xs
xsm
sm
md
lg

19 สิงหาคม - 1 ปี ประชามติ “เห็นชอบ” รัฐธรรมนูญ 2550

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ
สภาร่างรัฐธรรมนูญ


ส.ส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศว่า จะเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไป โดยเตรียมเสนอญัตติเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 นี้ ถึงขั้นว่าจะไม่รอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เลยด้วยซ้ำ

น่าสนใจว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการทำประชามติ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2550

ที่สำคัญ การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นการทำประชามติครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

โอกาสนี้ จึงครบรอบ 1 ปี ของการลงประชามติ “เห็นชอบ” รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งประจวบเหมาะกับการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้พอดี

เพราะฉะนั้น ก่อนจะรวบรัดแก้ไขล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะย้อนศึกษาบทเรียน และตระหนักถึงความสำคัญของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ดังนี้

ที่มา และการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 19 สิงหาคม 2550


1. ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ถูกบิดเบือน ทำลาย โดยคนของรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง กระทั่งว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เหลือแต่เปลือกนอก เนื้อหาสาระภายในถูกกัดเซาะทำลายเสียหมด ตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ไม่ว่าจะเป็น ระบบตรวจสอบ การดุลและคานอำนาจฝ่ายบริหาร ถูกครอบงำแทรกแซงทำลายอย่างเลวร้าย สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนถูกบิดเบือน ผู้แทนราษฎรเสมือนเป็นเพียงลูกจ้างของกลุ่มทุนในพรรคการเมืองใหญ่ มีการใช้อำนาจรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมติ ครม. ออกกฎมาย ออกนโยบายที่ทำให้พรรคพวกหรือครอบครัวตนเองได้ผลประโยชน์มากมาย

เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ขับไล่รัฐบาลดังกล่าวออกไปแล้ว จึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด ได้ยกร่างขึ้นมาจากฐานเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 อาศัยหลักว่า “ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” - “ของดีคงอยู่ ส่วนที่บกพร่องต้องแก้ไข และให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น” และกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับเอาไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศเสียก่อน

2. กระบวนการลงประมติ ไม่ได้มีแค่ในวันที่ให้ประชาชนเดินเข้าคูหา ไปกาบัตรว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น


แต่ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น มีการปรับปรุงแก้ไขตัดทอนและเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามความคิดเห็นของประชาชน อาทิ หลังจากรับฟังความคิดเห็น ได้รับข้อเสนอแนะจากประชาชนจำนวนมากว่า ให้มีการกำหนดโทษสำหรับคนทำผิดซื้อเสียงหรือโกงเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่รู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ไม่ป้องกันดูแล หรือแก้ไขเยียวยา ให้พรรคการเมืองนั้นได้รับโทษถึงยุบพรรค สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดบทลงโทษในมาตรา 237 วรรค 2 นั่นเอง

3. ก่อนลงประชามติ นอกจากจะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดชัดแจ้งแล้ว โดยพิมพ์รัฐธรรมนูญแจกให้อ่านทุกครัวเรือน ยังได้มีการจัดเวทีถกแถลง(ดีเบต) เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาว่า ควรรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

4. มติของมหาชนชาวไทย “เห็นชอบ” ให้ใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550

ผลการลงประชามติ สามารถจำแนกชี้ชัดได้ว่า

ภาคกลาง เห็นชอบ 5,714,973 คน (ร้อยละ 66.53) ไม่เห็นชอบ 2,874,674 คน (ร้อยละ 33.47)
ภาคใต้ เห็นชอบ 3,214,506 คน (ร้อยละ 88.30) ไม่เห็นชอบ 425,883 คน (ร้อยละ 11.70)
ภาคอีสาน เห็นชอบ 3,050,182 คน (ร้อยละ 37.20) ไม่เห็นชอบ 5,149,957 คน (ร้อยละ 62.80)
ภาคเหนือ เห็นชอบ 2,747,645 คน (ร้อยละ 54.47) ไม่เห็นชอบ 2,296,927 คน (ร้อยละ 45.53)

เท่ากับว่า ประชาชนเสียงข้างมาก 14,727,306 เสียง หรือคิดเป็น 57.81% มีมติเห็นชอบ

ประชาชนทั้งประเทศ จึงยอมรับในผลของประชามติดังกล่าว และให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 “ทั้งฉบับ” กระทั่งมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

น่าสังเกตว่า ต่อมาในภายหลัง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ยังใช้บังคับได้ไม่ถึง 1 ปี กลับมีความพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยการผลักดันของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือเป็นสำคัญ

5. พึงตระหนักว่า หลังจากที่ประชาชนมีมติเห็นชอบให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริ ปรากฏในพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ความตอนหนึ่งว่า

“...เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การออกเสียงลงประชามติปรากฏผลว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป

ทรงพระราชดําริว่า สมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน…


การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ


1. รัฐธรรมนูญ 2550 ย่อมจะถูกแก้ไขได้ หาก “วิธีการแก้ไข” นั้น ถูกต้องตามกลไกในรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และ “สาระของการแก้ไข” นั้น ก็จะต้องไม่เป็นการล้มล้างหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและหลักนิติรัฐ

2. การจะแก้ไขใดๆ จะต้องไม่มีผลเป็นการล้มล้างความผิดหรือการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเด็ดขาด หรือเป็นการเปิดช่องให้มีการล้มคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้แก้และร่างใหม่กี่ครั้ง คนชั่วก็จะสามารถกระทำผิดหรือกระทำชั่วทุกวิถีทาง เพื่อให้ตนได้มีอำนาจรัฐ จากนั้น ค่อยใช้อำนาจรัฐจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองความชั่วของตนให้เป็นมาตรฐานของประเทศ

3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำโดยผู้มีส่วนได้เสีย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 122

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์..”

ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ที่มีส่วนได้เสียในการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ที่พรรคการเมืองของตนกำลังถูกดำเนินคดียุบพรรคตามรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ที่กำลังถูกดำเนินคดีฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งในขั้นเสนอญัตติ และในการพิจารณา

4. หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะต้องมีการศึกษาและมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มผลประโยชน์ อย่างกว้างขวาง และถ้วนถี่ ไม่น้อยไปกว่าตอนที่มีการร่างขึ้นมา และเมื่อมีการแก้ไขแล้ว ก็ควรจะมีการลงประชามติในส่วนที่แก้ไขนั้นก่อนที่จะใช้บังคับกับประชาชนทุกคน

การจะเร่งรีบแก้ไข ถึงขนาดจะดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะให้ผ่าน 3 วาระรวด ไม่ต่างอะไรกับการข่มขืนย่ำยีมติมหาชน !

5. การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ จำเป็นจะต้องผ่านการประชามติของประชาชนทั้งประเทศด้วยเช่นกัน

6. จะต้องไม่ทำประชามติเพียงเพื่อถามประชาชนว่า “ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550” หรือไม่ โดยที่ประชาชนยังไม่ได้รับรู้ว่าจะแก้ไขประเด็นใด อย่างไร เพราะอะไร และจะมีผลอย่างไร


เนื่องจาก โดยปกติแล้ว ประชาชนทุกคนย่อมจะมีทั้งประเด็นที่ชอบและไม่ชอบ อยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบันที่ผ่านการทำประชามติมาแล้วก็ตาม

แม้แต่ประชาชนที่ไปลงประชามติว่า “เห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550” ก็เป็นการเห็นชอบทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่ อาจจะมีบางมาตราที่ตนไม่ชอบและอยากแก้ไขก็ตาม หากแต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งฉบับแล้ว จึงเห็นชอบ

ดังนั้น หากถามประชาชนว่า “ควรแก้หรือไม่แก้” ประชาชนย่อมจะโน้มเอียงไปในทางที่ต้องการจะแก้ไข เพราะทุกคนมีประเด็นที่อยากจะแก้ไขอยู่แล้ว การนับรวมคะแนนคนที่ต้องการแก้ไขต่างมาตราต่างประเด็นกัน จึงเป็นการรวมคะแนนที่ไม่สะท้อนความจริง หรือบิดเบือนความต้องการที่แท้จริง เพราะคนที่อยากแก้มาตรานี้อาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตราอื่น และประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อแก้ไขแล้ว จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นผลสำเร็จอย่างไร รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีหน้าตาอย่างไร และจะมีผลตามมาอย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น การทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องทำหลังจากกระบวนการทั้งหมด คือ หลังจากการศึกษาอย่างมีหลักวิชาการโดยคำนึงถึงผลต่อส่วนรวมจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 – การให้รัฐสภามีส่วนร่วมในการศึกษาแก้ไข – การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข – ผ่านการรับฟังและถกแถลงในสังคมอย่างรอบคอบ – ให้ข้อมูลรายละเอียดอย่างชัดเจน ครบถ้วน ว่าแก้ประเด็นใด อย่างไร จะมีผลอย่างไร และหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายหลังการแก้ไขจะเป็นอย่างไร – จากนั้นจึงนำไปลงประชามติ

การพยายามรวบรัด เร่งรีบ กระทำการเพื่อแก้ไขลบล้างรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ นอกจากเป็นการย่ำยีมติของมหาชน

ขอให้กลับไปอ่านพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่ปรากฏอยู่ในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 อีกครั้ง !
...0...
กำลังโหลดความคิดเห็น