xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.ย้ำจุดยืนแก้ รธน.หลังสางคดี รบ.“แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ชมรม ส.ส.ร.50 เรียกร้อง ส.ส.ชะลอการขอแก้ไข รธน.ออกไปก่อนจนกว่าจะสางคดีรัฐบาล “ทักษิณ” ตามกระบวนการยุติธรรมเสร็จ เตรียมเดินสายหาแนวร่วมต้านทั่วประเทศ “เจิมศักดิ์” ชี้ มีเจตนาซ่อนเร้น ไม่ว่าจะแก้บางมาตราหรือทั้งฉบับ เตือน หากดึงดันจะแก้ให้ได้ ประเทศเกิดวิกฤตแน่
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เสรี สุวรรณกานนท์ ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (22 เม.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม ส.ส.ร.50 พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ร. อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายมานิต สุขสมจิตร ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนต่อการที่รัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย นายเสรี กล่าวว่า ที่ประชุมชมรม ส.ส.ร.มีมติร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาลที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยอ้างว่า เป็นการขอแก้ไขเพื่อประเทศชาติ และประชาธิปไตย ซึ่งชมรม ส.ส.ร.50 ขอแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ที่เริ่มต้นจากการขอแก้ไขมาตรา 237 และมาตรา 309 และต่อมามีการเสนอเปลี่ยนแปลงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยขอนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ทั้งฉบับ

2.แม้ว่าจะเป็นการขอแก้ไขบางมาตรา หรือขอแก้ไขทั้งฉบับก็ตาม ก็ยังคงมีเจตนาสำคัญในการแก้ จะแก้มาตรา 237 และมาตรา 309 เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และการพิจารณาการยุบพรรคการเมืองบางพรรค และยังมีเจตนา ยกเลิกกระบวนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น คตส.,กกต. ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ

3.ชมรม ส.ส.ร.50 เห็นว่า การขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือจะขอแก้ทั้งฉบับดังกล่าวก็ตาม ก็ยังคงมีเจตนาซ่อนเร้น โดยมีเจตนาที่แท้จริง คือ ต้องการยกเลิก มาตรา 237 และ 309 อันเป็นการไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม และความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย และเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตน

4.การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สมควร แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการขอแก้ไขเพื่อตัวเองให้พ้นจากการตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรมที่กำลังถูกพิจารณาคดียุบพรรค และเพื่อการเปลี่ยนการบวนการสรรหา เพื่อแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งขณะนี้ได้มีบุคคลจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากบุคคล จากองค์กรต่างๆ นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไป ได้เริ่มก่อตัวเพื่อต่อต้านและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตนเองหรือแฝงไปด้วยประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักในครั้งนี้ อันจะนำไปสู่ความเห็นที่แตกแยกของประชาชนในประเทศ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้

นายเสรี กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อตนเอง และเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ชมรม ส.ส.ร.50 จึงขอเรียกร้องให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายที่กำลังจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หยุดหรือชะลอ การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนตนดังกล่าว ในช่วงเวลานี้ จนกว่าระยะเวลาจะได้ล่วงพ้นการพิจารณาคดีที่กำลังดำเนินการอยู่ในกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งองค์กร ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายเสรี กล่าวว่า คงต้องชัดเจนก่อนว่า รัฐธรรมนูญที่เพิ่งจะเริ่มใช้มีอุปสรรคปัญหาอะไร ต้องปล่อยให้ตกผลึกจากปัญหาก่อนจึงจะนำไปสู่การแก้ไข และไม่ควรให้สมาชิกรัฐสภาทำเอง

ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ส.ส.และ ส.ว.เพื่อมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้ขัดข้อง แต่ควรจะเป็นหลังผ่านพ้นกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว เมื่อถามว่านายกฯ ก็ยอมรับว่า ถ้าไม่มีเรื่องยุบพรรคก็ไม่แก้รัฐธรรมนูญ นายเสรี กล่าวว่า ก็เป็นการชัดเจนว่า ทำเพื่อตัวเอง แต่ที่ถูกคือควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไป ถ้ามัวกลัวแล้วมาแก้กฎหมายอย่างนี้ทำให้ระบบเสีย ต่อไปคนจะไม่มีความเชื่อถือในระบบอีก อยากถามว่าหลักของกฎหมายมาทำแบบนี้กันได้หรือ

ดังนั้น การที่พยายามเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญกลับคืนมาแก้ไขอีกครั้ง เป็นเพียงเจตนาซ่อนเร้น เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลต้องการแก้ไขเพียง 2 มาตรา คือ 237 และ 309 ส่วนการอ้างเรื่ององค์กรอิสระ กกต.และ ป.ป.ช.ว่ามีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นการพูดที่มีเหตุผลขัดกัน พอรัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดให้องค์กรอิสระมีวาระอยู่ได้นานเช่นกัน จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาอ้าง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการยุบพรรค หากกรรมการบริหารพรรคร่วมกันกระทำผิด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการทุจริตการโกงซื้อเสียงเลือกตั้ง ทำให้การเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลกลับเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา อ้างว่ากฎหมายนี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล แต่ทำไมไม่ดูปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ทางชมรม ส.ส.ร.50 จะไปร่วมคัดค้านกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน เพราะทางชมรมมีจุดยืนในการทำความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยการคัดค้าน และถอดถอนเป็นเรื่องขององค์กรอื่นที่จะดำเนินการ ขณะนี้สมาชิกชมรมได้มีการพูดกันจะออกไปเดินสายทำความเข้าใจตามภาคต่างๆ นอกจากนี้จะจัดสัมมนาในระดับจังหวัดด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงการคัดค้านก็เป็นสิทธิของรัฐบาล เราเพียงตักเตือน และเตือนสติ ให้ข้อมูล แต่หากเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

นายมานิต สุขสมจิตร อดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดชักจูงให้เห็นดีเห็นงามไปกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่อยากให้ดูรายละเอียดว่าฉบับปี 50 เป็นการนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะให้รัฐธรรมนูญใช้ได้ผลจริง ต้องมีการออกกฎหมายลูกนับ 100 ฉบับ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นทำกันเท่าไร ส่วนประเด็นเรื่องยุบพรรค ที่บอกว่าไม่มีที่ไหนในโลก ทำกัน ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศตุรกี กำลังพิจารณาสั่งยุบพรรคของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำทุจริตเลือกตั้ง แต่เป็นกรณีที่ประธานาธิบดี เอาศาสนามายุ่งกับการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคดังกล่าวก็เคยโดนยุบมา 2 ครั้งแล้ว ซึ่งเหมือนกับพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศไทย

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยอ้างประเทศชาติ และประชาธิปไตยบังหน้า และเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรมทั้งๆ ที่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย และเป็นการตัดตอนการเอาผิด การทุจริตและไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ มาตรา 301 และที่อ้างว่าจะแก้ไขโดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลักลึก ๆ แล้วต้องการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรองค์กรอิสระทั้งหมด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะให้เพิ่มมาอีก 6 คนเป็น 15 คนอยากให้มองให้ดี เพราะถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่ใช่การสรรหาเพิ่มมา 6 คน แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด และผู้ที่จะได้เข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเร็วๆนี้ ก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 มีช่องโหว่มาก ทำให้พรรคใหญ่สามารถแทรกแซงได้ โดยจะเขียนในบทเฉพาะกาล ในรัฐธรรมนูญใหม่ โดยลดอายุของ กกต. ป.ป.ช.รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยุบพรรค ทำให้ควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้านจะตรวจสอบยากขึ้น ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจเผด็จการเหมือนกับสมัยฮิตเลอร์ นอกจากนี้ยังจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบางรายในเรื่องของการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่นายกฯพูดว่าถ้าไม่มีการยุบพรรค ก็จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ เป็นการพูดที่น่าเกลียด และน่ารังเกียจ ซึ่งมองได้ 2 มุม คือ เป็นการขู่ว่าจะยุบสภา และเป็นการต่อรองเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่จะต่อรองกันได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับเฉพาะพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง 4 เดือน ซึ่งตนไม่อยากจะให้คำว่า คนที่พูดเช่นนี้ดัดจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น