xs
xsm
sm
md
lg

‘ชลิต’กร้าวระวังภัยแก้ รธน.-"ชิมไปบ่น"ไปถึงมือศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ส่ง "สมัคร" จัดรายการชิมไปบ่นไปให้ศาล รธน.วินิจฉัย ส่วน "วิรุฬ"รอด เหตุบริษัทที่ถือหุ้นปิดกิจการก่อนรับตำแหน่ง ขณะเดียวกัน แจก 2 ใบเหลือง ส.ส.อุดรฯ พรรคพลังประชาชน ด้าน ผบ.ทอ.เตือนสติรัฐบาล ดันทุรังแก้ รธน.ระวังภัยจะย้อนมาหาตัวเอง พร้อมหนุนหลังองค์กรอิสระระบุตรวจสอบการทำงานได้ดี เรียกร้อง ส.ส.ทำงานให้คุ้มเงินเดือน ด้าน ผบ.ทบ. แนะแก้รธน.ต้องดูจังหวะเวลา และต้องขจัดความแคลงใจของประชาชนที่เห็นว่าทำเพื่อตัวเองให้ได้ก่อน ประกาศให้กำลังใจองค์กรอิสระล้างทุจริต เชื่อกระบวนการยุติธรรมจะยุติปัญหาขัดแย้งได้ รับห่วง 2 ฝ่ายปะทะกันเตรียมถกหาทางแก้ปัญหา แต่จะไม่เอา กม.ความมั่นคงออกมาควบคุมสถานการณ์ "รสนา" ฉะ "สมัคร" ตีขลุมโทษ ม.190 บอกละเมิดศิลแล้วไปโทษศิลเป็นคนใช้ไม่ได้ ถ้าคิดว่า รธน.ไม่ดีก็ไม่ต้องมาลงเลือกตั้ง ด้านวิปรัฐบาล เผย กมธ.สรุปประเด็นแก้ รธน.ได้วันที่18 ส.ค. อ้างมีหลายมาตราต้องแก้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงหลังการประชุม กกต.วานนี้ (16 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ1 ให้ส่งเรื่องที่นาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกขโยง 6 โมงเช้า" ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้กกต.ยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่สมควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่น กรณี การไปเป็นพิธีกรแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจะเข้าข่ายการทำหน้าที่เป็นลูกจ้างหรือรับจ้างหรือไม่ ส่วนในประเด็นอื่นๆ นั้นไม่สามารถเปิดเผยได้

"นายกฯชี้แจงว่า ภายหลังมารับตำแหน่งเป็นนายกฯแล้วแม้จะไปจัดรายการก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างใด"

นายสุทธิพล กล่าวว่าการที่ กกต.ไม่ชี้ความผิดนายกฯว่าขาดคุณสมบัต ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เนื่องจาก กกต.เห็นว่ามีประเด็นข้อกฎหมายที่เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ไม่ได้เป็นการผลักภาระ ถ้าหลักฐานครบ กกต.สามารถชี้มูลได้เลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญพบว่าบริษัท เฟรช มีเดีย จำกัด เจ้าของรายการ "ชิมไปบ่นไป" มีการจ่ายเงินหรือสัญญาว่าจะจ่ายภายหลังพ้นตำแหน่งจะเข้าข่ายแจ้งความเท็จต่อ กกต.หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า อย่าไปมองไกลขนาดนั้น เพราะสมมุติไม่ได้ แต่จากการชี้แจงในชั้นคณะอนุกรรมการฯ ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนเมื่อมารับตำแหน่งนายกฯ เพราะฉะนั้นควรจะต้องส่งให้ศาลพิจารณาเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต

นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า กกต.ยังมีมติเสียงข้างมาก เห็นควรให้ยุติเรื่องกรณี นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ ถือหุ้นเนื่องจาก มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัท ที่นายวิรุฬ ถือหุ้นได้ปิดกิจการไปก่อนที่นายวิรุฬเข้ารับตำแหน่ง จึงวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 3 ต่อ2 ให้ยุติเรื่อง

นายสุทธิพล กล่าวว่านอกจากนี้ กกต.ก็ยังได้มีมติ ส่งเรื่องให้ศาลฎีกา พิจารณาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน จ.อุดรธานี เขต 4 แทนนายวิเชียร ขาวขำ และนายเกรียงศักดิ์ ฝ่ายสีงาม พรรคพลังประชาชน เนื่องจากแจกซีดีและให้ทรัพย์สิน เพื่อการจูงใจ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนน นอกจากนี้ก็ยังสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ไปดำเนินการให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็น กกต.เสียงข้องน้อยที่ไม่เห็นด้วยจะส่งเรื่องของนายสมัคร ให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ได้มอบให้เจ้าหน้าที่แจกเอกสารคำวินิจฉัยส่วนตัว โดยมีความเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อร้องเรียนนี้ ประธานวุฒิสภา ได้ยื่นเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว หาก กกต.จะวินิจฉัยเสียแต่ในชั้นนี้ ย่อมเป็นการกระทบต่อการใช้ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งยังเป็นลักษณะของการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ ซึ่งก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้ถูกกล่าวหา และพยานต่างๆ ได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อรูปคดีของรัฐธรรมนูญ ในชั้นนี้ กกต.จึงไม่ควรก้าวล่วงวินิจฉัยข้อร้องเรียนนี้ จึงเห็นควรยุติการสอบสวนข้อร้องเรียนดังกล่าว

ส่วนเอกสารสำนวนการสอบสวนทั้งหมดอาจมีผลชี้นำต่อขั้นตอนการพิจารณา ของศาล อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยอมรับในเรื่องการจัดส่งเอกสารดังกล่าวของ กกต. ให้แก่ศาล จึงเห็นควรเก็บเอกสารดังกล่าวไว้

เตือนแก้ รธน.ระวังย้อนทำร้ายตัวเอง

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการเอาตัวรอดด้วยการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าคนที่ทำงาน ณ บริษัทใดก็ต้องพยายามรักษาสถานภาพของตัวเองให้คงอยู่ ฉะนั้นรัฐบาลก็พยายามแสดงฝีมือให้อยู่ยาว จะใช้คำว่าดิ้นรนคงไม่ใช่ ส่วนที่เกรงว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลับไปสู่วังวนการเผชิญหน้ากันนั้น ตนคิดว่า บางครั้งสิ่งที่ตัวเองทำอาจจะทำร้ายตัวเองได้เหมือนกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อครั้งก่อนที่เริ่มต้นที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเกิดปฏิกิริยา ขณะนี้อาจจะมีการทดสอบว่าขณะนี้ผู้คนเห็นด้วยหรือยัง ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเปิดสมัยประชุม ก็ต้องรอดูก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลในประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า กฎหมายทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่สิ่งที่ตราเป็นกฎหมาย ขึ้นมาก็คือการป้องกันไม่ให้ใครกระทำในสิ่งที่ไม่ดี เพื่อเป็นกรอบในการทำสิ่งดีๆ กับประชาชน บางมาตราที่ไม่ดีก็ควรจะแก้ไข แต่ต้องเป็นความเห็นชอบจากประชาชนด้วย ถึงแม้จะมีกฎหมายให้อำนาจรัฐสภาโดยสภาผู้แทน ฯ หรือวุฒิสมาชิก มีสิทธิ์จะแก้ไข แต่ตนคิดว่านั่นไม่ได้หมายถึงว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งตนมองว่ากฎหมายต้องทำเพื่อส่วนรวม

ส่วนที่มีความพยายามแก้ไขเพื่อประโยชน์ตัวเองนั้น พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ทุกคนต้องช่วยกันดู สื่อมวลชนก็เป็นตัวแทนของประชาชนในการตรวจสอบ และหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนทราบ อะไรที่ไม่ใช่ส่วนรวมก็ต้องนำออกมาให้ประชาชนรับทราบ ส่วนจะนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคมอีกหรือไม่นั้นก็อาจจะเป็นได้

เชื่อองค์กรตรวจสอบทำหน้าที่ได้ดี

สำหรับการแก้ไขม.309 ที่อาจมีผลกระทบต่อองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้น คิดว่ากลุ่มที่เสียผลประโยชน์ก็อาจจะป้องกันและแก้ไข แต่ประเด็นโดยทั่วไปคงต้องใช้เวลาดูว่าส่งผลเสียต่อผลประโยชน์โดยส่วนรวมหรือไม่ ไม่ใช่พอตั้งรัฐบาลแล้วแก้ไขเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่คนมองว่าจะแก้ไขเพื่อช่วยเหลือการยุบพรรคหรือไม่นั้น เราต้องช่วยคิดว่าจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรตรวจสอบต่างๆ ยังจำเป็น ยังไม่ควรยุบไปใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ทุกภาคส่วนที่มีอำนาจในการทำเรื่องใดๆ ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ ภาคเอกชน หน่วยงานอิสระที่ตั้งมาเกิดข้อขัดข้องมาบ้างแล้ว ก็จำเป็นต้องแก้ไข ต้องถ่วงดุล และตรวจสอบ แต่ตนก็ยังไม่เห็นข้อด้อยอะไร ทุกหน่วยที่ทำในขณะนี้ ทุกองค์กรอิสระทำงานอย่างเต็มที่ ยังต้องมี และหลายประเทศที่เจริญแล้วก็มีทั้งสิ้น
 
ถามแก้ รธน.เพื่อพรรค หรือประชาชน

ต่อข้อถามว่าก่อนหน้ามีการทำประชาพิจารณ์แล้ว ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกจะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายอีกหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นเรื่องของการเสียผลประโยชน์ หรือ เป็นเรื่องของการถูกบีบบังคับ จากที่คิดว่า ควรจะมีอำนาจมากกว่านี้ มันก็เป็นเรื่องของคน ซึ่งตนคิดว่าต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ หรือกรณีที่จะแก้ไขก็ต้องถามว่าจริงๆ เป็นความต้องการของพรรค หรือประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตามกฎหมายมีสิทธิ์จะแก้ไข แต่ไม่ใช่แก้ด้วยผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ เมื่อถามว่า รัฐบาลยังมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรต่อไปหรือไม่ เพราะก่อปัญหาไว้มากมาย พล.อ.อ. ชลิต กล่าวว่า ตราบใดที่เป็นรัฐบาลก็ยังมีความชอบธรรมเพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น ถ้าท่านไม่ได้ลาออก ไม่ได้ไปไหน ท่านก็ต้องมีความชอบธรรม แต่ท่านจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประเทศหรือเปล่าเท่านั้นเอง

ส่วนที่ ผบ.ทอ.เคยเรียกร้องเรื่องจิตสำนึกในความรับผิดชอบมาแล้ว แต่ไม่มีปฏิกริยาอะไร พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า "ผมเสียงเล็กๆ" เมื่อถามว่า คนที่มีแผล อาจจะไม่ใส่ใจใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวสื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการตรวจสอบ การใช้อำนาจหรือสิทธิในการทำสิ่งไม่ถูกต้อง"

เรียกร้อง ส.ส.ทำงานให้คุ้มกับเงินเดือน

ส่วนที่นายกรัฐมนตรียังออกมาย้ำถึงมือที่มองไม่เห็นหวังจ้องทำลายล้าง คนในพรรคพลังประชาชน พร้อมประกาศจะให้คนของนายกรัฐมนตรีเอาคืนกลับจะทำให้สถานการณ์รุนแรงหรือไม่นั้น พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่ทราบ ทุกคนก็มีสิทธ์ต่อสู้ขัดขืน ไม่เป็นไปหรอก เดี๋ยวก็เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อถามว่า อยากเตือนรัฐบาลหรือไม่แม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่น่าจะเหมาะสมที่จะไปเตือนรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะบริหารประเทศอยู่ แต่ถ้าจะมีการพูดกับท่านก็คงไม่ผ่านสาธารชนอย่างนี้ เมื่อถามว่า จะเล่นการเมืองหลังเกษียณหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า "ไม่เล่นหรอก ผมไม่ชอบ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาระบุว่าจะมีการปรับ ครม.ถึง 10ตำแหน่งจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น หรือเป็นการปรับเพื่อเอาตัวรอด ผบ.ทอ. กล่าวว่า น่าจะต้องดีขึ้น พรรคก็พยายามทำให้ดีขึ้น เราต้องมองภาพทางบวกมากๆ หน่อย ถ้าเรามองทางลบพรรคเขาก็ทำอะไรต่อไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวซักว่า การทำงาน 4 เดือนของรัฐบาลปัญหามากขึ้นหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า เราต้องเปรียบเทียบกับรัฐบาลอื่ๆ ที่ผ่านมา หรือสภาฯ ที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามทำงาน แต่รัฐสภาค่อนข้างมีผลงานที่ออกมาน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คณะกรรมาธิการฯหรือเรื่องอะไรต่างๆ จริงๆ แล้วเมื่อรับเงินเดือนเมื่อไหร่แล้ว ก็ต้องทำงานให้มีผลผลิตออกมา ผู้สื่อข่าวซักว่า หมายความว่าอยากเรียกร้องให้ ส.ส. ทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ทุกคนที่รับเงินเดือนแม้แต่ทหารก็ต้องเป็นเช่นนั้น

ชี้ต้องขจัดความแคลงใจก่อนแก้ รธน.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนจะไม่บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ตนมีความกังวลใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลที่จะแก้ไขต่อปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันมีกระแสความคลางแคลงใจ ของทุกฝ่ายว่าส่อไปในทางทำให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจะต้องทำให้สังคมหายความคลางแคลงใจ แต่จะต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้จะทำให้รัฐบาลสามารถบริหารบ้านเมืองได้ ส่วนจะเร็วหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้นั้น ตนคงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ เอาเป็นว่าอยู่ที่จังหวะเวลา และแจ้งการรับรู้ด้วยการยอมรับให้สังคมรับรู้และสอดคล้องกัน ทำอย่างไรก็ได้ทำให้สังคมยอมรับได้ หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อทุกคนเห็นว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะดีอย่างไร และไม่มีผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ และไม่ส่อไปให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ ถ้าสังคมยอมรับก็สามารถทำได้

ผบ.ทบ.ขอให้กำลังใจองค์กรอิสระ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนุญที่สภาตั้งขึ้นจะทำให้ประชาชนเข้าใจหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีความเห็น เมื่อถามย้ำว่า ทางพรรคพลังประชาชนมีการเสนอให้ยุบองค์กรอิสระ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนจะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ในขณะนี้ปัญหาของประเทศชาติคือเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งโดยปกติ ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยประชาชนเลือกผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจประชาธิปไตยของประเทศ และมีขบวนการที่ตรวจสอบทางกฎหมายหลาย ๆ ส่วนด้วยกัน

"องค์กรอิสระก็เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน เพราะฉะนั้นการดำเนินงานขององค์กรอิสระ และขบวนการยุติธรรมเป็นทางออกของสังคมที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ฉะนั้นความเห็นของกองทัพบก โดยผมเป็นผู้บัญชาการทหารบก เราจะเป็นกำลังใจให้กับกองค์กรอิสระในการที่จะเจรจาเพื่อให้เกิดความสงบสุขในประเทศชาติ"

กระบวนการยุติธรรมจะยุติปัญหาขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกองทัพบกได้ประเมินอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในขณะนี้สิ่งต่าง ๆ กำลังถูกคลี่คลาย ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะแก้ได้นอกจากกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ และกลไกอื่น ๆ ก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาไปตามนั้น และตนประเมินว่าทุกคนก็จะต้องยอมรับผลของการแก้ไขขององค์กรอิสระไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นไปตามเส้นทางนี้ เราก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

ส่วนสถานการณ์ในตอนนี้เริ่มคลี่คลายแล้วหรือไม่นั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า ตนมองว่ากลไกขององค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรมกำลังทำงาน เพื่อให้เกิดความสงบ และเรียบร้อยของประเทศชาติ

ผบ.ทบ.เตรียมถกแก้ปัญหา 2 กลุ่มปะทะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพของประชาชน ที่กลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดออกมาปะทะกันจะบานปลายหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนกำลังมองปัญหานี้อยู่ คงจะได้ปรึกษาหารือในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การเผชิญหน้ากันของประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกันทางการเมืองถือเป็นปัญหาหลักของประเทศขาติ ความขัดแย้งที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จะส่งผบกระทบต่อประเทศชาติในเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยเร็ว เมื่อถามว่า ทหารจะมีบทบาทในเรื่องราวนี้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อสังคมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนขอย้ำว่าทหารเป็นองค์กรหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์กรของชาติ ซึ่งจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ไม่ได้เข้าไปอยู่กับฝ่ายใดทั้งสิ้น จะพยายามทำให้ความขัดแย้งหมดไปเพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไป ได้ตามครรลองของกฎหมาย

ยันไม่เอา กม.ความมั่นคงออกมาใช้

ส่วนการแสดงความเห็นของทหารควรจะมีบทบาทแค่ไหนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ก็จะต้องถือตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนจะทำได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับกฎหมาย เมื่อถามว่า หากมีการประเมินแล้วสถานการณ์เกิดความวุ่นวายจะนำ พ .ร.บ.ด้านความมั่นคงมาใช้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนกระแสข่าวว่า ทางพรรคพลังประชาชนเลือกการปฏิวัติตัวเองเพื่อสร้างความชอบธรรมนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถประเมินได้ สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ที่ค่อนข้างวุ่นวายนั้น ทุกคนจะยึดถือตามสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายที่มีก็ดำเนินการได้ เมื่อถามว่า หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้ทหารจะต้องออกมาแสดงความเห็น ทางการเมืองมากขึ้นมองอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ทหารหลักไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

ชท.แบะท้ารับลูก พปช.ดันแก้ รธน.

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความห่วงใยของ ผบ.ทบ. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกรงจะเกิดความขัดแย้งในสังคมว่า เป็นความห่วงใยของ ผบ.ทบ.แต่ในสภาก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณาแล้ว ส่วนนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกพรรรคพลังประชาชนจะขอให้แก้ไขอย่างไรคงต้องพูดจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะมีวิปรัฐบาลอยู่ แต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ส่งสัญญาณเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อครหาที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีปัญหาการยุบพรรคจะอธิบายสังคมอย่างไร พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ยังไม่รู้เขาจะแก้อะไรบ้าง ทั้งนี้ต้องพิจารณาและฝ่ายค้านก็ต้องพิจารณาว่าอะไรที่เหมาะสม แต่อะไรที่แก้เพื่อตัวเองมากเกินไปก็ไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ่งที่ต้องแก้ไขก็มีเยอะ เช่น ม. 190 กระทรวงต่างประเทศเขาเคยมีระเบียบปฏิบัติประจำมากับกลายเป็นว่า ต้องนำเรื่องเข้าสภาฯก่อน เช่นการที่จะบินไปสิงคโปร์เพื่อรับรองประเทศเกาหลีเหนือ ขณะที่สภาฯยังไม่เปิดแล้วจะทำอย่างไร ก็เลยยุ่ง ถือเป็นปัญหาใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับจุดยืนของพรรคชาติไทยนั้น พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ก็ยังเหมือนเดิม หากมี อะไรที่ต้องแก้ไขก็ต้องดูอะไรควรไม่ควร

ซัด"หมัก"ตีขลุม ม.190 ก่อปัญหา

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐธรรมนูญ ม.190เป็นอุปสรรคในการไปเจรจาในเวทีนานาชาติโดยเฉพาะการร่วมลงนามในการประชุมรัฐมนตรีอาเซี่ยนนั้นเป็นการตีขลุม เพราะ ม.190 ไม่ได้ห้ามให้ออกไปเจรจาตกลงกับนานาชาติ แต่การจะตกลงอะไรต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาที่ถือเป็นตัวแทนประชาชนก่อน ซึ่งรัฐบาลสามารถเสนอและขอความเห็นชอบได้โดยเร็วอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ที่นักการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบอย่างหนัก

"ก็เหมือนการออกกฎจราจร ออกกฎหมายเมาห้ามขับ ซึ่งไม่ใช่บังคับเฉพาะบุคคล แต่บังคับกับบุคคลทั่วไป เหมือนรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นพรรคพลังประชาชน หรือใช้บังคับเฉพาะพวกคุณ แต่ตรงนี้ก็เหมือนคนทำผิดศีล แล้วมาบอกว่าศีลผิด ไม่ดี ควรยกเลิกซะ จะเอาอย่างนั้นหรือ"

น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า เปรียบเหมือนที่พระพุทธเจ้ากำหนดกฎเกณฑ์ปราชิกไว้ สำหรับพวกอลัชชี จะให้ยกเลิกอย่างนั้นหรือ ถ้าคุณไม่พอใจก็ไม่ต้องเข้ามาบวชเป็นพระ ไม่ต้องเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง คนที่เมาแล้วขับถือว่าเป็นอันตรายต่อคนอื่น เหมือนนักการเมืองที่ไม่ดีก็เป็นอันตรายต่อคนอื่นเช่นกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะออกกฎหยุมหยิม แต่เป็นไปเพื่อควบคุมนักการเมืองที่ไม่ดี เมื่อก่อนนักการเมือง อาจสบายไม่ถูกควบคุม แต่เมื่อมีกฎเกณฑ์มากำกับแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่ออนาคตทางการเมือง

วิปรัฐบาลสรุปประเด็นแก้ รธน. 18 ส.ค.

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาลจะนำผลการศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยจะมีการสรุปผลในวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งก็จะตรงกับที่รัฐบาล และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ คปพร. เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาพอดี

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 15ก.ค. ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีหลายมาตราที่จะต้องแก้ไข เช่น ม.190 ม. 237 ม. 265 (2) เรื่องที่ ส.ส. และ ส.ว.ถือหุ้นในบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ และม. 266 กรณี ส.ส.ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหน่วยงานราชการ ส่วนม. 309 จะคงไว้หรือไม่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะขณะนี้ คตส.ได้หมดวาระและโอนงานให้ ป.ป.ช.แล้ว

นายสามารถ กล่าวว่า มีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชาชนจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลเองได้พยายามสร้างความสมานฉันท์ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา แต่ปัญหาการเมืองก็ไม่ได้ลดน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เคลื่อนไหวน่าจะมีวาระซ่อนเร้นมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น