรัยโจมตีให้ร้ายคู่แข่ง โดยในส่วนของ นายวิฑูรย์กับนายอลงกรณ์ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการบริหารของพรรค เรียบร้อยแล้ว เหลือแต่เพียง น.ส.รังสิมาที่ยังติดภารกิจไม่สามารถเข้าชี้แจงในวันนี้ได้

ดังนั้นเพื่อความสบายใจพรรคจะแต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมาย เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังการหาเหตุยุบพรรคจากฝ่ายตรงข้าม โดยจะมอบหมายให้นาย ถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเป็นหัวหน้าทีมดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ท้า "สมัคร" เอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน

ด้าน นายวิทูรย์ นามบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.สัดส่วน กล่าวถึงกรณีถูกร้องเรียนทุจริต จ.อุบลราชธานี ว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการสืบสวนของ กกต.จึงไม่ขอพูดในรายละเอียด แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนายกรัฐมนตรี จึงหยิบ เรื่องนี้มาพูด ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุถึงตนโดยตรง แต่การพูดถึงกรรมการบริหารพรรค ที่อุบลราชธานีก็คือตน ซึ่งอยากถามว่านายกรัฐมนตรีทราบข้อมูลภายในของ กกต. ได้อย่างไร เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.อยู่ และจะกลายเป็นการ ตีปลาหน้าไซ หรือไปกดดันการทำงานของกกต.หรือไม่

นายวิทูรย์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วหลังทราบผลการเลือกตั้งมีผู้สมัคร พรรคพลังประชาชนไปร้องว่าตนและผู้สมัครของพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งพนักงานสอบสวนที่ กกต.แต่งตั้งได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้วปรากฎว่าคดีไม่มีมูล ให้ยุติเรื่องและส่งเรื่องดังกล่าวมาที่ กกต.กลาง แต่ กกต.กลางให้กลับไปสอบสวนใหม่ โดย กกต.จังหวัด และพวกตนได้ไปให้ถ้อยคำกับ กกต.จังหวัด พร้อมกับนำพยานหลักฐานไปอธิบายชี้แจงเรียบร้อยแล้ว เพราะการจัดกิจกรรมอะไรของ ส.ส.เขตนั้น ได้มีการกำชับตลอดว่าอย่าให้ผิดกฎหมายเลือกตั้งและการจัดกิจกรรมทุกครั้ง ได้แจ้ง กกต.จังหวัดให้รับทราบ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่ให้ไว้กับ กกต. และมั่นใจว่า พวกตนบริสุทธิ์และจะได้รับความเป็นธรรมจาก กกต.

"ผมเชื่อว่า กกต.คงพิจารณาตามพยานหลักฐาน คงไม่มีแรงกดดันอะไร เพียงแต่ต้องเรียนไปถึงท่านนายกฯว่า ถ้าผมทำผิดครั้งนี้ ผมไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว แต่ท่านนายกฯ ออกมาพูดโดยไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่เรื่องอยู่ระหว่าง การพิจารณา ผมถามนายกฯ ว่ามันเกิดความเสียหาย ท่านจะรับผิดชอบอย่างไร และผมไม่อยากท้าให้ท่านเลิกเล่นการเมือง เพราะท่านจะเลิกอยู่แล้ว"

นายวิทูรย์ กล่าวว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่ออะไรจาก กกต.กลาง เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกต.

กกต.หัก "หมัก" ปัดมีมีใบแดง ปชป.

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่าการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะได้รับใบแดง กรณีนายวิฑูรย์ การทุจริตเลือกตั้งที่ จ.อุบลราชธานีว่า คำร้องคัดค้านนายวิฑูรย์ เคยนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมเห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน จึงมอบให้ฝ่ายสืบสวนไปสอบข้อเท็จจริง ให้สมบูรณ์ ทราบว่าขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ดังนั้นที่บอกว่าจะได้ใบแดงใบเหลืองอะไรนี่ ก็ยังไม่ทราบเลย เพราะสำนวนยังส่งมาไม่ถึงมือ กกต. ตนก็ยังไม่ได้รับ

นายประพันธ์ ยืนยันว่า กกต.จะพิจารณากรณีดังกล่าว ด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม เหมือนกับคดีอื่นที่ยึดพยานหลักฐานและข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้ดูว่า ผู้ถูกร้องเป็นพรรคใด บุคคลใด หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วยหรือไม่ เพราะไม่ได้พิจารณาในประเด็นที่ว่าถ้านายวิฑูรย์ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิแล้วจะส่งผลให้ต้องยุบพรรคไปด้วย

นายประพันธ์ ย้ำว่า คำพูดของนายกรัฐมนตรี จะไม่มีผลกดดัน กกต. และสิ่งที่นายกฯพูดคงเป็นการปรารภ หรือ พูดเชิงโยนหินถามทาง ซึ่งไม่มีปัญหาอะไรกับ กกต. เราก็พิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ถ้าถึงกับต้องเพิกถอนสิทธิ ก็จะทำ แต่ถ้าไม่ถึงก็ต้องยกคำร้อง เป็นตามขั้นตอนอย่างนี้ทุกครั้ง เช่นนี้ทุกครั้ง

ยุบพรรคไม่ง่ายอย่างที่กล่าวหา

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองในขณะนี้นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ก็เห็นว่าในรัฐธรรมนูญ เดิมก็มีกฎหมายบังคับเรื่องใบเหลืองใบแดง และเรื่องยุบพรรคอยู่แล้ว เพียงแต่ใน มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขียนไว้ให้ชัดเจนขึ้นว่าหากผู้มีอำนาจ ในพรรคการเมืองมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย แต่ไม่ใช่ว่าความผิดกฎหมายเลือกตั้งทุกกรณีของกรรมการบริหารพรรคจะส่งผลให้ยุบพรรคได้ หรือไม่ใช่ว่าเมื่อ กกต.ให้ใบแดงกับกรรมการบริหารพรรคใดแล้ว จะต้องยุบพรรคนั้นทุกกรณี แต่ศาลรัฐธรรมนูญผู้มีอำนาจวินิจฉัย จะต้องใช้ดุลยพินิจ อย่างรอบคอบว่าพรรคมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ สมควรถูกยุบพรรคหรือไม่ เช่นเดียวกับสำนวนยุบพรรคไทยรักไทยในอดีต ที่จะต้องมีการทำสำนวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณา โดยครั้งนั้นศาลเห็นว่าการจ้างพรรคการเมืองเล็กมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยได้ประโยชน์อันจะส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการแก้ไขมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะพิจารณา กกต.พร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมาย

"สมชัย" งง นายกฯ ปูดข่าวไม่จริง

ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ว่าทำไมนายสมัคร ถึงได้ระบุออกมาเช่นนั้น ข้อมูลอาจจะรั่วไหล หรืออาจจะมีคนเข้ามาเจาะหาข้อมูลก็ได้ อย่างไรก็ดีแม้ว่าตนจะรับผิดชอบงาน ด้านสืบสวนสอบสวนฯ แต่ก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงสำนวนดังกล่าว และไม่กล้าจะเข้าไปถามรายละเอียดของสำนวน อีกทั้งไม่ทราบด้วยว่าคณะอนุกรรมการฯ ชุดใดรับผิดชอบสำนวนนี้ หากคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเสร็จก็จะนำเสนอเข้าที่ประชุม กกต.เอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปล่อยข่าวนี้ออกมาจะถือว่าเป็นการกดดัน กกต.หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเขาปล่อยข่าวหรือเขารู้เรื่องจริง และตอนนี้ก็ยังไม่อยากทราบด้วย

"อภิชาต" ยัน กกต.ไม่มีข้อมูลรั่ว

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวว่า สำนวนทุจริตจ.อุบลราชธานี ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของกกต.จังหวัด และยังไม่สรุปเข้ามายัง กกต.กลาง ส่วนที่มองว่าสำนวนดังกล่าวอาจจะรั่วไหลออกไปจากตนก็ไม่ทราบว่ารั่วจากที่ไหน

"แต่ยืนยันไม่มีทางรั่วจาก กกต.แน่นอน เพราะเรามีมาตรการในการรักษาความลับของข้อมูล ประกอบกับสำนวนนี้ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมกกต.เพื่อพิจารณาและลงมติ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า กกต.คนใดจะลงมติอย่างไร รวมทั้งกกต.แต่ละคนยังไม่เห็นสำนวน ที่นายกฯพูดผมก็ไม่กังวล หรือกดดันเพราะทำงานตามเนื้อผ้า ตรงไปตรงมา ดูในเนื้อหาข้อมูลหลักฐาน พิจารณาไปตามกฎหมาย ไม่ฟังและไม่คำนึง หรือยึดตามนโยบายใครหรือพรรคการเมืองใด ยืนยันว่าไม่มีใครสามารถมาต่อรองกับผมหรือ กกต.คนใดได้"

ส่วนจะเร่งรัดสรุปสำนวนส่งมายัง กกต.เพื่อพิจารณาโดยเร็วหรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า ทุกวันนี้เราเร่งรัดอยู่แล้ว และเราก็ทำเต็มที่ แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐาน จึงต้องทำด้วยความรัดกุม ถูกต้องและเป็นธรรม

นายอภิชาต ยังกล่าวถึงขั้นตอนหลังจากที่คณะกรรมการร่วม กกต.และอัยการสูงสุด มีมติเอกฉันท์ให้ส่งสำนวนยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ได้รับรายงานด้วยวาจาจากเลขาธิการ กกต.แล้ว แต่ยังไม่รับทราบรายงานที่เป็นเอกสารทางการ คาดว่าคงจะได้รับในวันนี้ และก็จะตรวจสอบมติสรุปดังกล่าวก่อนจะส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่จะใช้เวลานานแค่ไหนนั้นไม่ทราบ แต่ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ปรับ ครม.เด้ง "เฉลิม" คุม สธ.

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่โผการปรับ ครม.ใหม่ ที่คาดว่านายสมัคร สุนทรเวชจะตั้งขึ้นใหม่ เช่น นายวิกรม คุ้มภัยโรจน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรรมการบอร์ดสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะมานั่งเป็น รมว.ต่างประเทศ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย จะโยกจาก รมว.มหาดไทย มาเป็น รมว.สาธารณสุข เพื่ออยู่ใกล้ชิดกับนายวัน อยู่บำรุง บุตรชายที่เป็นที่ปรึกษา (นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล) อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ มีความเป็นไปได้สูงที่ นายทนง พิทยะ จะกลับมารับตำแหน่ง รมว.คลัง และควบเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพียงคนเดียว หากศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ประทับรับฟ้องเรื่องคดีหวยบนดินจนทำให้นายสุรพงษ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ และจะรวมไปถึงนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจ หรือเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

"ปานปรีย์"นั่งพาณิชย์ โยก"มิ่งขวัญ"คุมสื่อ

ขณะที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี) อดีตแกนนำคณะทำงานนโยบายพรรคไทยรักไทย จะขึ้นชั้นเป็น รมว.พาณิชย์ หลังจากที่มีชื่อการปรับครม.มาทุกสมัย

"นายทนง เคยปฏิเสธนายสมัครหลังการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า กำลังสอนหนังสืออยู่ที่ต่างประเทศภายหลังที่นายทนงเคยเป็น รมว.พาณิชย์ และรมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ประจวบกับนายสุรพงษ์ คงไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีคลังได้ เพราะถูก คตส. ฟ้องร้องต่อศาลฎีกา ในคดีหวยบนดิน"

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จะถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อกำกับดูแลสื่อเนื่องจากนายมิ่งขวัญ มีความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนทั้งสายหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์หลายค่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น