xs
xsm
sm
md
lg

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะหลังๆนี้ ลด‘เงินเฟ้อ’แต่กระทบ’ส่งออก’US

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นในช่วงระยะหลังๆ มานี้ กำลังส่งผลทั้งทางลบและบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลงไป แต่ก็อาจจะทำให้การส่งออกซึ่งตอนนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชะลอตัว

“กรีนแบ็ก” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเคยตกลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหนึ่งยูโรในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่จากนั้นไต่ระดับแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าแนวโน้มการเพิ่มค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯก็ไม่ได้เป็นเส้นตรง เมื่อวันอังคาร(19)ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงอีกครั้งเพราะตัวบ่งชี้เศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมา แสดงให้เห็นว่าประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากอีกมาก ซึ่งทำให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นมา โดยแลกได้ 1.4783 ดอลลาร์ในนิวยอร์ก

“การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ว่าจะไม่ขึ้นเป็นเส้นตรงหลังจากที่ได้แข็งค่ามามากแล้วในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณจะเห็นว่าเงินดอลลาร์ถอยลงไปก่อนที่จะกลับขึ้นมายืนเหนือระดับเดิมอีกครั้ง” สตีเฟ่น กัลลาเกอร์แห่งโซซิเอเต้ เจเนราลกล่าว

“ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เราน่าจะเห็นเงินดอลลาร์ลงไปอยู่ที่ 1.40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหนึ่งยูโรกันเลยทีเดียว”

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเขตยูโรและญี่ปุ่น มากกว่าความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับมาแข็งแกร่งได้

“ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา คนต่างก็พูดกันว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะไม่เป็นอะไร แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นจะหล่นลงสู่ห้วงแห่งความถดถอยก็ตาม” กัลลาเกอร์กล่าวและเสริมว่าตอนนี้ทุกคนกำลังหันไปมองทฤษฎีนั้นใหม่ “เพราะหากผู้บริโภคของสหรัฐฯรัดเข็มขัดไม่ยอมใช้จ่ายอย่างเหมือนเดิม ก็จะทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกได้รับผลกระทบไปด้วย”อยู่นั่นเอง

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เห็นว่าการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในแง่ควบคุมเงินเฟ้อ เพราะว่าค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งมักมาพร้อมราคาพลังงานที่อ่อนตัวลง

“ราคาน้ำมันที่ลดลงมาย่อมจะส่งผลดีอยู่แล้ว ส่วนเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นก็เป็นผลดีด้านเงินเฟ้อ เพราะว่าจะกดแรงดันเงินเฟ้อต่าง ๆเอาไว้ได้” ดรูว์ เมทัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเมอร์ริล ลินช์ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อดอลลาร์แพง จะทำให้สินค้านำเข้าดูมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากการที่คนในประเทศต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในประเทศ ก็ย่อมลดลงไป และทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในภาพรวมลดลง

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เบน เบอร์นานกี ได้เคยแสดงความกังวลในเดือนมิถุนายนว่า ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงจะบ่อนเซาะเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ ซึ่งก็เท่ากับว่าซ้ำเติมเศรษฐกิจ ที่ยังยังต้องดิ้นรนกับปัญหาสองประการ คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังย่ำแย่ และสินเชื่อที่ยังตึงตัว

หลายฝ่ายคาดว่ากำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดโลก จะบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลงได้ หลังจากที่ราคาผู้บริโภคกระโดดขึ้นไปแตะที่ระดับ 5.6% ในเดือนกรกฎาคม อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง เงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นย่อมทำให้ราคาสินค้าส่งออกของอเมริกันแพงขึ้นด้วยในสายตาของลูกค้าในต่างประเทศ และอาจทำให้สหรัฐฯต้องเผชิญหน้ากับการขาดดุลการค้าที่มากขึ้นอีกจากของเดิมที่ก็มหาศาลอยู่แล้ว

และยิ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น สืบเนื่องจากเศรษฐกิจส่วนอื่น ๆของโลกถดถอยลง ผู้ส่งออกชาวอเมริกันก็ยิ่งจะขายสินค้าไม่ออก และจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯไม่อาจเพิ่มขึ้นได้ เพราะการส่งออกเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่กี่อย่างที่กำลังทำงานอย่างหนักในตอนนี้

“เป็นที่แน่ชัดว่าหากการแข็งค่าขึ้นยังคงดำเนินต่อไป ก็อาจทำให้การส่งออกที่กำลังเติบโตอยู่นี้มีปัญหา” เมทัสจากเมอร์ริล ลินช์กล่าว และบอกว่าแต่กว่าการเปลี่ยนแปลงของเงินดอลลาร์จะส่งผลต่อเศรษฐกิจก็จะกินเวลาราว 6-12 เดือน ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงมาเกือบหนึ่งปี จึงเพิ่งมาส่งผลดีในช่วงนี้อันเป็นช่วงที่ค่าเงินกำลังแข็งขึ้น

บริษัทต่าง ๆจะเริ่มรู้สึกถึงผลของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้ก่อนภาคอื่น ๆของประเทศ “ตอนนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะได้รับผลดีจากการส่งออก” เกรกอรี โวโลคินจากเมสชาร์ท แคปิตอล มาร์เก็ตส์กล่าวและยกตัวอย่าง โคคาโคล่า บริษัทราชาน้ำอัดลมของโลกเพิ่งประกาศว่าผลประกอบการในยุโรปพุ่งขึ้นถึง 16% ขณะที่บริษัทเคลลอก ผู้ผลิตซีเรียลและของขบเคี้ยวก็มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 17%

“การดีดขึ้นของค่าเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง จึงไม่จำเป็นว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจจำนวนมากในประเทศ” โวโลคินเตือน
กำลังโหลดความคิดเห็น