xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มิ.ย.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ตำรวจกลัวผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนพลไปยังทำเนียบรัฐบาล รีบนำรถตำรวจมากั้นปิดถนน(6 มิ.ย.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ


1. “พันธมิตรฯ”แบ่งสายยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย”จี้ทุกหน่วยเร่งคดีทักษิณ-แฉ “คนใน รบ.”จ้างฆ่า“สนธิ”!

ความคืบหน้าการชุมนุมใหญ่แบบปักหลักยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่ยกระดับจากการชุมนุม “ต่อต้านการล้มล้าง รธน.2550” มาเป็นการ “โค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลหุ่นเชิด”เนื่องจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนยังคงเดินเกมล่าชื่อ ส.ส.1 ใน 5 เพื่อยื่นญัตติแก้ไข รธน.ต่อประธานรัฐสภาเป็นรอบที่สอง หลังจากญัตติรอบแรกตกไปเนื่องจาก ส.ส.-ส.ว.หลายคนแห่ถอนชื่อ จนรายชื่อเหลือน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ขณะที่พฤติกรรมหลายอย่างของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ก็สะท้อนถึงการเป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพยายามช่วยเหลือตัดตอนคดีเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาล ทั้งยังปล่อยให้คนที่มีมลทินคนทำผิดกฎหมายเข้ามาบริหารบ้านเมืองทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ปล่อยให้คนที่มีทัศนคติอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาบริหารบ้านเมือง นอกจากนี้ยังสมคบกับผู้นำระบอบทักษิณในการเปิดทางให้นายทุนต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรของชาติ เช่น การเปิดให้ประเทศตะวันออกกลางเข้ามาทำนาทั้งที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทย ฯลฯ ขณะที่ทางด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ได้ส่งสัญญาณสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการประกาศแตกหักโดยจะให้ตำรวจ-ทหารเข้าจัดการ(31 พ.ค.)นั้น ปรากฏว่า หลังถูกกระแสต้านการสลายการชุมนุม รวมทั้งการที่ 4 พรรคร่วมรัฐบาล(ชาติไทย-เพื่อแผ่นดิน-ประชาราช-มัชฌิมาธิปไตย)นัดหารือหลังไม่พอใจที่นายสมัครตัดสินใจอะไรโดยไม่ปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีการคาดการณ์ว่า 4 พรรคร่วมรัฐบาลอาจตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลนั้น ปรากฏว่า วันต่อมา(1 มิ.ย.) นายสมัครได้ออกมาแก้ตัวผ่านรายการ“สนทนาประสาสมัคร”โดยอ้างว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะสลายม็อบพันธมิตรฯ ไม่ได้คิดจะตบตี เข่นฆ่า หรือจับแกนนำ เพียงแต่จะให้ตำรวจไปเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติ ขณะที่นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชนและวิปรัฐบาล ก็ออกมาป้องนายสมัครแบบไม่ไว้หน้า 4 พรรคร่วมรัฐบาล โดยบอก หาก 4 พรรคร่วมฯไม่พอใจการกระทำของนายสมัคร ก็น่าจะแถลงถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลไปเลย เพราะถือเป็นการขาดความรับผิดชอบในการอยู่ร่วมรัฐบาล ด้านนายประมวล รุจนเสรี หัวหน้าพรรคประชามติ เสนอทางออกให้ 5 พรรคร่วมรัฐบาลผ่าทางตันแก้วิกฤตของบ้านเมืองด้วยการย้ายมารวมกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นรัฐบาล โดยบอก แม้จะเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ แต่ถ้าดูแลดีดี ก็ไปได้ โดยไม่ต้องพูดถึงการแก้ รธน.ในช่วงเวลาที่เหลือ ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ อาจปะทุไปสู่ความรุนแรง การจะออกจากความขัดแย้ง พรรคพลังประชาชนต้องปรับตัวคน อย่าก้าวร้าวหรือท้าทาย และอย่าสลายการชุมนุม เพราะการเดินขบวนชุมนุมอย่างสันติวิธี สามารถทำได้ตาม รธน. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยไม่ควรเผชิญหน้า และรัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้คนเข้าไปก่อกวน นพ.ประเวศ แนะด้วยว่า หากสถานการณ์ถึงจุดวิกฤตสุดสุด ต้องมี “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อออกจากโหมตการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างไม่ตอบรับแนวคิดของ นพ.ประเวศ โดยมองว่า สถานการณ์ยังไม่วิกฤตถึงขั้นนั้น ด้านแกนนำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)และตัวแทนสหภาพแรงงานต่างๆ ได้ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาล(1 มิ.ย.)ว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ สหภาพแรงงานทั้ง 43 แห่งจะตอบโต้ด้วยการนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้สมาชิกและพนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ขณะที่เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง นำโดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงเปิดตัวเครือข่ายพร้อมรณรงค์ให้ประชาชนที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ร่วมกันแสดงพลังโดยใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 13 (คืนวันที่ 1 มิ.ย.) ประณามนายสมัครที่ใช้วาจาส่อเจตนาที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบ และว่า พฤติกรรมของนายสมัครถือว่าหมดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกฯ แล้ว พร้อมเรียกร้องให้นายสมัครรับผิดชอบด้วยการลาออก นอกจากนี้แกนนำพันธมิตรฯ ยังประณามนายสมัครที่อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการอ้างว่า ผู้ชุมนุมไม่จงรักภักดีกีดขวางเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งที่พันธมิตรฯ ได้ประกาศแล้วว่า หากพันธมิตรฯ ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ผ่าน ผู้ชุมนุมพร้อมเปิดเส้นทางและแปรการชุมนุมเป็นการเฝ้ารับเสด็จด้วยความจงรักภักดีสูงสุด ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทย นอกจากจะพยายามยุยงให้ประชาชนเกลียดชังพันธมิตรแล้ว ยังอ้างว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า พร้อมสั่งให้ปลัดและนายอำเภอทั่วประเทศบอกประชาชนอย่ามาร่วมชุมนุม แถมยังพยายามพูดชี้นำให้เกิดความรุนแรง เช่น บอกว่าอาจมีมือที่สามโยนระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ฯลฯ ขณะที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ (2 มิ.ย.)ว่า แม้หลายคนจะบอกว่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ตนอยากจะบอกว่า ความเดือดร้อนของชาติบ้านเมืองสำคัญกว่าความเดือดร้อนของชีวิตประจำวัน สำหรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีการปรับเวทีให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น เพื่อความสะดวกต่อผู้ขึ้นปราศรัยตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. พร้อมปรับรูปแบบการปราศรัยโดยเน้นเนื้อหาสาระเชิงวิชาการมากขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ชุมนุม โดยมุ่งเปิดโปงระบอบทักษิณและตีแผ่วาระซ่อนเร้นของรัฐบาลหุ่นเชิด ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้บอกว่าพันธมิตรฯ ควรถอยสักก้าวว่า ควรเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นฝ่ายถอยมากกว่า เพราะเรื่องยื่นญัตติแก้ไข รธน.ก็ยังไม่ชัดเจนไม่มีใครตอบได้ว่าจะไม่มีการยื่นแก้ไข รธน.แล้ว นายสุริยะใส ยังชี้ด้วยว่า หากรัฐบาลประกาศให้ชัดว่าจะไม่แตะต้อง รธน.จนกว่าทุกคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณจะจบ พันธมิตรฯ ก็พร้อมจะประชุมเพื่อทบทวนการเคลื่อนไหวว่าจะถอยหรือไม่ ส่วนท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น มีความพยายามหาเหตุที่จะเล่นงานพันธมิตรฯ โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงโดยอ้างว่า การที่พันธมิตรฯ ปรับเวทีปราศรัยให้มีความถาวรและเพิ่มประสิทธิภาพเสียงสัญญาณ ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และถือว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้แปรสภาพเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบตาม รธน.อีกต่อไป พร้อมเตือนให้พันธมิตรฯ ทบทวนการชุมนุม หาไม่แล้ว หากมีผู้ร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็พร้อมจะดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.จราจรและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนี้ตำรวจยังพยายามทำให้เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรสร้างปัญหาต่อการจราจร โดยตำรวจได้พานักข่าวขึ้น ฮ.เมื่อเช้าวันที่ 5 มิ.ย.(7.00น.)เพื่อดูสภาพการจราจรที่ติดขัดตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะไม่มีการชุมนุม การจราจรก็ติดขัดเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในช่วงเช้าและเย็น อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ ได้พยายามผ่อนคลายด้วยการเปิดทางให้รถเมล์วิ่งผ่านหลังเวทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของโรงเรียนในย่านที่ชุมนุม แต่ก็เปิดทางได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ไม่หวังดีพยายามแฝงตัวเข้ามาก่อกวนพันธมิตรเช่นกัน ทางตำรวจจึงแก้ปัญหาด้วยการนำรถตำรวจรับ-ส่งนักเรียนผ่านจุดชุมนุมในช่วงเช้า-เย็น ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ปรับแผนการชุมนุมด้วยการนำยุทธการ“ดาวกระจาย”มาใช้ โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเคลื่อนขบวนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวันแรก(5 มิ.ย.)ประเดิมด้วยการเดินทางไปสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณหลายคดีที่ คตส.ส่งให้อัยการสั่งฟ้อง จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงมหาดไทย ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เคยท้าว่า ถ้าอยากมาก็มา พร้อมกันนี้พันธมิตรฯ ได้นำเป็ดไปเย้ย ร.ต.อ.เฉลิมด้วยว่า โดยชี้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมรู้ทุกอย่างเก่งทุกอย่าง แต่ทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง เหมือนกับเป็ดที่ทำอะไรไม่ได้ดี วิ่งเป็นแต่ไม่เร็ว บินเร็วแต่ไม่นาน ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม ไม่กล้าออกมาหากลุ่มพันธมิตรฯ ได้แต่แอบยืนมองทางหน้าต่างห้องทำงานภายในกระทรวงฯ วันต่อมา(6 มิ.ย.) พันธมิตรฯ กลุ่มย่อยได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์( ก.ล.ต.)เพื่อถามความคืบหน้าคดี พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสทฯ จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและเร่งรัดคดีสำคัญที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย 1 ในแนวร่วมพันธมิตรฯ ได้ร่วมกับกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อสอบถามเรื่องคดีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบทับที่สาธารณะบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทาง ป.ป.ช.บอกว่า กำลังเร่งดำเนินการ และจะแถลงเรื่องนี้ได้ใน 1-2 วันนี้ ขณะที่นายไชยวัฒน์และกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งประกาศจะปักหลักบริเวณดังกล่าวเพื่อตีแผ่ปัญหาปากท้องของประชาชนให้สังคมได้ทราบ สำหรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้พยายามเข้าไปก่อกวนสร้างความปั่นป่วนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นม็อบมอเตอร์ไซค์นับร้อยคันที่มาจากม็อบที่สนับสนุนรัฐบาลที่สนามหลวง ได้ขับขี่วนไปก่อกวนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในบางคืน ขณะที่ตำรวจทำแค่ผลักดันให้ม็อบมอเตอร์ไซค์ดังกล่าวกลับที่ตั้งที่สนามหลวงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่สำนักงานผู้จัดการหลายครั้งแล้ว เช่น มีมือมืดยิงลูกแก้วใส่กระจกป้อมยามของสำนักงานผู้จัดการเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามด้วยการวางระเบิดปลอมใกล้สำนักงานผู้จัดการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุด มีการโปรยตะปูเรือใบใต้รถนายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ หลังขึ้นเวทีปราศรัยที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านนายไทกร พลสุวรรณ แกนนำอีสานกู้ชาติ ได้ออกมาแฉ(6 มิ.ย.)ว่า ทราบข่าวจากซุ้มมือปืนสตึก จ.บุรีรัมย์ว่า คนมีอำนาจอันดับ 2 ในรัฐบาลจ้างมือปืนซึ่งเป็นตำรวจให้มายิงนายสนธิ โดยค่าจ้างสูงถึง 7 หลัก และมัดจำไปแล้วครึ่งหนึ่ง



พันธมิตรฯ แถลงประณาม “หมัก” ขู่สลายชุมนุม-จี้ลาออก
ข้อเสนอประเวศเป็นหมัน 2 ขั้วเมิน"รัฐบาลแห่งชาติ"
“พิเชฐ” เย้ย “เหลิม” แค่คิดก็ผิดแล้ว “พัลลภ-มนูญกฤต” เมินช่วยเคลียร์พันธมิตร
“จำลอง” เย้ยกลับ “เหลิม” ส่ง “มนูญกฤต-พัลลภ” กล่อม ไม่มีทางสำเร็จ
“หมัก” แห้ว!..สมช.ปัดนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงปราบพันธมิตรฯ
“บุญสร้าง” ยันจะไม่ใช้กำลังกับ ปชช.-แนะสงบศึกด้วยสันติวิธี

ดีเดย์แผนดาวกระจาย 10.00 น.วันนี้ “หมัก-เหลิม” ลุ้นระทึก!

 
คำนูณ สิทธิสมาน 1 ใน ส.ว.ที่เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ
2. “พปช.”ส่อตีสองหน้าเรื่องแก้ รธน. ด้าน “ส.ว.”เตรียมยื่นญัตติอภิปราย รบ. 9 มิ.ย.นี้!

ส.ส.พรรคพลังประชาชนยังคงเสียงแตกว่า ควรยื่นญัตติแก้ไข รธน.รอบสองหรือไม่ หลังจากญัตติรอบแรกตกไปเพราะ ส.ส.-ส.ว.แห่ถอนชื่อ โดยหลังจากสัปดาห์ก่อน ส.ส.อีสานใต้พรรคพลังประชาชน หรือ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน(เนวิน ชิดชอบ อดีต กก.บห.ทรท.) เช่น นายศุภชัย โพธิสุ ส.ส.นครพนม และรองโฆษกพรรคฯ และนายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด แถลงว่า พรรคฯ มีมติให้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.ของพรรคฯ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภาเพื่อยื่นญัตติแก้ รธน.รอบสอง ปรากฏว่า ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนาของพรรคพลังประชาชน เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน ,นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ ได้ออกมาอ้างว่า การยื่นญัตติแก้ไข รธน.รอบสอง ยังไม่ใช่มติของพรรค และว่า กลุ่มอีสานพัฒนาเห็นว่า ยังไม่ควรยื่นญัตติแก้ รธน.ครั้งที่ 2 ควรรอให้มีการทำประชามติก่อนว่าประชาชนต้องการอย่างไร ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้นัดผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ประชุม(2 มิ.ย.)โดยอ้างว่า เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเสนอแก้ไข รธน. ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาการบังคับใช้ รธน.2550 และเห็นควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติระหว่างเปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ ประชามติเป็นไปตามกรอบเวลาที่ รธน.กำหนดว่าต้องพิจารณาให้เสร็จใน 1 ปีหลัง รธน.บังคับใช้ ไม่เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลเสนอให้ทำประชามติว่าจะแก้ รธน.หรือไม่แต่อย่างใด ด้านนายวิทยา บูรณศิริ รองประธานวิปรัฐบาล บอก การตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาการบังคับใช้ รธน.น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนยืนกรานเดินหน้ายื่นญัตติแก้ไข รธน.จะทำอย่างไร นายวิทยา บอกว่า ไม่สามารถยับยั้ง ส.ส.ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ที่ประชุมวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านที่มีนายชัยและนายอภิสิทธิ์ร่วมประชุมด้วยจะมีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ รธน.2550 ว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลวันต่อมา(5 มิ.ย.)กลับมีมติเห็นชอบให้พรรคร่วมรัฐบาลไปร่างญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาประเด็นการแก้ไข รธน.2550 จึงค่อนข้างสับสนอยู่ว่า ตกลงจะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการบังคับใช้ รธน.หรือศึกษาประเด็นการแก้ไข รธน.กันแน่ อย่างไรก็ตามทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ชิงยื่นญัตติต่อนายชัยขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตาม รธน.2550 แล้ว(5 มิ.ย.) พร้อมหวังว่า เมื่อมีการเสนอญัตติเช่นนี้แล้ว ทาง ส.ส.พรรคพลังประชาชนน่าจะเลิกจุดไฟด้วยการยุติการเสนอแก้ไข รธน.เพิ่มเติมเข้ามา ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา อ้าง(6 มิ.ย.)ว่า ยังไม่เห็นญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีข่าวว่ายื่นมาแล้วแต่อย่างใด ทั้งนี้ นอกจากยังไม่แน่ว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะเดินหน้ายื่นญัตติแก้ไข รธน.เป็นรอบที่สองหรือไม่ ยังมีความเคลื่อนไหวให้แก้ รธน.ของกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณอย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไข รธน.(คปพร.)ของ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปก. ที่ได้ออกมาประกาศ(1 มิ.ย.)ว่า จะเดินหน้าล่าชื่อประชาชนให้ครบ 2 แสนชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาให้มีการแก้ไข รธน.ต่อไป นอกจากนี้ คปพร.ยังมีการตั้ง “สภาประชาชน”ขึ้นในจังหวัดต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีแก้ไข รธน.และต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย ขณะที่ ส.ว.สรรหาและ ส.ว.เลือกตั้งประมาณ 50 คน(เช่น รสนา โตสิตระกูล ,ประสาร มฤคพิทักษ์ ,คำนูณ สิทธิสมาน ฯลฯ) มองผลงานรัฐบาลว่าสอบไม่ผ่าน จึงได้ประชุมและมีมติ(6 มิ.ย.)ที่จะเข้าชื่อ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด(150 คน) เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ซึ่งเป็นไปตาม รธน.มาตรา 161 โดยจะยื่นญัตติต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ โดยให้เหตุผลที่ต้องยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลว่า เพราะขณะนี้บ้านเมืองเดือดร้อนทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง การขอเปิดอภิปรายนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงการทำงานแล้ว ส.ว.ยังจะได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลด้วย โดยหวังว่าจะทำให้รัฐบาลได้สติแล้วคิดแก้ไข

“คำนูณ” นำทีมล่ารายชื่อ 1 ใน 3 ขอเปิดอภิปรายรัฐบาล โดยไม่ลงมติ
ปชป.แหยง “หุ่นเชิด” ตีสองหน้า เตือนอย่าเบี้ยวยื่นญัตติแก้ รธน.ซ้ำ
“สมชาย” ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ไฟเขียว “เด็กยี้ห้อย” ยื่นแก้ รธน.ซ้ำ

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กลับมาผงาดอีกครั้งในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3. “รัฐตำรวจยุคทักษิณ”คืนชีพ ปฏิบัติการไล่เช็คบิล “ดีเอสไอ-คตส.”แล้ว!

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ได้มีประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2551 นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร) พ้นตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำด้านความมั่นคง สำนักเลขาธิการนายกฯ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ขณะที่ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ (นรต.26 เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ) พ้นตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำด้านความมั่นคง สำนักเลขาธิการนายกฯ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. ทั้งนี้ นอกจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะกลับมาผงาดอีกครั้งในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.แล้ว ยังได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.พัชรวาทให้เป็นรอง ผบ.ตร.อันดับ 1 ที่ดูแลงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้วย ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กลับมาได้ดิบได้ดีอีกครั้ง นอกจาก พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ แล้ว ยังมีอีกหลายนาย เช่น พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ที่ได้ย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการศึกษา(ผบช.ศ.) มาเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ,พล.ต.ท.วุฒิ วิทิตานนท์ จเรตำรวจ(สบ 8)ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ,พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาผงาดในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ฯลฯ ขณะที่หลานเขย พ.ต.ท.ทักษิณอย่าง พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ได้ย้ายจากผู้บังคับการกองตำรวจสื่อสาร มาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ส่วนตำรวจที่เคยช่วยงาน กกต.ก็ถูกเช็คบิลเด้งเข้ากรุ เช่น พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล เจ้าของผลงานคดีใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกย้ายจากรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เข้ากรุเป็นรองผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ การที่นายตำรวจที่เป็นญาติและเพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับมาคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นการฟื้นรัฐตำรวจยุคทักษิณให้กลับคืนมาอีกครั้ง แต่ตำรวจยุครัฐบาลนอมินีขณะนี้ได้เริ่มปฏิบัติการราวกับต้องการเช็คบิลองค์กรที่ตรวจสอบการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย เช่น กรณีตำรวจ สภ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีดีเอสไอ(ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ)ในคดีที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แจ้งความว่าหมิ่นประมาท(แจ้งความว่า การที่นายสุนัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ดีเอสไอมีหลักฐานเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณได้ในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสทฯ เป็นการพูดชี้นำและทำให้ตนเสียหาย) ทั้งนี้ นายสุนัยได้เข้าร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช.ว่าการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่ง ป.ป.ช.ได้รับเรื่องและตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ด้าน พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.วังน้อย บอก(4 มิ.ย.)ว่า คนสนิทของนายสุนัยได้โทรศัพท์แจ้งว่านายสุนัยพร้อมจะเข้ามอบตัวกับตำรวจแน่นอน แต่ขอดูงานราชการก่อน ขณะที่นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม บอก การออกหมายจับลักษณะนี้ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ผ่านมานายสุนัยต้องไปต่างประเทศบ่อยครั้ง อาจไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และว่า โดยทั่วไป ถ้าตำรวจจะเชิญตัวไปดำเนินคดี ก็ควรประสานต้นสังกัดก่อน ด้าน พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ชี้ การที่ตำรวจขอออกหมายจับนายสุนัย เป็นเรื่องทุเรศ เพราะการออกหมายจับส่วนใหญ่จะออกกับบุคคลที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้น คาดว่าการออกหมายจับครั้งนี้ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือและสร้างความเสียหายอับอายให้นายสุนัยมากกว่า ทั้งนี้ ไม่เพียงนายสุนัย อดีตอธิบดีดีเอสไอจะถูกเช็คบิลด้วยการถูกออกหมายจับในคดีหมิ่น พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ คตส.ทั้ง 11 คนที่ตรวจสอบคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณหลายคดี ก็ถูกเช็คบิลเช่นกัน โดยถูกตำรวจกองปราบปรามออกหมายเรียก(4 มิ.ย.)ให้มาพบในวันที่ 10 มิ.ย.นี้(เวลา 10.00น.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นสำนักงานกฎหมายนิติเอกราชที่ว่าความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหลายฝ่าย แม้แต่ คตส.เองก็ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดคดีที่ คตส.แจ้งความตำรวจให้ดำเนินคดีสำนักงานกฎหมายนิติเอกราชว่าดูหมิ่น คตส.ในฐานะเจ้าพนักงาน โดยมีจดหมายเชิงข่มขู่ดูหมิ่น คตส.กรณีอายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ คดีกลับไม่คืบหน้า แต่เมื่อสำนักงานกฎหมายดังกล่าวแจ้งความกลับ คตส.ว่าดูหมิ่นและแจ้งความเท็จ คดีกลับเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง 1 ในกรรมการ คตส.เผย(5 มิ.ย.)ว่า คตส.ทุกคนไม่หวั่นไหวต่อการถูกออกหมายเรียก พร้อมยืนยัน จะไม่ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เพราะ คตส.ถือว่า หนังสือที่ คตส.ทำถึงผู้บังคับการกองปราบปรามเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจาแล้ว นายอุดม ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พฤติกรรมการของฝ่ายตำรวจขณะนี้พอจะทำให้มองเห็นว่าฝ่ายบริหารต้องการทำอะไร แต่ คตส.ไม่หวั่นไหวและจะทำงานจนถึงวันสุดท้ายในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่ได้รับแต่งตั้งให้ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ด้านพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความห่วงกังวลกรณีตำรวจออกหมายจับอดีตอธิบดีดีเอสไอและออกหมายเรียก คตส. พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐตำรวจกำลังหวนคืนกลับมาอีกครั้ง คือการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยผ่านดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการจุดชนวนขึ้นในสังคม ส่วนท่าทีของฝ่ายทหารต่อการที่ คตส.ถูกเช็คบิลนั้น ปรากฏว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.บอก(5 มิ.ย.)ว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่ คตส.ทำหนังสือถึงอดีต คมช.เพื่อให้คุ้มครองสถานภาพ คตส.และว่า ส่วนตัวแล้วเข้าใจว่า คมช.น่าจะหมดบทบาทแล้ว ขณะที่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.บอกว่า แม้ คมช.จะหมดสิ้นไปแล้ว แต่ลึกๆ เป็นห่วง คตส.เพราะ คตส.ได้เสียสละเวลาและเป็นผู้กล้าที่จะทำงานในสิ่งที่ถูกต้อง พล.อ.อ.ชลิต ย้ำด้วยว่า ในฐานะที่ตนมีส่วนเชิญบุคคลเหล่านี้มาเป็น คตส. ก็พร้อมจะช่วยเหลือทุกอย่างที่ช่วยได้ ส่วนแนวทางที่จะดูแล คตส.นั้น ยังไม่ขอบอก วันต่อมา(6 มิ.ย.) คตส.ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า หากตำรวจมีการออกหมายจับ คตส. คตส.อาจไม่ขอยื่นประกันตัว ทั้งนี้ ไม่เพียง คตส.จะถูกเช็คบิล แม้แต่ข้าราชการที่ช่วยงาน คตส.ก็เริ่มถูกเช็คบิลบ้างแล้ว โดยนายอุดม เฟื่องฟุ้ง 1 ใน คตส.ออกมาแฉ(6 มิ.ย.)ว่า น.ส.กัญญานุช สอทิพย์ อธิบดีกรมบังคับคดี ซึ่ง คตส.ดึงมาช่วยงานขณะเป็นรองอธิบดีกรมบังคับคดี โดยให้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีซื้อที่รัชดาฯ ของคุณหญิงพจมาน ปรากฏว่า ล่าสุด น.ส.กัญญานุชถูกย้ายเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายอุดม ยังชี้ด้วยว่า “หากอธิบดีกรมบังคับคดีถูกย้ายเพราะมาช่วยงาน คตส.จริง ตนอยากเรียกคนคนนั้นว่า ไม่เป็นสุภาพบุรุษเลย แค่เป็นกะเทยที่ดียังเป็นไม่ได้”

“เพรียวพันธ์-ชลอ” คืนถิ่น-109 นายพล ได้รับโปรดเกล้าฯ
ส่ง “เพรียวพันธ์” ฝึกงาน ผบ.ตร. คุมงานสำคัญ-กำลังหลักตำรวจ
คตส.เด็ดเดี่ยวเดินหน้าชนทุจริต “แม้ว” อดีต คมช.โดดอุ้มผู้กล้า
“อนุพงษ์” แทงกั๊กช่วย คตส. - บอกขอให้มีเรื่องมาก่อน
ตร.ขออนุมัติหมายจับ"สุนัย"อดีตอธิบดีDSI"คดีหมิ่น"ทักษิณ"อ้างขัดหมายเรียก

“สุนัย” ขอตั้งหลักรวมหลักฐานสู้ หมิ่น “แม้ว” แจงทุกกรณีหลังมอบตัว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดน คตส.เชือดอีก 1 คดี คดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้แก่บริษัทในเครือกฤษฎามหานครโดยไม่ชอบ
4. “คตส.”มีมติฟัน “ทักษิณ-ลูก”คดีปล่อยกู้กรุงไทย ด้าน“สุริยะ”ถูกเชือดเช่นกันคดีท่อร้อยสายฯ !

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ได้มีมติเห็นชอบผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คดี คือ 1.คดีท่อร้อยสายไฟฟ้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 2.คดีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่บริษัทในเครือกฤษฎามหานคร นายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก คตส.แถลงว่า ในส่วนของคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยนั้น พบข้อเท็จจริงว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้ให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทในเครือกฤษฎามหานคร ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร โดยอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล 500 ล้านบาท ,ให้สินเชื่อแก่บริษัท โกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค วงเงิน 9,900 ล้านบาท และขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพบริษัท กฤษฎามหานคร ให้แก่บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ คอมมูนิเคชั่น จำนวนเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัท กฤษฎามหานคร เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก ที่ประชุม คตส.เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีการอนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐและมีการกระทำความผิดตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอ จึงมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทย 2.กลุ่มบริษัทในเครือกฤษฎามหานคร 3.กลุ่มนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 31 ราย ทั้งนี้ ในส่วนของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหา ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนในการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย ผู้ถือหุ้นและประชาชนผู้หนึ่งผู้ใด.... โดยผู้ถูกกล่าวหานอกจากจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตราแล้ว ยังมีความผิดตามกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ,พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ,พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว คตส.ยังเห็นควรให้ดำเนินคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร ,นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน,นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย ฐานรับของโจร เพราะแม้บุคคลดังกล่าวจะไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่ได้รับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานยักยอก จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ส่วนคุณหญิงพจมานนั้น คตส.มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากเห็นว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าคุณหญิงพจมานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สำหรับผลการไต่สวนคดีท่อร้อยสายไฟฟ้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น คตส.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ,ผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่(บทม.) ,ผู้เกี่ยวข้องในคณะกรรมการตรวจการจ้างออกแบบท่อร้อยสายไฟฟ้าและคณะกรรมการกำหนดราคากลาง รวมถึงบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมในขณะนั้น เนื่องจากนายสุริยะได้รับหนังสือจาก สตง. แต่ก็มิได้ดำเนินการสั่งการใดใด จนล่วงเลยวันเปิดซองและวันพิจารณาการประกวดราคา ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย การกระทำของนายสุริยะจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้ คตส.เผยว่า หลังจากมีมติให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องในคดีท่อร้อยสายไฟฟ้าฯ และคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยแล้ว คตส.มีเวลา 14 วันที่จะส่งเรื่องนี้ให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.

มติ คตส.ฟัน “สุริยะ-ศรีสุข” โกงท่อร้อยสาย-เงินกู้กรุงไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น