xs
xsm
sm
md
lg

ให้แก้ รธน.หลังสาง "คดีแม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมรม ส.ส.ร. 50 ย้ำจุดยืน แก้รธน. ต้องหลังสางคดีรัฐบาลทักษิณ เตรียมเดินสายหาแนวร่วมต้านทั่วประเทศ เตือนหากดึงดันเกิดวิกฤตแน่ ด้านพปช.ขีดเส้นยื่นแก้รธน.ปลาย เม.ย.นี้ ยันใช้วิธีตั้งกมธ.รื้อ เมินแนวคิดตั้งส.ส.ร.3 "หมัก"นัดหัวหน้าพรรคร่วมหาข้อสรุป 25-26 เม.ย. นี้ ด้าน"สุวิทย์"ยังมีความเห็นต่าง ย้ำแก้รธน.ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรหันมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน หวั่นปัญหาลามเหมือนพฤษภาทมิฬ

วานนี้ (22 เม.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม ส.ส.ร.50 พร้อมด้วยอดีตส.ส.ร. อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายมานิต สุขสมจิตร ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนต่อการที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายเสรี กล่าวว่า ที่ประชุมชมรม ส.ส.ร. มีมติร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนกรณีที่ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยอ้างว่า เป็นการขอแก้ไขเพื่อประเทศชาติ และประชาธิปไตย ซึ่งชมรม ส.ส.ร.50 ขอแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่เริ่มต้นจากการขอแก้ไขมาตรา 237 และ309 และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงขอแก้ไขทั้งฉบับ โดยขอนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ทั้งฉบับ

2. แม้ว่าจะเป็นการขอแก้ไขบางมาตรา หรือขอแก้ไขทั้งฉบับก็ตาม ก็ยังคงมีเจตนาสำคัญในการแก้ จะแก้ มาตรา 237 และ 309 เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และ การพิจารณาการยุบพรรคการเมืองบางพรรค และยังมีเจตนา ยกเลิกกระบวนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น คตส. ,กกต. , ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ

3. การขอเสนอแก้ไขบางมาตรา หรือจะขอแก้ทั้งฉบับก็ตาม ก็ยังคงมีเจตนาซ่อนเร้น โดยมีเจตนาที่แท้จริง คือ ต้องการยกเลิก มาตรา 237 และ 309 อันเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตน

4. การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สมควร แต่การขอแก้ไขครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อตัวเองให้พ้นจากคดียุบพรรค และเพื่อการเปลี่ยนการบวนการสรรหา เพื่อแทรกแซงองค์กร อิสระ ซึ่งขณะนี้ได้มีบุคคลจำนวนมากได้เริ่มก่อตัวเพื่อต่อต้าน และคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะนำไปสู่ความเห็นที่แตกแยกของประชาชนในประเทศ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้

นายเสรี กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อตนเอง และเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ชมรม ส.ส.ร. 50 จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส.ฝ่ายที่กำลังจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดหรือ ชะลอ การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนตนดังกล่าว ในช่วงเวลานี้ จนกว่าระยะเวลาจะได้ล่วงพ้นการพิจารณาคดีที่กำลังดำเนินการอยู่ในกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งองค์กร ส.ส.ร. ขึ้นมาดำเนินการ แก้ไข นายเสรี กล่าวว่า คงต้องชัดเจนก่อนว่า รัฐธรรมนูญที่เพิ่งจะเริ่มใช้มีอุปสรรคปัญหาอะไร ต้องปล่อยให้ตกผลึกจากปัญหาก่อนจึงจะนำไปสู่การแก้ไข และไม่ควรให้สมาชิกรัฐสภาทำเอง

ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ส.ส.และ ส.ว. เพื่อมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้ขัดข้อง แต่ควรจะเป็นหลังผ่านพ้นกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว

หลังสาง "คดีแม้ว" ค่อยแก้ไข

เมื่อถามว่านายกฯ ก็ยอมรับว่า ถ้าไม่มีเรื่องยุบพรรคก็ไม่แก้รัฐธรรมนูญ นายเสรี กล่าวว่า ก็เป็นการชัดเจนว่า ทำเพื่อตัวเอง แต่ที่ถูกคือ ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไป ถ้ามัวกลัวแล้วมาแก้กฎหมายอย่างนี้ ทำให้ระบบเสีย ต่อไปคนจะไม่มีความเชื่อถือในระบบอีก อยากถามว่าหลักของกฎหมายมาทำแบบนี้กันได้หรือ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการยุบพรรค หากกรรมการบริหารพรรคร่วมกันกระทำผิด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการทุจริตการโกงซื้อเสียงเลือกตั้ง ทำให้การเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลกลับเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา อ้างว่ากฎหมายนี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล แต่ทำไมไม่ดูปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ทางชมรม ส.ส.ร. 50 จะไปร่วมคัดค้านกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน เพราะทางชมรมมีจุดยืนในการทำความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยการคัดค้าน และถอดถอนเป็นเรื่องขององค์กรอื่นที่จะดำเนินการ ขณะนี้สมาชิกชมรมได้มีการพูดกันจะออกไปเดินสายทำความเข้าใจตามภาคต่างๆ นอกจากนี้จะจัดสัมมนาในระดับจังหวัดด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงการคัดค้านก็เป็นสิทธิของรัฐบาล เราเพียงตักเตือน และเตือนสติ ให้ข้อมูล แต่หากเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
 
นายมานิต สุขสมจิตร อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดชักจูงให้เห็นดีเห็นงามไปกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่อยากให้ดูรายละเอียดว่า ฉบับปี 50 เป็นการนำของปี 40 มาแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะให้รัฐธรรมนูญใช้ได้ผลจริง ต้องมีการออกกฎหมายลูกนับ 100 ฉบับ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นทำกันเท่าไร

ส่วนประเด็นเรื่องยุบพรรค ที่บอกว่า ไม่มีที่ไหนในโลก ทำกัน ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศตุรกี กำลังพิจารณาสั่งยุบพรรคของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำทุจริตเลือกตั้ง แต่เป็นกรณีที่ประธานาธิบดี เอาศาสนามายุ่งกับการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคดังกล่าวก็เคยโดนยุบมา 2 ครั้งแล้ว ซึ่งเหมือนกับพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศไทย
 
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยอ้างประเทศชาติ และประชาธิปไตยบังหน้า และเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรมทั้งๆที่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย และเป็นการตัดตอนการเอาผิด การทุจริตและไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ มาตรา 301 และที่อ้างว่าจะแก้ไขโดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลักลึก ๆ แล้วต้องการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหา องค์กรอิสระทั้งหมด โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะให้เพิ่มมาอีก 6 คนเป็น 15 คน อยากให้มองให้ดี เพราะถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่ใช่การสรรหาเพิ่มมา 6 คน แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด

"และผู้ที่จะได้เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเร็วๆ นี้ ก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 มีช่องโหว่มาก ทำให้พรรคใหญ่สามารถแทรกแซงได้ โดยจะเขียนในบทเฉพาะกาล ในรัฐธรรมนูญใหม่ โดยลดอายุของ กกต. ปปช. รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยุบพรรค ทำให้ควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้านจะตรวจสอบยากขึ้น ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจเผด็จการเหมือนกับสมัยฮิตเลอร์ นอกจากนี้ยังจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบางรายในเรื่องของ การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ"

ส่วนกรณีที่นายกฯ พูดว่า ถ้าไม่มีการยุบพรรค ก็จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ เป็นการพูดที่น่ารังเกียจ ซึ่งมองได้ 2 มุม คือ เป็นการขู่ว่าจะ ยุบสภา และเป็นการต่อรองเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่จะต่อรองกันได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับเฉพาะพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง 4 เดือน ซึ่งตนไม่อยากจะให้คำว่า คนที่พูดเช่นนี้ดัดจริต

ไม่เอา ส.ส.ร. ใช้ตั้ง กมธ.แทน

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า ในการประชุมพรรควันนี้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงรูปแบบวิธีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอต่อรัฐสภา เพราะญัตติดังกล่าวต้องจัดทำเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเสนอต่อสภา โดย นายชัย ชิดชอบ ประธานส.ส.ในฐานะประธานที่ประชุม ได้แจ้งว่า จะสามารถนำเสนอญัตติได้ในปลายเดือนเม.ย.นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้

สำหรับประเด็นการแก้ไขนั้น จะใช้แนวทางการตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภาในการแก้ไข ไม่ว่าการแก้ไขในกระบวนการใด ก็จะมีคณะกรรมาธิการ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด ซึ่งหากจะมีการตั้ง ส.ส.ร. จะมีภายหลังการตั้งกรรมาธิการ โดยใช้วิธีการแก้ไขตาม มาตรา 291 ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการไปดำเนินการในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งสิ้นสุดในกระบวนการรัฐสภา โดยที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ส.ร.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานได้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยพร้อมจะเสนอต่อรัฐสภาได้ภายในปลายเดือนเม.ย.นี้

ตั้งทีมโต้ฝ่ายคัดค้าน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ชี้แจง ให้ข้อมูล อธิบายประเด็น ข้อกล่าวหาโจมตีต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเจตนาในการแก้ไข โดยมี นายสุนัย จุลพงศธร เป็นหัวหน้าทีม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำสัตยาบันร่วมกันหรือไม่ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ เรื่องนี้ให้เป็นภาระของสภา ไม่ใช่ภาระของรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องทำสัตยาบัน ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องลงมติรับร่างแก้ไขเหมือนกันทั้งหมด ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า การลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเป็นในแนวทางเดียวกันหมด และไม่เป็นห่วงว่าจะมี ส.ส.เข้าชื่อเสนอญัตติแล้ว จะมีการถอนชื่อภายหลัง

"หมัก" เตรียมถก หน.พรรคร่วม

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง วันที่ 25-26 เม.ย.นี้ หลังกลับจากประเทศมาเลเซีย ตนจะเชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มาหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรม หรือ ที่ภัตตาคาร ซึ่งได้ทาบทามทุกท่านไว้หมดแล้ว ตนจะไปกินข้าวกับหัวหน้าพรรคทั้ง 6 พรรค และจะฟังความเพื่อสรุปว่า จะเอากันอย่างไร ตนก็จะคุยในส่วนของพรรคตน ปัญหาเขาจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็เป็นเรื่องของเขา ที่เป็นคนพิจารณากัน ตนไม่ได้ร่วมประชุมกับเขา อย่างไรก็ตามทุกพรรคจะสรุปความเห็นของตนเองมาและนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ตนจะบอกความเห็นว่า ที่เขาเสนอมาล่าสุดมันน่าสนใจตรงที่ว่า

"ถ้าเราไม่ฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 ทิ้งเหมือนที่บางคนเคยทำกับรัฐธรรมนูญปี 40 เราไม่มีอำนาจอย่างนั้น แต่เรามีอำนาจที่จะแก้ไข โดยเอาปี 50 เป็นหลักและเก็บหมวด 1 หมวด 2 ไว้ แล้วเอาของปี 40 มาประกบ และดูว่าอะไรที่ไม่ดี ของปี 40 จะปลิดทิ้ง ที่ดีก็จะเอามาใส่ใหม่ มันก็จะง่ายขึ้น ก็เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้เท่านั้น เวลาจะคุยกับท่านทั้ง 6 ผมก็มีแนวจะคุยอย่างนี้"

เมื่อถามว่า ในมุมมองของรัฐบาลคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเข้าสู่พิจารณาของคณะกรรมาธิการ จะราบรื่นหรือไม่ หากเทียบกับการดำเนินไปแบบเดิมที่มีเสียงต่อต้าน นายสมัคร กล่าวว่า ใครจะต่อต้าน เวลาเขาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ มีใครมาต่อต้านไหม เวลานี้จะแก้ถูกต้องตามกฎหมาย จะต่อต้านทำไม ต้องดูเสียก่อนว่าจะแก้อย่างไร ถ้าเขาแก้ดีควรจะสนับสนุนมั้ย

เมื่อถามว่า เมื่อเข้าสู่สภาจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า หากจะมีการคัดค้าน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการพิจารณากฎหมายไม่ว่ากัน

เมื่อถามว่า ตามที่พูดในรายการสนทนาประสาสมัคร ว่า หากโดนยุบพรรค ก็ต้องยุบสภาตามมา นายสมัคร กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดถึงขนาดนั้น แต่ถ้ามีการยุบพรรคไป 3 พรรค ก็ไม่มีสภา เพราะโดนล่อไป 3 พรรค เป็นสิทธิอย่างนั้นหมายความว่า มีโอกาสเขาจะล่ออย่างนั้น เราก็ต้องจัดการ แต่ไม่ได้พูดว่าต้องยุบพรรคเพื่อล้างแค้น แค่บอกว่าเมื่อมีโอกาส ก็ควรจะแก้ซะ เพราะยุบพรรคก็ต้องหมดไปด้วย สภาก็ต้องยุบด้วย เมื่อถามว่า มั่นใจว่าสถานการณ์จะรอดตลอดรอดฝั่งหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

"เติ้ง" ค้านตั้ง ส.ส.ร.อ้างไม่ทันการณ์

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหาในบางเรื่อง เราควรแก้ไข ส่วนจะแก้ไขอย่างไรต้องมาดูอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปยกทั้งฉบับ ก็คงจะยากในการดำเนินงาน และคงจะมีการแปรญัตติมากมาย ศาสนาพุทธก็จะเข้ามาอีก มันก็ไม่ได้แก้ ปัญหาต่างๆก็จะอยู่คงเดิม ส่วนประเด็นที่พรรคพลังประชาชนเสนอแก้ไข สอดคล้องกับพรรคหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นว่ามีประเด็นใดบ้าง

เมื่อถามว่า มาตรา 309 ก็ไม่อยากให้แก้ใช่หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ที่เราเคยพูดกันอะไรที่ไปกระทบกับองค์กรอิสระที่มีอยู่เราจะไม่ แตะ อย่างคตส. เขามีอยู่แล้ว อย่าไปกระทบเขา เพราะเดือนมิ.ย.เขาก็จะหมดวาระแล้ว

ส่วนกรณีที่จะมีการเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. เหมือนสมัยที่ท่านปฎิรูปการเมือง นายบรรหาร กล่าวว่า ส.ส.ร.ตอนนั้นกว่าจะเสร็จเรียบร้อยต้องใช้เวลา 2 ปี กว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ 3-4 ปี มันไม่ทันต่อเหตุการณ์ บางมาตราที่มีปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ก่อน ไปรอคงไม่ได้ ควรแก้ไขข้อขัดข้องบางเรื่องบางราว ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางชมรม ส.ส.ร.50 ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไขเพราะ ในมาตรา 237 มาตรา 309 เป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม นายบรรหาร กล่าวว่า "ไม่ใช่ ผมเถียง เจอพรรคไหน พรรคนั้นก็แย่ ไม่ใช่ส่วนตัวเป็นส่วนรวม เราทำเพื่ออนาคต ถ้าพรรคโน้น พรรคนี้เจอจะว่าอย่างไร เราทำเพื่ออนาคต ไม่ทำเพื่อปัจจุบัน ไปเหมาโมเมไม่ได้"นายบรรหาร กล่าว

นายบรรหาร กล่าวด้วยว่า ในการพบกับนายกฯ จะคุยเรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆทั่วไปด้วย เพราะมีปัญหาในเรื่องการทำงานจะได้คุยกัน

เมื่อถามว่า การบริหารของนายกฯ มีอะไรที่อยากตั้งข้อสังเกตหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ใช้ได้ ในยามภาวะที่เหตุการณ์การเมืองเป็นอยู่ขณะนี้ มันก็ต้องได้บุคคลิกลักษณะแบบท่าน ถ้าคนอื่นก็คงจะรับเหตุการณ์ไม่ไหว ก็เหมาะสมในเหตุการณ์แบบนี้

"สุวิทย์" ยันแก้ รธน.ไม่ใช่เรื่องด่วน

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อแผ่นดิน ยังมีความเห็นที่แตกต่างกับพรรคพลังประชาชน ว่า วันนี้ความเห็นก็ยังแตกต่างค่อนข้างมาก ซึ่งหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่า ในหลักการระบอบประชาธิปไตย เรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญของประชาชน และในรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องของกลไกการสร้างความรับผิดชอบต่อประชาชน จะต้องมีกระบวนการคาน และดุลอำนาจในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องมีการดำเนินการ เรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการให้เกิดกลไกเหล่านี้ขึ้นมาในรัฐธรรมนูญที่จะเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ กับประชาชนและสร้างกลไกในการตรวจสอบ และดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่พรรคพลังประชาชน จะให้มีกรรมาธิการ ตามหลักของกฎหมาย ที่จะเข้ามาเป็นคนดำเนินการแก้ไข นายสุวิทย์ กล่าวว่า ตนคิดว่าในเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วม เป็นเรื่องสำคัญ และมีหลายรูปแบบ ตอนนี้คณะทำงานของพรรคกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ว่าจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างไรบ้าง

"วันนี้ผมเป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของประชาชนมากกว่าเพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัญหาสินค้าราคาเกษตร สถานการณ์ภัยแล้ง ราคาน้ำมัน ที่ยกระดับสูงขึ้น ปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจกำลังถดถอย เกิดผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน ตรงนี้น่าจะเป็นเรี่องแรกๆ ที่เราให้ความสำคัญ ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญผมคิดว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่สภาจะไปดำเนินการ ส่วนรัฐบาลก็ควรที่จะมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปาก เรื่องท้องของประชาชนมากกว่า"

เมื่อถามว่า จะมีปัญหาตามมาหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งขณะนี้หลายพรรคก็ยังเห็นต่างอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือจะก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความแตกแยกอย่างรุนแรง และไม่ต้องการให้ความเห็นต่างมาสร้างความแตกแยกในสังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อนหน้านี้ ก็ก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยก และเกิดความวุ่นวายตามมา เช่น กรณีพฤษภาฯ ก็มาจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากให้หันหน้ามาคุยกัน เพื่อให้ได้จุดร่วม และคิดถึงประชาชนเป็นสำคัญ

นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกปกติของรัฐสภา เมื่อถามย้ำว่า พรรคเพื่อแผ่นดิน มีจุดยืนที่ชัดเจนอย่างไร เพราะถ้าพูดไม่ชัดอาจจะถูกมองว่าพรรคเพื่อแผ่นดินกั๊กการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสุวิทย์ หัวเราะ ก่อนจะบอกว่า ไม่ได้กั้ก เป็นเรื่องปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น