xs
xsm
sm
md
lg

ชูศักดิ์เปิดไต๋แก้รธน.ล้มป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่วิปรัฐบาลเสนอให้แก้ไขทีละมาตราว่า ตนยังไม่ได้คุยรายละเอียด เพราะไม่ได้เข้าประชุม แต่ทางวิปรัฐบาล จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ตนจัดทำไว้มาศึกษา และดูว่าประเด็นไหนสมควรจะแก้หรือไม่ เพื่อหาข้อยุติตรงนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังยืนยันว่า ร่างที่แก้ไขจะมีการสรรหาองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. และ กกต. ใหม่ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หลักทั่วไป ย้ำให้ฟังว่า ถ้าอ้างมาตรา 299 ตนก็ไม่ว่าอะไร แต่ลองมองดูว่า มาตรา 299 มันขัดต่อหลักประเพณีการปกครองระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ที่สำคัญจะขยายความว่า มาตรา 299 เป็นเพียงบทเฉพาะกาล ใช้ชั่วคราว ช่วงเปลี่ยนผ่านและต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผ่านมาจึงต้องสรรหาใหม่ เพราะที่มาของ ป.ป.ช. และกกต.กับรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เหมือนกัน แต่จะมาบอกว่าจะอยู่ต่อไป 9 ปี จึงไม่ใช่บทเฉพาะกาลแต่เป็นบทเต็ม เท่ากับว่า เรื่องป.ป.ช. และกกต. ไม่ต้องใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยต้องใช้ถึง 9 ปี
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหากใช้รัฐธรรมนูญใหม่ การสรรหาก็ต้องสรรหาใหม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดิมก็คิดอย่างนั้นแล้วให้ฝ่ายที่ดูแลไปพิจารณาดูว่าสมควรจะเป็นอย่างไร

บัญญัติห่วงบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยอมถอยไม่แก้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ และหันมาใช้วิธีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จะเห็นได้ชัดว่าบรรยากาศทางการเมืองเย็นลง แต่เมื่อคณะกรรมการศึกษาฯยังทำงานไม่เสร็จแล้วจะมาด่วนตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะยิ่งกว่าเป็นการเติมน้ำมันลงในกองไฟ ทำให้การเมืองร้อนขึ้น ก็ต้องรอฟังคณะกรรมาธิการฯของสภา และคณะกรรมาธิการฯก็ต้องฟังผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่มาตัดสินกันเอง
หากรัฐบาลต้องการจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสมานฉันท์ในชาติโดยไม่ด่วนเร่งแก้กันเอง แต่รับฟังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้คนหันหน้าเข้าหากันได้ แต่ดูแนวโน้มของรัฐบาลที่เคลื่อนไหวในวันนี้คิดว่า คงจะยาก และหากเป็นเช่นนั้นการเมืองก็คงจะร้อนถึงขั้นวิกฤติ เพราะการจลาจลย่อยๆ ก็เริ่มออกมาให้เห็นกันแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เรื่องเหล่านี้คนที่บริหารบ้านเมือง ก็น่าจะได้คิดทบทวนไม่เช่นนั้นเรื่องก็จะไปกันใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่าการจลาจลตอนนี้ได้เข้ามาในกรุงเทพฯแล้ว ไม่ได้อยู่เฉพาะที่ต่างจังหวัด นายบัญญัติกล่าวว่าวันนี้รัฐบาลดูดายไม่ได้แล้ว เพราะการที่คนกลุ่มหนึ่ง เคลื่อนไหวไปทำร้ายคนอีกกลุ่มหนึ่งในขณะที่รัฐบาลคาดว่าจะเกิดเรื่องขึ้นได้ เพราะเคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว แม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องหามาตรการ ป้องกัน เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องหรือความไม่รับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องและจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะข่าวสารออกไปทั่วโลก อย่างไรก็อย่าให้คนเขมรเขาหัวเราะเยาะเอามันไม่ดี

วิปฝ่ายค้านขวางแก้เพื่อล้มผิดแม้ว
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าในการประชุมวิปฝ่ายค้านได้หารือกรณีที่วิปรัฐบาลมีมติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านยังยืนยันในจุดยืนเดิมว่าควรรอผลการศึกษษของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่เสร็จเสียก่อน เพราะเห็นว่าแต่ละมาตราที่วิปรัฐบาลเสนอแก้นั้นเป็นการแก้เพื่อตัวเองทั้งนั้น และมีเจตนาชัดเจนโดยเฉพาะในมาตรา 309 ว่าต้องการยกเลิกหรือล้มล้าง ป.ป.ช.ทั้งคณะเพื่อจัดการให้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ คตส.ถ่ายโอนไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อต้องล้มไปด้วย หรือไม่ ไม่อยากให้รัฐบาลเติมดีกรีความรุนแรง ที่จะเกิดความขัดแย้งในประเทศมากขึ้น

กมธ.ดันป.ป.ช.โชว์ทรัพย์สิน
วานนี้ (29 ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน ทั้งนี้ที่ประชุมให้คณะอนุกรรมาธิการฯทั้ง5 คณะได้รายงานผลการประชุม
นายนิกร จำนง กรรมาธิการฯจากพรรคชาติไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุ กมธ.ศึกษาปัญหาเกี่ยงกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รายงานผลศึกษาเบื้องต้นของ คณะอนุกมธ. ซึ่งตั้งข้อสังเกตุเรื่องคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ จำนวน 7 คน ซึ่งมีที่มาจากองค์กรตุลาการมากเกินไป ซึ่งอาจจะมีการเสนอให้เพิ่มกรรมการสรรหาเป็น 9 คน โดยเพิ่มตัวแทนจากภาคประชาชนและ ครม.อย่างละ 1 คน
นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบ บุคคลอื่น แต่ทรัพย์สินของคณะกรรมการป.ป.ช.เป็นเพียงรายงานต่อประธานวุฒิสภาเท่านั้น ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง ดังนั้น คณะอนุ กมธ.จึงมีความเห็นว่าป.ป.ช.ควรที่จะเปิดเผยทรัพย์สินของตัวเองต่อสาธารณชนด้วย
ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวเสริมว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้มีการแยกออกไปเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งผลจากการตั้งชื่อองค์กรทำให้มีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรเหล่านี้มากกว่าเดิม ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรการเมืองที่เทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร หรือครม.หรือไม่ ซึ่งหากไม่ทำความเข้าใจว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีสถานะจริงๆ คืออะไร เพราะวันนี้เห็นได้ว่าองค์กรเหล่านี้ๆได้เพิ่มอำนาจล้ำเข้ามาตรวจสอบ ฝ่ายอื่นหมด ขณะที่ตัวเองกลับไม่ถูกตรวจสอบ ดังนั้นจะต้องทำเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนขึ้น

อ้างองค์กรตามรธน.เป็นอำนาจที่สี่
นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบ โครงสร้าง การจัดหมวดหมู่ การใช้ภาษาของรัฐธรรมนูญ การใช้ภาษาของรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาลได้นำเสนอผลการศึกษาต่อกรรมาธิการชุดใหญ่ อาทิ ในเรื่องการใช้ภาษาไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องถ้อยคำ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นนามธรรม คลุมเครือ เข้าใจยากอันอาจนำไปสู่ปัญหาการตีความรัฐธรรมนญและเปิดช่องให้บุคคล บางฝ่ายหยิบฉวยไปใช้อ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือใช้ปรักปรำผู้อื่นได้ง่าย
นายวินัย กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างและการจัดหมวดหมู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความละเอียดมากเกินความจำเป็น แล้วยังทำให้โครงสร้างทางอาจภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของชาติเป็น 3 ฝ่าย ซึ่งต้องเป็นอิสระต่อกันและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะนอกจากจะทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญกลายเป็น อำนาจที่สี่ มีอำนาจมาก แต่ไม่ได้ยึดโยง หรือรับผิดชอบต่อรัฐสภา หรือต่อประชาชนนอกจากนี้ยังทำให้ ศาล มีอำนาจเพิ่มขึ้น และสามารถใช้อำนาจเกือบทุกส่วนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องที่มา และองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสียงข้างมากเด็ดขาดมาจากศาล
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งตาม มาตรา 291 เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ แต่หากสภาไม่เห็นชอบในวาระ 3 ก็ถือว่าจะร่างของประชาชนจะตกไปทันที ดังนั้นคณะอนุฯจึงมีความเห็นว่าหากเกิดกรณีที่สภาไม่ให้ความเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปจัดการออกเสียงประชามติเป็นการตัดสินชี้ขาด

ติงการแก้รธน.ของส.ส.ต่างจากของปชช.
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าประเด็นที่ กมธ.ชุดใหญ่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือกันมากที่สุด คือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสังเกตุว่าเหตุใดถึงให้สิทธิร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเสนอ มากกว่าร่างที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ ครม.เสนอ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กรรมาธิการฯจากพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนผ่านหลักการในวาระแรก และตั้งกรรมาธิการวิสามัญโดยเปิดให้ตัวแทนจากประชาชนที่เสนอเรื่องเข้ามาเป็นตัวแทนได้ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 3 ให้นำร่างนั้นไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเป็นการตัดสินชี้ขาด แล้วทำไมการเสนอกฎหมายมี 3 ช่องทาง คือ ครม. ส.ส. และส.ส. ร่วมกับส.ว. เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวตกในวาระที่ 3 กลับไม่สามารถนำไปทำประชามติเหมือนกับร่างฯที่เสนอโดยประชาชน
ด้านนายคนิณ บุญสุวรรณ ประธานคณะอนุกมธ.ศึกษาปัญหาโครงสร้างฯ ชี้แจงว่า หลักการดังกล่าวเป็นหลักสากล ที่เปิดให้รับฟังเสียงประชามติอีกครั้งในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ไม่ใช้หลักการเดียวกันนี้กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล และ รัฐสภา เนื่องจาก ส.ส.จะเป็นตัวแทนของประชาชน ได้ใช้อำนาจตรงนี้ไปแล้ว

ผวาผวาร่างของหมอเหวงเข้าสภา
ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ส.ร.50 กรรมาธิการฯตั้งข้อสังเกตุถึงกรณี ที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้เสนอที่ไม่ผ่านสภาให้นำไปจัดการออกเสียงประชามตินั้น คำว่าผ่านหมายถึงอะไร หมายถึงการไม่แก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่ 2 หรือไม่ เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าเมื่อผ่านในวาระ 2 จะไม่เกิดความลักลั่นได้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ที่เคยเกิดกับพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ร่างของประชาชนเสนอมาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่พอผ่านสภาฯกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น กมธ.ต้องศึกษาผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยแยกให้ออกว่ามีปัญหาอะไรบ้างหลังจากที่บังคับใช้ไปแล้ว ไม่ใช่จินตนาการของกรรมาธิการบางคนซึ่งอาจะทำให้เกิดปัญหาต่อไป
ภายหลังการประชุมกว่า3 ชั่วโมง นายกระมล ประธานในที่ประชุมได้ให้ อนุกรรมาธิการฯทั้ง5 ชุดไปสรุป รายงานครั้งสุดท้ายเพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 5 ส.ค.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กรรมาธิการฯจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ตั้งข้อสังเกตุว่ามีร่างรัฐธรรมนูญของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ ได้เสนอเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎรแล้วซึ่งตนตั้งข้อสังเหตุว่า การแนวคิดของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาโครงสร้างฯ ตรงนี้เหมือนกับการคิดที่จะแก้ในมาตรานี้ เพื่อเข้ามารองรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ น.พ.เหวง หรือไม่หากสภาฯไม่ผ่านร่างวาระ 3 ให้
กำลังโหลดความคิดเห็น