อดีตแกนนำ “ม็อบไข่แม้ว” ตีฝีปากผ่าน PTV หนุนแก้ รธน. สุดตัว - สุดแค้น “จรัญ ภักดีธนากุล” เปรียบเทียบเหมือนโจรขอแก้ กม.อาญา ป้ายสีกลับเป็นพวกลูกสมุนกลุ่มรัฐประหารที่ไม่มีความสุขเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เหิมด่าตุลาการภิวัตน์คือการก้าวก่ายฝ่ายบริหาร
วานนี้ (14 ก.ค.) รายการเพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวีภาคพิเศษ ออกอากาศผ่านทางดาวเทียมของช่องเอ็มวีทีวี ดำเนินรายการโดย 4 อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 6 พรรคพลังประชาชน
เนื้อหาหลักในรายการดังกล่าว นอกจากจะกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข รธน.ให้เร็วที่สุด โดยอ้างว่าเป็น รธน.ที่ไม่ชอบธรรม และมีข้อเสียต่างๆ นานาแล้ว ในช่วงหนึ่งของรายการได้นำประเด็นที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เคยแสดงทัศนะต่อการแก้ไข รธน.มาตรา 327 ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และเป็นเรื่องของการใช้มิจฉาทิฐิของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เปรียบเสมือนโจรที่กระทำความผิดแล้วมาแก้กฎหมายอาญาเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับโทษว่า คำกล่าวของนายจรัญนั้น ถือเป็นการหลอกลวงประชาชน เป็นการพูดโดยไม่ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และการเปรียบเทียบว่า การแก้ รธน. เป็นเหมือนกับโจรที่แก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิดนั้น ก็คงจะเกินไป เพราะอย่างไรเสียโจรก็ต้องเป็นโจร ไม่มีทางที่สังคมจะยอมให้โจรมาแก้กฎหมายแล้วพ้นผิดได้
นายณัฐวุฒิ อ้างว่า สิ่งที่นายจรัญให้ข้อมูลประชาชนไม่ครบก็คือ นายจรัญ ไม่ยอมบอกประชาชนว่า แท้จริงแล้วมหาโจรที่ปล้นประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด ก็คือคณะรัฐประหาร ที่เข้ามายึดอำนาจและฉีก รธน.ปี 40 ออกโดยไม่คิดถึงความชอบธรรมใดๆ เลย ดังนั้นหากนายจรัญจะมองว่าพวกที่แก้ไข รธน.คือโจร ก็ต้องมองคณะรัฐประหารว่าเป็นโจรด้วย ดังนั้นพวกตนและคนที่ต้องการแก้ไข รธน.จึงยอมไม่ได้ที่จะใช้ รธน.ที่เป็นผลพวงมาจากการกระทำของโจร ที่มีความไม่ชอบธรรมซ่อนอยู่มากมาย
ซึ่งพวกตนจึงคิดว่าการที่นายจรัญออกมาแสดงทัศนะเช่นนี้ก็เพราะตัวนายจรัญเองไม่มีความสุขในยามที่บ้านเมืองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่มีความสุขสบายและดิบได้ดีขณะที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะตัวนายจรัญเองก็คือสมุนโจรที่คอยรับใช้คณะรัฐประหารโดยการเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในสมัยนั้น เช่นการเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.50 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่านายจรัญก็คือบุคคลหนึ่งที่อยู่ในระบอบอมาตยาธิปไตย คิดว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น มีอำนาจมากกว่าคนอื่น โดยทำตัวเป็นผู้ดีอยู่ในกระทรวงยุติธรรม
อดีตแกนนำ นปก.กล่าวต่อไปว่า เมื่อกล่าวถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม พวกตนก็อยากจะให้สังคมร่วมกันจับตามองอำนาจของตุลาการในปัจจุบันด้วยว่า ได้ใช้อำนาจมากเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นหรือไม่ และการที่คนบางกลุ่มมองว่า ระบบตุลาการภิวัฒน์ เป็นเรื่องที่ดีนั้น ก็อยากชี้แจงให้สังคมเข้าใจ่ว่า แท้จริงแล้วการให้อำนาจตุลาการมากเกินไปจนก้าวก่ายอำนาจบริหารนั้น ไม่ได้ส่งผลดีกับการบริหารประเทศเลย
ส่วนกรณีที่นายจรัญกล่าวว่า คนที่ต้องการจะแก้ รธน.เป็นพวกใช้มิจฉาทิฐินั้น พวกตนอยากจะบอกว่า ตัวนายจรัญเป็นใคร มีสิทธิ์อะไรที่จะมาตัดสินว่าใครเป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อพูดเช่นนี้ก็เหมือนนายจรัญยกหางตัวเอง ว่าตัวนายจรัญเอง และพวกที่ไม่ต้องการแก้ รธน. เป็นพวกที่มีสัมมาทิฐิ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะนายจรัญไม่มีสิทธิตัดสินใคร
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าการจัดรายการของอดีตแกนนำ นปก.ทั้ง 4 คนในวันนี้ได้แสดงอารมณ์ออกมาทางน้ำเสียงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้กำลังถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก กรณีที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากคนในรัฐบาลชุดนี้ถูกศาลตัดสินว่าทำผิดรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง อาทิ การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งผิดมาตรา 190 ซึ่งทำให้นายนพดล ปัทมะ ต้องลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ และ ครม.ทั้งคณะถูกยื่นถอดถอน กรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของภรรยาไม่ครบถ้วนของนายไชยา สะสมทรัพย์ ซึ่งผิดมาตรา 269 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข การทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่กำลังจะนำไปสู่การยุบพรรคตามมาตรา 237 วรรค 2 ตลอดจนกรณีคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่กำลังมีปัญหาจากการเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไป และที่สำคัญคือมาตรา 309 ที่รับรองการกระทำของ คตส.ในการตรวจสอบการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตอกย้ำอีกครั้งว่า การต่ออายุ คตส.เป็นไปโดยชอบแล้ว
จากการที่ระบอบทักษิณกำลังถูกตรวจสอบอย่างหนักโดยมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ 2550 และเริ่มเห็นผลแล้วหลายกรณี ทำให้พรรคพลังประชาชนต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการด่วน ก่อนที่โทษทัณฑ์จะมาถึงตัว ซึ่งเปรียบเสมือนกับโจรที่ทำผิดแล้วจะขอแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับผิด แต่จะต่างกันที่โจรนั้นไม่ได้ถืออำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่สามารถขอแก้ไขกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองได้เหมือนกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้