xs
xsm
sm
md
lg

"กสิกรไทย" เตือนไทยเตรียมรับมือเศรษฐกิจเอเชียทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์การทะยานขึ้นของราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดโลกว่า กำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องสร้างแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ พร้อมกับบั่นทอนฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย ที่ล้วนแต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจในประเทศ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความคล้ายคลึงกันกับภาวะ Stagflation ดังกล่าว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากธนาคารกลางของทุกประเทศในเอเชีย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังเผชิญโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของเสถียรภาพราคา ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มมากขึ้น
ส่วนสถานการณ์ล่าสุด ของแรงกดดันเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อเกือบทุกประเทศได้ทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับภาคต่างประเทศ เมื่อพิจารณาถึงฐานะดุลการค้าของหลายประเทศเอเชีย พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียล้วนมีฐานะดุลการค้าที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และฐานะดุลการค้าที่มีแนวโน้มถดถอยลงดังกล่าวนั้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กดดันสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินวอนเกาหลีใต้ เงินรูปีอินเดีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์ รวมทั้งเงินบาทให้อ่อนค่าลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ความอ่อนแอลงอย่างชัดเจนของดุลการค้าท่ามกลางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่ถูกสั่นคลอนโดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีในหลายประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนาม กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสความกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามลุกลามจนยากที่จะควบคุมจริง กระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็อาจทยอยไหลออกและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเบื้องต้นตลาดการเงินของประเทศในแถบเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด โดยหากพิจารณาถึงเครื่องชี้ที่สะท้อนเสถียรภาพต่างประเทศจะพบว่าประเทศปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแอนั้น อาจเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่หลายประเทศในเอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีอาจได้รับผลกระทบในวงที่จำกัดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไปหากเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในเอเชียชะลอตัวลง พร้อมกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว พบว่าไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการชะลอตัวลงของภาคการค้าต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่เร่งขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่อื่น ๆ เนื่องจาก20 อันดับแรกของตลาดส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีถึง 12 ประเทศอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และหากพิจารณาการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 9 ประเทศ พบว่า มีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 22 ของการส่งออกรวมของประเทศ ขณะที่ในภูมิภาคนี้เวียดนามนับว่าเป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีความสำคัญไม่น้อย โดยเป็นรองเพียงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ โดย ธปท.คงจะต้องระมัดระวังประเด็นในด้านเสถียรภาพทั้งด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น